backup og meta

ไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide)

ข้อบ่งใช้

ยา ไซโคลฟอสฟาไมด์ ใช้สำหรับ

ยา ไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide) ใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งหลายประเภท โดยยา ไซโคลฟอสฟาไมด์ เป็นยาเคมีบำบัด ซึ่งออกฤทธิ์โดยการชะลอ หรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

นอกจากนี้ ยาไซโคลฟอสฟาไมด์ยังออกฤทธิ์โดยการลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ ยานี้ยังใช้เพื่อรักษาโรคไตบางชนิดในเด็กหากการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล

การใช้อื่นๆ : เนื้อหาส่วนนี้กล่าวถึงการใช้ยานี้ที่ไม่ได้อธิบายไว้ในฉลากยา แต่อาจมีการสั่งยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ใช้ยานี้สำหรับอาการที่ระบุไว้ในเนื้อหาส่วนนี้เท่านั้น หากมีการสั่งยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

  • ยาไซโคลฟอสฟาไมด์อาจใช้สำหรับรักษาอาการต่างๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune Disease) และโรคข้อรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) และเพื่อป้องกันการต่อต้านการปลูกถ่ายอวัยวะ

วิธีใช้ยาไซโคลฟอสฟาไมด์

ให้ใช้ยาไซโคลฟอสฟาไมด์โดยการรับประทานตามที่แพทย์สั่ง ขนาดยาขึ้นอยู่กับอาการ น้ำหนัก การตอบสนองต่อการรักษา และการรักษาวิธีอื่น (เช่น ยาเคมีบำบัดอื่นๆ การฉายแสง) ที่คุณอาจใช้อยู่ ให้มั่นใจว่าแจ้งแพทย์หรือเภสัชกร เกี่ยวกับยาที่ใช้ทั้งหมดที่ใช้ (ได้แก่ ยาที่แพทย์สั่ง ยาที่แพทย์ไม่ได้สั่ง และยาสมุนไพร)

ในระหว่างการรักษาด้วยยาไซโคลฟอสฟาไมด์ คุณต้องดื่มน้ำมากกว่าปกติ และปัสสาวะบ่อย เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงเกี่ยวกับไตและกระเพาะปัสสาวะ ให้ปรึกษาแพทย์ว่าควรดื่มน้ำปริมาณเท่าไร และความถี่ในการปัสสาวะในแต่ละวัน และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้อย่างระมัดระวัง

หากคุณใช้ยาแคปซูล ให้กลืนทั้งหมด ห้ามเปิด เคี้ยว หรือแบ่งแคปซูล หากคุณสัมผัสกับแคปซูลที่แตกโดยบังเอิญ ให้ล้างมือให้สะอาดทันที

เนื่องจากยานี้สามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังและปอดและอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรืออาจตั้งครรภ์ ไม่ควรสัมผัสยาไซโคลฟอสฟาไมด์ หรือสูดดมละอองจากยาเม็ดหรือแคปซูล

ห้ามเพิ่มขนาดยาหรือใช้ยาไซโคลฟอสฟาไมด์บ่อยครั้ง โดยไม่ได้รับการยินยอมจากแพทย์ อาการจะไม่ดีขึ้นเร็วขึ้นและความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่รุนแรงอาจเพิ่มขึ้นด้วย

การเก็บรักษายาไซโคลฟอสฟาไมด์

การเก็บรักษายาไซโคลฟอสฟาไมด์ที่ดีที่สุด ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงโดยตรงและความชื้น เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของยา ไม่ควรเก็บยาไซโคลฟอสฟาไมด์ไว้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาไซโคลฟอสฟาไมด์มีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งมีวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกัน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตรวจสอบวิธีการเก็บรักษาที่ระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์ หรือสอบถามจากเภสัชกร เพื่อความปลอดภัย คุณควรเก็บยาทั้งหมดให้ห่างจากเด็กหรือสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรเทยาไซโคลฟอสฟาไมด์ทิ้งลงในโถส้วม หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำเช่นนั้น สิ่งสำคัญคือต้องกำจัดยาอย่างเหมาะสมเมื่อหมดอายุหรือไม่ใช้งานแล้ว ให้ปรึกษาเภสัชกรสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดผลิตภัณฑ์อย่างปลอดภัย

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาไซโคลฟอสฟาไมด์

ในการตัดสินใจใช้ยา ความเสี่ยงในการใช้ยาต้องได้รับการพิจารณาเปรียบเทียบกับข้อดีของการใช้ยา เป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างคุณและแพทย์ที่ทำการรักษา สำหรับยาชนิดนี้ มีข้อควรพิจารณาดังต่อไปนี้

การแพ้ยา (Allergies)

ให้แจ้งแพทย์ หากคุณเคยมีปฏิกิริยาที่ผิดปกติ หรือเกี่ยวกับการแพ้ยาต่อยาชนิดนี้หรือยาอื่นๆ นอกจากนี้ให้แจ้งแพทย์ หากคุณมีอาการแพ้ประเภทอื่นๆ เช่น แพ้อาหาร (Food Allergy) สีผสมอาหาร วัตถุกันเสียในอาหาร หรือสัตว์ สำหรับยาที่แพทย์ไม่ได้สั่งนั้น ให้ศึกษาส่วนประกอบของยาที่ฉลากยาหรือบรรจุภัณฑ์อย่างระมัดระวัง

การใช้ยาในเด็ก

ยาชนิดนี้ได้รับการทดสอบในเด็ก และไม่มีหลักฐานว่ามีผลข้างเคียง หรืออาการที่แตกต่างจากในผู้ใหญ่

การใช้ยาในผู้สูงอายุ

ยาหลายชนิดไม่ได้รับการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงไม่เป็นที่ทราบว่า มีการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับในวัยผู้ใหญ่หรือไม่ ถึงแม้ว่าไม่มีข้อมูลจำเพาะ ที่เปรียบเทียบการใช้ยาไซโคลฟอสฟาไมด์ในผู้สูงอายุ กับกลุ่มอายุอื่นๆ แต่ไม่เป็นที่คาดหมายว่าจะเกิดผลข้างเคียงหรืออาการที่แตกต่างกันระหว่างผู้สูงอายุกับผู้ที่อายุน้อยกว่า

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเพียงพอเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยาไซโคลฟอสฟาไมด์ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบประโยชน์ที่จะได้รับกับความเสี่ยงจากการใช้ยานี้ ยาไซโคลฟอสฟาไมด์จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ มีดังนี้

  • A=ไม่มีความเสี่ยง
  • B=ไม่มีความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C=อาจจะมีความเสี่ยง
  • D=มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X=ห้ามใช้
  • N=ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงจากยาไซโคลฟอสฟาไมด์

ให้เข้ารับการรักษาฉุกเฉินหากมีอาการแพ้ยาใด ๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ได้แก่ ลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ

ให้โทรแจ้งแพทย์ทันทีหากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรง ได้แก่

  • มีเลือดปนในปัสสาวะหรืออุจจาระ มีอาการปวดหรือแสบเวลาปัสสาวะ
  • ผิวซีด เวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว สมาธิสั้น
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอกเฉียบพลัน หายใจมีเสียง ไอแห้ง หายใจลำบากขณะออกกำลังกาย
  • มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย มีอาการไข้หวัดใหญ่ มีแผลในปากและลำคอ
  • มีบาดแผลได้ง่าย มีเลือดออกผิดปกติ (ที่จมูก ปาก ช่องคลอด หรือทวารหนัก) มีจุดสีม่วงหรือแดงใต้ผิวหนัง
  • กระหายน้ำมากร่วมกับอาการปวดศีรษะ อาเจียน และอ่อนเพลีย
  • ดีซ่าน (ผิวหนังหรือตาเหลือง)
  • อาการที่ผิวหนังอย่างรุนแรง ได้แก่ มีไข้ เจ็บคอ มีอาการบวมที่ใบหน้าหรือลิ้น มีแผลที่ดวงตา มีอาการปวดที่ผิวหนัง ตามด้วยมีผื่นสีแดงหรือสีม่วงที่ผิวหนังซึ่งลุกลาม (โดยเฉพาะที่ใบหน้าหรือร่างกายส่วนบน) และมีตุ่มพองและผิวหนังลอก

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยอื่น ๆ ได้แก่

  • คลื่นไส้ ขาดความอยากอาหาร ปวดท้องหรือท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย
  • ผมร่วงชั่วคราว
  • มีแผลที่ไม่หายขาด
  • ประจำเดือนเว้นระยะ
  • สีผิวเปลี่ยนแปลง
  • เล็บเปลี่ยนแปลง

ในบางกรณี มีการรายงานว่าเกิดมะเร็งระยะที่สอง ในระหว่างและหลังจากการรักษาด้วยยาไซโคลฟอสฟาไมด์ ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ของยานี้

อาการข้างเคียงเหล่านี้พบไม่ได้ในผู้ใช้ยาทุกคน และอาจมีอาการข้างเคียงที่ไม่ได้ระบุข้างต้น หากคุณมีข้องกังวลเกี่ยวกับอาการข้างเคียง ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาไซโคลฟอสฟาไมด์อาจเกิดอันตรกิริยากับยาชนิดอื่นที่คุณใช้อยู่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงสำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาของยาที่อาจเกิดขึ้น คุณควรทำรายการยาที่ใช้อยู่ทั้งหมด (ยาที่สั่งโดยแพทย์ ยาที่ไม่ได้สั่งโดยแพทย์ และยาสมุนไพร) และแจ้งแก่แพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยของคุณ ห้ามเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับยาดังต่อไปนี้ แพทย์อาจตัดสินใจไม่ทำการรักษาคุณด้วยยานี้ หรือเปลี่ยนยาชนิดอื่นๆ บางชนิดที่คุณใช้อยู่

  • วัคซีนไวรัสโรต้า (Rotavirus Vaccine) เชื้อเป็น

ไม่แนะนำการใช้ยานี้กับยาดังต่อไปนี้ แต่อาจมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางราย หากสั่งยาทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน แพทย์อาจเปลี่ยนขนาดยาหรือความถี่ในการใช้ยาชนิดหนึ่งหรือทั้ง 2 ชนิด

  • วัคซีนไวรัสอะดีโน ประเภท 4 (Adenovirus Vaccine Type 4) เชื้อเป็น, วัคซีนไวรัสอะดีโน ประเภท 7 (Adenovirus Vaccine Type 7) เชื้อเป็น, ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol), ยาอัมเพรเนเวียร์ (Amprenavir), ยาเอทาซาเนเวียร์ (Atazanavir), วัคซีนบาซิลลัสกาลแม็ต-เกแร็ง (Bacillus of Calmette and Guerin Vaccine) เชื้อเป็น , ยาโบซีพรีเวียร์ (Boceprevir), ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine), ยาเซอร์ทินิบ (Ceritinib), ยาโคบิซิสแทต (Cobicistat), ยาไซโคลสปอรีน (Cyclosporine), ยาดารูเนเวียร์ (Darunavir), ยาด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin), ยาด็อกโซรูบิซินไฮโดรคลอไรด์ไลโพโซม (Doxorubicin Hydrochloride Liposome), ยาเอสลิคาร์บาเซพีนอะซีเตท (Eslicarbazepine Acetate), ยาเอทาเนอร์เซปต์ (Etanercept), ยาโฟแซมเพรเนเวียร์ (Fosamprenavir), ยาฟอสเฟไนโทอิน (Fosphenytoin), ยาไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (Hydrochlorothiazide), ยาอินดิเนเวียร์ (Indinavir), วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus Vaccine) เชื้อเป็น, ยาโลพิเนเวียร์ (Lopinavir), วัคซีนไวรัสโรคหัด (Measles Virus Vaccine) เชื้อเป็น, วัคซีนไวรัสโรคคางทูม (Mumps Virus Vaccine) เชื้อเป็น, ยาเนลฟิเนเวียร์ (Nelfinavir), ยาเนวิเรพีน (Nevirapine), ยาไนโลทินิบ (Nilotinib), ยาไนทิซิโนน (Nitisinone), ยาเพนโทสเตติน (Pentostatin), ยาฟีไนโทอิน (Phenytoin), ยาไรโทเนเวียร์ (Ritonavir), วัคซีนไวรัสหัดเยอรมัน (Rubella Virus Vaccine) เชื้อเป็น, ยาซาควิเนเวียร์ (Saquinavir), ยาซิลทักซิแมบ (Siltuximab), วัคซีนโรคฝีดาษ (Smallpox Vaccine), ยาเซนต์จอห์นเวิร์ท (St John’s Wort), ยาทามอกซิเฟน (Tamoxifen), ยาเทลาเพรเวียร์ (Telaprevir), ยาไทเพรเนเวียร์ (Tipranavir), ยาทราสตูซูแมบ (Trastuzumab), วัคซีนไข้ไทฟอยด์ (Typhoid Vaccine), วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella Virus Vaccine), ยาวาร์ฟาริน (Warfarin), วัคซีนไข้เหลือง (Yellow Fever Vaccine)

การใช้ยาไซโคลฟอสฟาไมด์ร่วมกับยาใดๆ ดังต่อไปนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของผลข้างเคียงบางประการ แต่การใช้ยาทั้งสองชนิดร่วมกัน อาจเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณก็ได้ หากมีการสั่งยาทั้งสองชนิดร่วมกัน แพทย์อาจเปลี่ยนขนาดยา หรือความถี่ในการใช้ยาหนึ่งชนิดหรือทั้งสองชนิด

  • ยาออนดาเซทรอน (Ondansetron), ยาไทโอเทปา (Thiotepa)

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาไซโคลฟอสฟาไมด์อาจทำปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ยา หรือเพิ่มความเสี่ยงสำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เกี่ยวกับปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นของยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์ ก่อนการใช้ยา

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่นๆ

ยาไซโคลฟอสฟาไมด์อาจทำปฏิกิริยากับสภาวะทางสุขภาพของคุณ ปฏิกิริยาดังกล่าวอาจทำให้สภาวะทางสุขภาพเสื่อมลง หรือเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเสมอเกี่ยวกับสภาวะทางสุขภาพทั้งหมดของคุณในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

  • โรคอีสุกอีใส (รวมทั้งการสัมผัสผู้ติดเชื้อเมื่อไม่นานมานี้)
  • โรคงูสวัด (Shingles) มีความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงที่ส่งผลต่อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
  • โรคเกาต์หรือมีประวัติโรคเกาต์
  • นิ่วในไตหรือมีประวัติเคยเป็นนิ่วในไต ยาไซโคลฟอสฟาไมด์ อาจเพิ่มระดับของกรดยูริกในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเกาต์หรือนิ่วในไต
  • การติดเชื้อ อาจลดความสามารถของร่างกายในการต้านการติดเชื้อ
  • โรคไต ฤทธิ์ของยาไซโคลฟอสฟาไมด์อาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากการจำจัดตัวยาออกจากร่างกายเป็นไปอย่างช้า ๆ
  • โรคตับ ฤทธิ์ของยาไซโคลฟอสฟาไมด์อาจลดลง
  • เคยได้รับการผ่าตัดนำต่อมหวกไตออกมาก่อน ฤทธิ์ที่เป็นพิษของยาไซโคลฟอสฟาไมด์อาจเพิ่มขึ้น การปรับขนาดยาอาจมีความจำเป็น
  • การสะสมตัวของเซลล์เนื้องอก ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเซลล์เนื้องอกที่ลุกลามไปยังไขกระดูก อันเป็นผลมาจากการกดไขกระดูก (bone marrow depression) ที่เกิดจากขนาดยาไซโคลฟอสฟาไมด๋ในปริมาณที่สูง

ทำความเข้าใจกับขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้เสมอ

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาปกติในผู้ใหญ่สำหรับรักษาเนื้องอก

  • การให้ยาทางเส้นเลือด : เมื่อใช้เพียงชนิดเดียว ขนาดยาเริ่มต้นสำหรับผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคเกี่ยวกับเลือดคือ 40-50 มก./กก. มักให้ยาในขนาดแบ่งใช้มากกว่า 2-5 วัน อาจเปลี่ยนให้ยา 10-15 มก./กก. ทุก ๆ 7-10 วัน หรือ 3-5 มก./กก. 2 ครั้งต่อสัปดาห์
  • การให้ยารับประทาน: ขอบเขตปริมาณยาตามปกติ: 1-8 มก./กก./วัน สำหรับขนาดยาเริ่มต้นและขนาดยาประคับประคองอาการ

ขนาดยาปกติในผู้ใหญ่สำหรับรักษามะเร็งรังไข่

สำหรับใช้รักษามะเร็งเนื้อเยื่อบุผิวรังไข่ :

  • 600 มก./ตร.ม. ให้ยาทางเส้นเลือดในวันแรกร่วมกับยาคาร์โบเพลติน (carboplatin) หรือยาซิสเพลติน (cisplatin)
  • รอบใช้ยาซ้ำทุกๆ 28 วัน

ขนาดยาปกติในผู้ใหญ่สำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา

(ใช้ร่วมกับสารเคมีบำบัดอื่น ๆ เพื่อเป็นส่วนของวิธีการรักษาแบบ M2 protocol)

  • 10 มก./กก. ให้ยาทางเส้นเลือดในวันแรก

ขนาดยาสำหรับเด็ก

ขนาดยาปกติในเด็กสำหรับรักษาเนื้องอก

  • การให้ยาทางเส้นเลือด : เมื่อใช้เพียงชนิดเดียว ขนาดยาเริ่มต้นสำหรับผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคเกี่ยวกับเลือดคือ 40-50 มก./กก. มักให้ยาในขนาดแบ่งใช้มากกว่า 2-5 วัน อาจเปลี่ยนให้ยา 10-15 มก./กก. ทุก ๆ 7-10 วัน หรือ 3-5 มก./กก. 2 ครั้งต่อสัปดาห์
  • การให้ยารับประทาน: ขอบเขตปริมาณยาตามปกติ: 1-8 มก./กก./วัน สำหรับขนาดยาเริ่มต้นและขนาดยาพยุงอาการ

ขนาดยาปกติในเด็กสำหรับรักษาโรคเนโฟรติก ซินโดรม

  • เมื่อใช้สำหรับรักษาโรคเนโฟรติก ซินโดรม “ที่มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย’ ที่พิสูจน์ด้วยการผ่าตัดเพื่อการวินิจฉัย (biopsy) ในเด็ก แนะนำให้ใช้ขนาดยา 2.5-3 มก./กก./วัน โดยการรับประทาน 60-90 วัน

รูปแบบยา

ยาไซโคลฟอสฟาไมด์มีรูปแบบการใช้และปริมาณตัวยา ดังต่อไปนี้

  • ยาเม็ด 25 มก. ; 50 มก.
  • ยาฉีด 500 มก. ; 1 ก. ; 2 ก.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

ในกรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ให้โทรแจ้งบริการฉุกเฉิน หรือไปยังห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลใกล้บ้านคุณ

อาการสำหรับการใช้ยาเกินขนาด ได้แก่

  • อุจจาระมีสีคล้ำ
  • ปัสสาวะมีสีแดง
  • มีบาดแผลหรือเลือดออกผิดปกติ
  • รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียผิดปกติ
  • เจ็บคอ ไอ มีไข้ หรืออาการติดเชื้ออื่นๆ
  • มีอาการบวมที่ขา ข้อเท้า หรือเท้า
  • เจ็บหน้าอก

กรณีลืมใช้ยา

หากลืมใช้ยาไซโคลฟอสฟาไมด์ ให้ใช้ยาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ดี หากใกล้เวลาใช้รอบถัดไป ให้ข้ามรอบที่ลืมใช้ไปแล้วใช้ยาในรอบถัดไปตามปกติที่กำหนดไว้ ห้ามใช้เพิ่มเป็น 2 เท่า

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cyclophosphamide oral and injection https://www.drugs.com/mtm/cyclophosphamide-oral- and-injection.html. Accessed July 16, 2016.

Cyclophosphamide oral route and intravenous route http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/cyclophosphamide- oral-route-intravenous-route/description/drg- 20063307. Accessed July 16, 2016.

Cyclophosphamide intravenuous http://www.webmd.com/drugs/2/drug-19924/cyclophosphamide- intravenous/details. Accessed July 16, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำตาล เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็งจริงหรือ

ความสำคัญของการตรวจมะเร็งปากมดลูก ที่สาว ๆ ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา