backup og meta

โรคเชื้อราที่เล็บเท้า อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

โรคเชื้อราที่เล็บเท้า อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

โรคเชื้อราที่เล็บเท้า คือ การติดเชื้อราที่เล็บเท้าผ่านรอยแตกของเล็บ หรือบาดแผลบนผิวหนัง ส่งผลให้เล็บเท้าเปลี่ยนสีหรือหนาขึ้น รวมทั้งอาจสร้างความเจ็บปวดได้อีกด้วย เนื่องจากบริเวณนิ้วเท้ามักจะอุ่นและชื้น เชื้อราจึงสามารถเติบโตได้ดี  หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อจะแพร่กระจายไปสู่เล็บเท้านิ้วอื่น ๆ รวมถึงแพร่กระจายสู่ผิวหนัง หรือแม้แต่เล็บนิ้วมือได้อีกด้วย

[embed-health-tool-bmr]

คำจำกัดความ

โรคเชื้อราที่เล็บเท้า คืออะไร

โรคเชื้อราที่เล็บเท้า มีอีกชื่อหนึ่งว่า Onychomycosis คือ การติดเชื้อราที่เล็บเท้า โดยสามารถติดเชื้อได้ผ่านรอยแตกของเล็บ หรือบาดแผลบนผิวหนัง อาจทำให้เล็บเท้าเปลี่ยนสีหรือหนาขึ้น รวมทั้งอาจสร้างความเจ็บปวดได้อีกด้วย เนื่องจากบริเวณนิ้วเท้ามักจะอุ่นและชื้น เชื้อราจึงสามารถเติบโตได้ดี เชื้อรานั้นมีอยู่หลายชนิด และบางครั้ง เชื้อราจะส่งผลให้เกิดอาการต่างในแต่ละส่วนของเล็บที่มีการติดเชื้อ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อจะแพร่กระจายไปสู่เล็บเท้านิ้วอื่น ๆ รวมถึงแพร่กระจายสู่ผิวหนัง หรือแม้แต่เล็บนิ้วมือได้อีกด้วย

โรคเชื้อราที่เล็บเท้าพบได้บ่อยเพียงใด

โรคเชื้อราที่เล็บเท้าพบได้ทั่วไป โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของโรคเชื้อราที่เล็บเท้า

อาการที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ เล็บเท้ามีการเปลี่ยนสี ไม่ว่าจะเป็นสีขาว สีน้ำตาล หรือสีเหลือง เชื้อราอาจแพร่กระจายทั่วบริเวณเล็บและทำให้เนื้อเล็บหนาขึ้น หรือเกิดรอยแตกขึ้นได้

โดยทั่วไปแล้ว เล็บที่ติดเชื้อจะหนามากกว่าปกติ หรืออาจมีรูปทรงบิดงอหรือผิดรูป อีกทั้งยังแตกหักได้ง่ายมาก เล็บเท้าที่ติดเชื้อราอาจเป็นสีเหลือง

บางครั้งก็ปรากฏเป็นจุดสีขาวบนเล็บ และค่อย ๆ มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เมื่อเชื้อราก่อตัวอยู่ใต้เล็บเท้า ก็อาจทำให้เล็บหลวมเหมือนจะหลุด หรือแม้แต่ทำให้เล็บแตกจากโคนเล็บ นอกจากนี้ เชื้อรายังสามารถแพร่กระจายสู่ผิวหนังที่อยู่รอบเล็บเท้าได้อีกด้วย

อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการบางประการที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบหมอเมื่อใด

หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใด ๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาคุณหมอ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาคุณหมอ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของโรคเชื้อราที่เล็บเท้า

โรคเชื้อราที่เล็บเท้าเกิดขึ้นจากกลุ่มเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า กลุ่มกลาก (Dermophytes) เชื้อรากลุ่มนี้จะกระจายบนผิวหนังและบนเล็บ เช่นเดียวกับบนขนตามร่างกาย เมื่อเชื้อราเข้าไปอยู่ใต้เล็บ ก็จะเริ่มเติบโตและทำลายเล็บในที่สุด

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเชื้อราที่เล็บเท้า

ผู้ชายอาจมีโอกาสเป็นเชื้อราที่เล็บเท้าได้มากกว่าผู้หญิง ยิ่งอายุมากขึ้น ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นได้มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน คนที่เป็นโรคน้ำกัดเท้า หรือมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่ และสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเคยเป็น ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นได้สูงมากขึ้น หรือในกรณีที่ใช้เวลาอยู่ในน้ำนาน ๆ หรือได้รับบาดเจ็บที่เล็บเท้า ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อราได้โดยไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคเชื้อราที่เล็บเท้า

เนื่องจากโรคเชื้อราที่เล็บเท้ามีอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน ผู้มีอาการจึงต้องให้คุณหมอตรวจดูเพื่อความแน่ใจ และอาจจะต้องพบกับหมอผู้ชำนาญด้านโรคที่เกิดบริเวณเท้าโดยเฉพาะ (นักบาทานามัย) หรือหมอผิวหนัง เป็นต้น

ขั้นตอนแรก คือ การตรวจดูประวัติผู้ป่วย คุณหมอรักษาเท้าจำเป็นต้องเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง รวมถึงรับทราบปัจจัยทางการแพทย์อื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อทางเลือกในการรักษา

ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เนื่องจากวิธีการรักษาอย่างแรก คือ การกินยา แต่การรักษาด้วยวิธีนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพได้

เมื่อตรวจประวัติทางการแพทย์เรียบร้อยแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจร่างกาย คุณหมออาจจะตัดบางส่วนของเล็บเท้าและส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องแล็บ เพื่อหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง

การรักษาโรคเชื้อราที่เล็บเท้า

การรักษาโรคเชื้อราที่เล็บเท้าขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยติดเชื้อหนักขนาดไหน คุณหมออาจใช้วิธีการรักษามากกว่าหนึ่งวิธีร่วมกัน โดยการรักษาที่ใช้กันทั่วไป มีดังนี้

  • รักษาด้วยการใช้ยาทาเล็บรักษาเชื้อรา
  • รักษาด้วยการใช้ยาเคลือบเล็บรักษาเชื้อรา
  • รักษาด้วยการทานยาต้านเชื้อรา
  • รักษาด้วยการตัดเล็บหรือผิวหนังส่วนที่ถูกทำลายทิ้ง

ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำเล็บออกให้หมดทั้งเล็บ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อรับมือกับโรคเชื้อราที่เล็บเท้า

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับมือกับโรคเชื้อราที่เล็บเท้าได้ดีขึ้น

  • ใช้สบู่และน้ำทำความสะอาดเท้า และเช็ดเท้าให้แห้ง รวมถึงบริเวณระหว่างซอกนิ้วเท้า หมั่นตัดเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ และอย่าลืมตรวจสอบว่าที่ตัดเล็บมีความสะอาดหรือไม่ ทำความสะอาดที่ตัดเล็บอยู่เสมอด้วยสบู่และน้ำ จากนั้นจึงทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ การทาสีเล็บเพื่อปกปิดสีที่ผิดปกติของเล็บเท้าไม่แนะนำให้ทำ เพราะจะทำให้อาการแย่ลง เล็บจะไม่มีการระบายอากาศ ทำให้เชื้อราไม่สามารถระบายตัวออกไปได้
  • เลือกใช้รองเท้าอย่างเหมาะสม สวมถุงเท้าที่ป้องกันความชื้น และเปลี่ยนถุงเท้าเป็นประจำ รวมถึงตรวจสอบว่ารองเท้าใส่ได้พอดี ควรเป็นรองเท้าที่ทำจากวัสดุซึ่งสามารถระบายอากาศได้ดี เช่น รองเท้าผ้าใบ รองเท้าที่มีรูระบายอากาศ หรือรองเท้าหนัง อย่าลืมสวมใส่รองเท้าอาบน้ำในสถานที่สาธารณะ อย่างเช่น ห้องล็อกเกอร์ หรือสระว่ายน้ำ
  • หมั่นดูแลรักษาโคนเล็บและผิวหนังรอบนิ้วเท้าเป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง (หากมองเล็บเท้าได้ลำบาก ก็อาจใช้กระจกเป็นตัวช่วยได้เช่นกัน) เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงสีเล็บและรูปทรง เช่นเดียวกับรอยแตกบนเล็บหรือความเสียหาย ถ้าเกิดความเจ็บปวด หรืออาการไม่ดีขึ้น อย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์
  • รับประทานอาหารเพื่อรับแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับการบำรุงเล็บเท้า เช่น
    • โยเกิร์ตที่อุดมไปด้วยโปรไบโอติก
    • รับประทานโปรตีนให้เพียงพอเพื่อช่วยให้เล็บงอกขึ้นมาใหม่
    • รับประทานธาตุเหล็กให้เพียงพอเพื่อป้องกันไม่ให้เล็บแตก
    • รับประทานอาหารที่อุดมด้วยกรดไขมันที่จำเป็น
    • รับประทานทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมและวิตามินดี อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to Handle Toenail Fungus. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/ss/slideshow-toenail-fungus. Accessed August 7, 2018.

Here’s How You Should Treat Toenail Fungus, According to a Podiatrist. https://www.rd.com/health/conditions/treat-toenail-fungus-podiatrist/. Accessed August 7, 2018.

Nail fungus. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/nail-fungus/symptoms-causes/syc-20353294. Accessed February 17, 2023

Fungal nail infection. https://www.nhs.uk/conditions/fungal-nail-infection/. Accessed February 17, 2023

Fungal Nail Infections. https://www.cdc.gov/fungal/nail-infections.html. Accessed February 17, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/02/2023

เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

จมูกเล็บ ลอก ฉีกขาด มีสาเหตุมาจากอะไร รักษาอย่างไร

สะเก็ดเงินที่เล็บ (Nail Psoriasis)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา · แก้ไขล่าสุด 17/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา