หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง โจ๊กเกอร์ ก็จะเห็นว่าหลายๆ ครั้ง โจ๊กเกอร์ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง มักจะหัวเราะออกมา แม้บางครั้งก็ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ควรจะหัวเราะ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่โดนว่า โดนดูถูก จริงๆ แล้วภาวะที่โจ๊กเกอร์กำลังเป็นอยู่นั้นเรียกว่า ภาวะควบคุมการหัวเราะร้องไห้ไม่ได้ (Pseudobulbar Affect) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการหัวเราะและร้องไห้ วันนี้ Hello คุณหมอ มีบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะนี้มาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ
ภาวะควบคุมการหัวเราะร้องไห้ไม่ได้ (Pseudobulbar Affect หรือ PBA) คืออะไร
ภาวะควบคุมการหัวเราะร้องไห้ไม่ได้เป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะมีอาการหัวเราะ ร้องไห้ อย่างควบคุมไม่ได้ แม้จะอยู่ในสถานะการณ์ที่ไม่เหมาะสมก็ตาม โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีภาวะนี้มักจะมีอาการทางระบบประสาท หรือเกิดการบาดเจ็บซึ่งส่งผลกระทบต่อสมองในส่วนที่มีหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ ผู้ที่มีภาวะควบคุมการหัวเราะ ร้องไห้ไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วมักจะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือทำให้เกิดความอาย เพราะอาหารหัวเราะ หรือร้องไห้ที่เกิดขึ้นนั้น ร่างกายไม่สามารถควบคุมมันได้ บางครั้งอาการก็แสดงออกมาในเวลาที่ไม่เหมาะสม
อาการของ ภาวะควบคุมการหัวเราะร้องไห้ ไม่ได้
ภาวะควบคุมการหัวเราะร้องไห้ไม่ได้เป็นภาวะที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเชื่อมต่อกันระหว่าง ส่วนของสมองส่วนหน้า (frontal lobes) ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมพฤติกรรม การแก้ปัญหา ควบคุมอารมณ์ และการแสดงออกทางอารมณ์ กับ สมองน้อย (cerebellum) และ ก้านสมอง เมื่อสมองส่วนหน้า สมองน้อย และก้านสมอง ไม่สามารถทำงานได้อย่างสอดคล้องกัน จะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมหรือกระตุ้นอารมณ์ได้
ซึ่งผู้มี ภาวะควบคุมการหัวเราะร้องไห้ไม่ได้ จะมีอาการร้องไห้ หัวเราะ หรือโกรธโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งบางครั้งอาการเหล่านี้ก็แสดงออกมาเกินกว่าที่จะเป็น เช่น เสียใจ ร้องไห้ กับเรื่องเพียงเล็กน้อย โดยที่จะร้องไห้ฟูมฟายในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องร้องไห้มากมายขนาดนั้น แต่ในทางกลับกันเมื่อเจอเรื่องที่เศร้า หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากังวลใจ หดหู่กลับหัวเราะออกมาอย่างบ้าคลั่ง ในบางครั้งผู้ป่วยก็อาจจะมีทั้งการหัวเราะและการร้องไห้สลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว
ภาวะควบคุมการหัวเราะร้องไห้ไม่ได้เป็นภาวะที่มักจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในด้านจิตใจ เช่น ทำให้ผู้ป่วยอับอาย มีความโดดเดี่ยวทางสังคม (social isolation) เกิดความวิตกกังวล และมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งผลกระทบต่างๆ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้
โดยปกติแล้วผู้ที่มี ภาวะควบคุมการหัวเราะ ร้องไห้ไม่ได้ มักจะมีความผิดปกติทางระบบประสาท หรือได้รับการบาดเจ็บ เช่น
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรค MS
- สมองได้รับการกระทบกระเทือน หรือได้รับบาดเจ็บ
- โรคอัลไซเมอร์
- โรคพาร์กินสัน
แต่ก็ยังต้องการงารวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะควบคุมการหัวเราะร้องไห้ไม่ได้ เพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนที่ควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์นั้นได้รับความเสียหายหรือไม่
Hello Health Groupไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด