backup og meta

นอนแค่ไหนก็ไม่เคยพอ นอนเยอะแต่ยังเพลีย อยู่เหมือนเดิม เป็นเพราะอะไรกันนะ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 13/08/2020

    นอนแค่ไหนก็ไม่เคยพอ นอนเยอะแต่ยังเพลีย อยู่เหมือนเดิม เป็นเพราะอะไรกันนะ

    การนอน เป็นกิจวัตรประจำวันที่สำคัญสำหรับมนุษย์ การนอนหลับที่ดี ส่งผลทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต แต่พฤติกรรมการนอนที่มีความผิดปกติไปจากที่ควรจะเป็น เช่น การนอนน้อย นอนไม่พอ การตื่นกลางดึก หรือการนอนมากจนเกินไป สามารถที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เราอาจรู้จักข้อเสียของการนอนไม่พอหรือการนอนน้อยกันมาบ้างแล้ว วันนี้ Hello คุณหมอ จึงขอพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับข้อเสียของการนอนที่มากเกินไป แล้วทำไม นอนเยอะแต่ยังเพลีย อยู่เหมือนเดิม สาเหตุเป็นเพราะอะไร มาดูกันเลย

    นอนแค่ไหนถึงจะเรียกว่านอนเยอะ

    นอนอย่างไรจึงจะเรียกว่านอนเยอะ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ช่วงเวลา หรือจำนวนชั่วโมงในการนอนของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันไป ตามภาระหน้าที่การทำงาน ช่วงอายุ และปัจจัยต่าง ๆ ที่อยู่เหนือการควบคุม รวมถึงอาการทางสุขภาพด้วย เช่น ผู้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ อาจต้องการการพักผ่อนที่แตกต่างกัน ถ้าหากคุณมีอาการของโรคเครียดหรือซึมเศร้า คุณอาจต้องการการพักผ่อนที่มากกว่า 8 ชั่วโมง แต่โดยทั่วไปแล้วสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-64 ปี ผู้เชี่ยวชาญมักจะแนะนำให้มีการนอนหลับพักผ่อนอยู่ระหว่าง 7-9 ชั่วโมงของแต่ละคืน ถ้าหากเกินกว่านี้ ก็สามารถเรียกได้ว่าเป็นการนอนที่มากเกินไป

    นอนมากไปส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

    สิ่งใดที่มากไปหรือน้อยไป ย่อมส่งผลเสียตามมาได้ ซึ่งไม่เพียงแต่การพักผ่อนไม่เพียงพอเท่านั้นที่ส่งผลต่อสุขภาพ เพราะการนอนที่มากจนเกินไปก็สามารถที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เหมือนกัน ดังนี้

    เบาหวาน

    มีงานวิจัยหลายชิ้น แสดงให้เห็นว่า การนอนที่มากไป หรือน้อยไป หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ มีส่วนช่วยเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้

    โรคอ้วน

    มีผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่นอน 9-10 ชั่วโมง ในแต่ละคืน มีแนวโน้มของความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนมากกว่าคนที่นอน 7-8 ชั่วโมงในแต่ละคืน มากถึง 21% อย่างไรก็ตาม ปัญหาของความอ้วนยังคงมีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการไม่ออกกำลังกาย

    ปวดศีรษะ

    หากนอนเยอะเกินไป นักวิจัยคาดว่าอาจเป็นสาเหตุของการปวดหัว เพราะการนอนมากเกินกว่าปกติ อาจมีปฏิกิริยาที่ส่งผลกับสารสื่อประสาทในสมอง รวมถึงสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยในการนอนหลับ รวมถึงการนอนเยอะในระหว่างวันก็ยังเป็นการรบกวนเวลานอนปกติในตอนกลางคืน ส่งผลให้มีอาการปวดหัวด้วยเหมือนกัน

    เสียชีวิต

    มีผลการวิจัยค้นพบว่า คนที่นอนตั้งแต่ 9 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่าคนที่นอนเพียง 8 ชั่วโมง แม้จะยังไม่มีการระบุถึงความเชื่อมโยงนี้อย่างแน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญมีการสันนิษฐานว่า สาเหตุอาจเป็นเพราะภาวะซึมเศร้า หรือความเครียดในการใช้ชีวิต ส่งผลให้มีความต้องการที่จะนอนมากจนผิดปกติ 

    สาเหตุของการ นอนเยอะแต่ยังเพลีย

    อาการอ่อนเพลียหลังจากการนอน สามารถพบได้บ่อยในผู้ที่มีอาการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อย หรือไม่ได้นอนเลย ทำให้มีอาการง่วงเหงาหาวนอน ไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า แน่นอนว่าไม่เฉพาะแค่คนที่นอนไม่พอเท่านั้น แต่คนที่นอนเยอะ นอนมากจนเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่นอนหลับมากกว่า 9 ชั่วโมงขึ้นไป ก็สามารถที่จะมีอาการเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน

    ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การนอนที่ผิดไปจากรูปแบบการนอนปกติ มีผลทำให้ช่วงจังหวะของร่างกายแย่ลง ร่างกายจึงรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น และอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คุณรู้สึกเพลียหลังจากนอนหลับอย่างยาวนาน คือ อาจเป็นผลมาจากกิจกรรมที่คุณทำก่อนนอน เช่น การออกกำลังกายอย่างหนัก เมื่อร่างกายเหนื่อยมากขึ้นจึงต้องการการพักผ่อนที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้รู้สึกเพลียนั่นเอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 13/08/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา