backup og meta

โรค ซึมเศร้า อาการ สาเหตุ และการรักษา

โรค ซึมเศร้า อาการ สาเหตุ และการรักษา

โรค ซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน เมื่อเป็นแล้ว จะมีอาการเศร้าสร้อย เหนื่อยหน่าย หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า และมีอาการปวดหัวหรือปวดตามลำตัวร่วมด้วย ทั้งนี้ หากพบสัญญาณของโรคซึมเศร้า ควรไปพบคุณหมอ เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือตัดสินใจฆ่าตัวตายได้

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

โรค ซึมเศร้า คืออะไร

โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นความผิดปกติทางจิตเวชที่เมื่อเป็นแล้วจะรู้สึกเศร้า หดหู่ หรือสิ้นหวังอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาการอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้อยากฆ่าตัวตายได้

ทั้งนี้ โรคซึมเศร้าแบ่งเป็นชนิดต่าง ๆ ดังนี้

  • โรคซึมเศร้าเมเจอร์ (Major Depression) เป็นโรคซึมเศร้าที่เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และอาการของโรคซึมเศร้าจะรบกวนการทำงาน การนอน การเรียน และพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
  • โรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรัง (Persistent Depressive Disorder) เป็นโรคซึมเศร้าที่อาการรุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้าเมเจอร์ แต่เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการยาวนานกว่า หรืออย่างน้อย 2 ปี
  • โรคซึมเศร้าตอนก่อนหรือหลังคลอด (Perinatal Depression) เป็นโรคซึมเศร้าเมเจอร์ที่พบได้ในหญิงตั้งครรภ์ช่วงก่อนหรือหลังคลอด
  • โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder) เป็นโรคซึมเศร้าที่จะเป็นในช่วงใดช่วงหนึ่งของปี เช่น ในฤดูหนาว และสามารถหายเองได้

ในปัจจุบัน ผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เมื่อเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2565 ระบุว่า ผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 1.35 ล้านคน และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา อยู่ที่ประมาณร้อยละ 88.33 จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด

อาการ

อาการของโรค ซึมเศร้า

อาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยซึมเศร้า มีดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเศร้า วิตกกังวล ว่างเปล่า
  • รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า มองโลกในแง่ลบ
  • รู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย
  • หมดความสนใจต่อกิจกรรมหรือสิ่งที่ชอบ
  • เหนื่อยอ่อน หมดพลัง
  • เพ่งสมาธิไม่ได้ จดจำสิ่งต่าง ๆ หรือตัดสินใจได้ยากกว่าที่เคย
  • นอนหลับได้ยาก ตื่นเช้ากว่าปกติ
  • ทำร้ายตัวเอง อยากตาย หรือมีความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย
  • ปวดหัว ปวดท้อง ปวดตามร่างกาย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยซึมเศร้าเพศชายอาจมีอาการบางอย่างที่แตกต่างจากผู้ป่วยซึมเศร้าเพศหญิง เช่น

สาเหตุ

สาเหตุของโรค ซึมเศร้า

ปัจจุบัน ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคซึมเศร้า แต่สันนิษฐานว่าอาจเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • สารเคมีในสมองเกิดความไม่สมดุล
  • ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่แปรปรวนเมื่อมีประจำเดือน คลอดบุตร หรือเข้าสู่วัยทอง
  • พันธุกรรม
  • ประสบการณ์ที่เลวร้ายหรือเจ็บปวดในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
  • ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคพาร์กินสัน (Parkinson Disease)
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด และการใช้สารเสพติดเป็นประจำ

เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

เมื่อสงสัยว่าตัวเองกำลังเป็นโรคซึมเศร้า ควรรีบไปพบคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม หากไม่สะดวกใจพูดคุยกับคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ ควรพูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเพื่อระบายความรู้สึกต่าง ๆ เพราะอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าได้

ทั้งนี้ หากปล่อยโรคซึมเศร้าไว้โดยไม่รักษา จะเสี่ยงเผชิญกับปัญหาดังต่อไปนี้

  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือเป็นโรคอ้วน
  • โรคแพนิค
  • โรคกลัวกิจกรรมทางสังคม
  • การทะเลาะกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว
  • ประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานที่ลดลง
  • การทำร้ายตัวเอง
  • การเสียชีวิต

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรค ซึมเศร้า

เมื่อไปพบคุณหมอเนื่องจากเป็นโรคซึมเศร้าหรือสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า คุณหมอจะสอบถามเกี่ยวกับอาการทางกายและทางจิต ประวัติสุขภาพ ประวัติคนในครอบครัว เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

การรักษาโรค ซึมเศร้า

หลังวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า คุณหมอจะรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • แนะนำให้ดูแลตัวเอง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และใช้เวลาร่วมกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว
  • ให้รับประทานยาต้านเศร้า เช่น ยากลุ่มยับยั้งการเก็บกลับของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Selective Serotonin Reuptake Inhibitor) อย่างเอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) หรือไซตาโลแพรม (Citalopram) ซึ่งมักเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่คุณหมอนิยมจ่ายให้คนไข้ และมีฤทธิ์เพิ่มสารสื่อประสาทเซโรโทนินในสมอง
  • จิตบำบัด หรือการพูดคุยเกี่ยวกับความไม่สบายใจหรืออาการของโรคกับคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ โดยจิตบำบัดจะช่วยให้คนไข้รับมือกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้ดีกว่าเดิม และพอใจกับชีวิตของตัวเองมากขึ้น
  • รักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy) เป็นการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไปในสมอง เพื่อกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาทให้มีประสิทธิภาพในการรับมือกับโรคซึมเศร้าได้ดีขึ้น โดยทั่วไป คุณหมอจะเลือกรักษาด้วยวิธีนี้เมื่อยาต้านเศร้าใช้ไม่ได้ผล หรือคนไข้มีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตาย

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

โรคซึมเศร้าอาจป้องกันได้ ด้วยการปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องที่ไม่สบายใจ
  • จัดการความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ทำกิจกรรมที่ชอบ
  • ไปพบคุณหมอเมื่อสังเกตเห็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า เพื่อลดโอกาสที่โรคซึมเศร้าจะรุนแรงขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

โรคซึมเศร้าโดยละเอียด. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017. Accessed November 30, 2022

What Is Depression?. https://www.psychiatry.org/patients-families/depression/what-is-depression. Accessed November 30, 2022

Depression (major depressive disorder). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/depression/symptoms-causes/syc-20356007. Accessed November 30, 2022

Depression. https://www.nimh.nih.gov/health/topics/depression. Accessed November 30, 2022

Men and Depression. https://www.nimh.nih.gov/health/publications/men-and-depression. Accessed November 30, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/12/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ กับสัญญาณเตือนที่คุณแม่ควรรู้

ซึมเศร้าหลังคลอด อาการ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา