พี่มองเห็นหนูด้วยเหรอ? หนูตายไปแล้วไม่ใช่เหรอ? คำพูดเหล่านี้ฟังดูแล้วอาจจะเหมือนเป็นเรื่องตลก แต่เรื่องนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นจริง โรคนี้เรียกว่า โรคศพเดินได้ เป็นอาการทางจิตแปลกๆ ที่หาได้ยาก และไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักกันสักเท่าไหร่ วันนี้ Hello คุณหมอ จะมาแนะนำเรื่องน่ารู้ดีๆ เกี่ยวกับโรคศพเดินได้
โรคศพเดินได้ เป็นอย่างไรกันแน่
โรคศพเดินได้ (Cotard Delusion หรือ Walking Corpse Syndrome) เป็นสภาวะทางจิตที่หายากสภาวะหนึ่ง มีลักษณะเด่นคือ ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีความเข้าใจว่า ตัวเองได้ตายไปแล้ว หรืออาจจะคิดว่าส่วนหนึ่งของร่างกายตัวเอง เช่น แขน ขา หรือแม้กระทั่งวิญญาณของตัวเองได้ตายไปแล้ว หรือไม่มีอยู่จริง
อาการหลักของ “โรคศพเดินได้’
หนึ่งในอาการหลักของโรคศพเดินได้ ก็คืออาการหลงผิด อาการหลงผิดที่เชื่อว่าโลกใบนี้ไม่มีสิ่งใดที่มีค่าหรือมีความหมาย และอาจรวมไปจนถึงความเชื่อที่ว่าไม่มีสิ่งใดที่มีอยู่จริง ผู้ที่เป็นโรคศพเดินได้นั้นจะมีความรู้สึกเหมือนว่าตัวเองได้ตายไปแล้ว หรือเน่าสลายไปแล้ว หรือในบางกรณีอาจถึงขั้นเชื่อว่าตัวเองไม่มีตัวตนอยู่จริงๆ
โรคนี้มีความใกล้เคียงอย่างมากกับโรคซึมเศร้า งานวิจัยได้พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคศพเดินได้กว่า 89% จะมีอาการของโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ก็อาจจะมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น
- วิตกกังวล
- เกิดภาพหลอน
- คิดไปเองว่าป่วย
- รู้สึกผิด
- หมกมุ่นอยู่กับความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือความตาย
หนึ่งในกรณีตัวอย่างคือเมื่อปี 2012 มีชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเชื่อว่าตัวเองนั้นได้ตายไปแล้ว และได้ไปหาแพทย์เพื่อทำการตรวจสอบดูว่าจริงหรือไม่ พอจิตแพทย์ถามเขาว่า เขาคิดว่าคนที่ตายไปแล้วจะสามารถพาตัวเองมาหาแพทย์ได้เหรอ เขาก็บอกว่าคำถามนี้ตอบยากจริงๆ แต่ก็ยังคงไม่สามารถเลิกเชื่อได้ว่าตัวเขาตายไปแล้ว ในท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าเขาจะตอบสนองกับการรักษา แต่เขาก็ยังคงมีความเชื่อว่าเขาเคยตายไปแล้วหนหนึ่งอยู่ดี
ใครบ้างจะมีโอกาสเสี่ยงที่เป็นโรคศพเดินได้
ในปัจจุบันนั้นนักวิจัยยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคศพเดินได้ แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่ทำให้คุณมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้อื่น แม้ว่าโรคศพเดินได้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ แต่อายุโดยเฉลี่ยของผู้ป่วยที่พบได้มากที่สุด คือ ประมาณ 50 ปี นอกจากนี้โรคนี้ก็มักจะเกิดกับผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตอีกด้วย เช่น
- โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder)
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression)
- โรคบุคลิกวิปลาส (Depersonalization disorder)
- โรคหลายบุคลิก หรือโรคหลายอัตลักษณ์ (Dissociative disorder)
- โรคซึมเศร้าโรคจิต (Psychotic depression)
- โรคจิตเภท (Schizophrenia)
นอกจากนี้ โรคศพเดินได้ยังอาจจะพบได้ในกลุ่มคนที่มีสภาวะทางประสาทบางประเภท เช่น
- การติดเชื้อในสมอง
- เนื้องอกในสมอง
- สมองเสื่อม
- ลมชัก
- ไมเกรน
- โรคหลอดเลือดสมอง
- มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ
- วิตกกังวล
- ซึมเศร้า
- ใช้ยาเสพติด
โรคนี้จะรักษาได้อย่างไร
แม้ว่าโรคนี้อาจจะเป็นโรคแปลกๆ ที่ไม่ค่อยพบเจอ แต่ก็สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ แพทย์มักจะเลือกใช้วิธีการรักษาโรคหรือสภาวะที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคศพเดินได้โดยตรง โดยแพทย์อาจจะให้ใช้ยาดังต่อไปนี้
- ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants)
- ยาต้านอาการทางจิต (antipsychotics)
- ยาควบคุมอารมณ์ (mood stabilizers)
แพทย์มักจะให้ใช้ยาดังกล่าว ร่วมกับการบำบัดทางจิต เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม หรือ จิตบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัยและสบายใจมากขึ้น รวมถึงสามารถช่วยให้ผู้ป่วยค้นหาวิธีในการคิดและการกระทำที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด