
คำจำกัดความ
ปวดศีรษะไมเกรน คืออะไร?
ปวดศีรษะไมเกรน คือ การปวดศีรษะอย่างรุนแรงที่โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพียงข้างเดียว มักร่วมด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการตอบสนองอย่างรุนแรงต่อแสง
อาการปวดศีรษะไมเกรนอาจคงอยู่หลายชั่วโมงหรือหลายวัน และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานและรบกวนการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
การรักษาที่ถูกวิธีด้วยการดูแลรักษาตัวเองในเบื้องต้น และการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่าง คุณก็สามารถจัดการกับอาการปวดศีรษะไมเกรนนี้ได้แล้ว
การปวดศีรษะไมเกรนเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง
ทุกคนสามารถมีอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ อย่างไรก็ตาม มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และส่วนใหญ่พบได้ในช่วงอายุตั้งแต่ 10-45 ปี
คุณสามารถลดโอกาสเสี่ยงการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงและค้นหาต้นเหตุที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าว โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของการปวดศีรษะไมเกรนเป็นอย่างไร
ในบางกรณีอาการปวดศีรษะไมเกรนอาจจะคงอยู่หลายชั่วโมงหรือหลายวัน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้
- อาการนำก่อนเกิดอาการ (prodrome)
- อาการเห็นแสงสีต่างๆ (aura)
- ระหว่างการเกิดอาการปวดศีรษะ (headache)
- ระยะหลังจากหายปวดศีรษะ (postdrome)
1.ระยะก่อนเกิดอาการ
ในระยะนี้ มักจะมีอาการหรือสัญญาณบางอย่างที่บอกให้คุณทราบว่าคุณกำลังจะปวดศีรษะไมเกรน ล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 วัน ดังนี้
- อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า
- ท้องผูก
- คอแข็ง
- หาวบ่อย
- หงุดหงิด ไม่สบายตัว
- ง่วงซึม
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้
2. อาการเห็นแสงสีต่างๆ
ระยะต่อมา ผู้ป่วยจะเริ่มเห็นแสงสีต่างๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นก่อนมีอาการปวดศีรษะหรือเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ปวดศีรษะ การมองเห็นแสงสีต่างๆคืออาการทางระบบประสาทที่อาจเกิดขึ้นและคงอยู่หลายนาที หรืออาจนานตั้งแต่ 20 ถึง 60 นาที
โดยขณะที่เกิดอาการปวดไมเกรน อาจเกิดอาการเหล่านี้ร่วมด้วย
- การมองเห็นผิดปกติ หรือมองเห็นแสงแว้บๆ
- ตาพร่ามัว
- รู้สึกเจ็บจี๊ดเหมือนโดนปลายเข็มจิ้มที่มือหรือขา
- พูดไม่รู้เรื่อง หรือมีปัญหาทางการพูด (aphasia)
3. ระหว่างเกิดอาการปวดศีรษะ
เมื่ออาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบ อาการอาจรุนแรงขึ้นและอาจกินเวลานานตั้งแต่ 4 ถึง 72 ชั่วโมง ในระหว่างที่เกิดอาการ คุณอาจต้องเผชิญอาการดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะด้านเดียวหรือสองด้าน
- ปวดตุบๆ เป็นจังหวะ
- มีปฏิกิริยาต่อแสง (photosensitivity)
- มีปฏิกิริยาต่อเสียง (phonosensitivity)
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ตาพร่า
- มึนหัวและเป็นลม
4. ระยะหลังเกิดอาการปวดศีรษะ
ในช่วงหลังจากมีอาการปวดศีรษะไมเกรน คุณอาจรู้สึกอ่อนเพลีย หรือมีอาการเคลิบเคลิ้มผิดปกติ
นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการที่ไม่ได้ระบุข้างต้น หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการโปรดปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย
เมื่อใดควรไปพบหมอ
คุณควรไปพบหมอในกรณีที่คุณ…
- อายุเกิน 50 ปีและมีอาการปวดศีรษะไมเกรน
- อาการแย่ลง
- แม้รับประทานยาก็ยังไม่ดีขึ้น
- มีอาการปวดศีรษะ หลังจากได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ
- มีอาการไข้สูง คอแข็ง สับสน ชัก มองเห็นภาพซ้อน และอ่อนแรง
- หลังจากมีอาการไอ การออกแรงหนัก หรือหลังการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว แล้วทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์
สาเหตุ
สาเหตุของการปวดศีรษะไมเกรน
สาเหตุของอาการปวดศีรษะไมเกรนไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวกระตุ้นการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่
- เกิดการเปลี่ยนแปลงและปฏิกิริยาในระบบเส้นประสาท (trigeminal nerve) ส่วนใหญ่ที่สุดที่รับความรู้สึกเจ็บปวด
- สารเคมีในสมองไม่สมดุล เช่น สารเซโรโทนิน ที่ช่วยในการควบคุมความเจ็บปวดในระบบประสาท
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในเพศหญิง โดยปกติการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน ในช่วงที่มีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือวัยทอง
- อาหารบางชนิด เช่น ชีส อาหารมีรสเค็มจัด หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง ดูเหมือนจะเป็นสาเหตุหลักของอาการปวดศีรษะไมเกรน รวมถึงการอดอาหารหรือรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
- สารปรุงแต่งอาหาร เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมท (MSG) หรือ สารให้ความหวานประเภทแอสปาแตม
- การดื่มแอลกอฮอล์และการบริโภคเครื่องดื่มคาเฟอีนในปริมาณมาก อาจเป็นสาเหตุที่กระตุ้นการปวดศีรษะไมเกรนได้
- ความเครียดอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของไมเกรน
- อากาศเปลี่ยนแปลง
- พฤติกรรมการนอนหลับเปลี่ยนแปลง
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด หรือ ฮอร์โมนทดแทน
ปัจจัยเสี่ยง
อะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดไมเกรน
ปัจจัยบางประการอาจเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้อาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบ
- ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว ร้อยละ 90 ของผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนมักมีคนในครอบครัวล้วนมีประวัติการเจ็บป่วยด้วยไมเกรน
- ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง อาจเกิดขึ้นก่อนในช่วงที่มีรอบเดือน ระหว่างตั้งครรภ์และภาวะวัยทอง
- เพศหญิง เพศหญิงมีโอกาสเป็นไมเกรนมากว่าเพศชายถึง 3 เท่า
การวินิจฉัยและการรักษา
บทความนี้ไม่ได้ให้การวินิจฉัยโรคแต่อย่างใด โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคต่อไป
การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะไมเกรน
เพื่อการวินิจฉัยที่เหมาะสม แพทย์อาจใช้กระบวนการทดสอบดังต่อไปนี้
- ตรวจร่างกายและตรวจทางระบบประสาท
- ตรวจเลือด
- ตรวจซีทีสแกน
- ตรวจเอ็มอาร์ไอ
- เจาะตรวจน้ำไขสันหลัง
การรักษาการปวดศีรษะไมเกรน
อาการปวดศีรษะไมเกรนนั้นไม่สามารถรักษาได้ แต่ก็ยังมีทางเลือกการรักษาที่ช่วยคุณจัดการกับอาการปวดไมเกรน ได้แก่การรับประทานยาบรรเทาอาการปวดที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนโดยเฉพาะ ซึ่งควรรับประทานยาตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณเตือนว่ากำลังจะปวดศีรษะ จะได้ผลดีที่สุดยาที่ใช้ยารักษาอาการ โดยยารักษาอาการไมเกรน ได้แก่
- แอสไพริน
- ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
- ยาทริปเทน เช่น sumatriptan, rizatriptan , almotriptan และ zolmitriptan ยาเหล่านี้จะจำกัดการไหลเวียนของเส้นเลือดและระงับความเจ็บปวดในสมอง
- ยาเออร์กอต (Ergots) เช่น ยา ergotamine ที่มีคาเฟอีน, ergotamine, dihydroergotamine ยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์เพื่อลดอาการปวดศีรษะไมเกรนและมีฤทธิ์ยาวนานถึง 48 ชั่วโมง
- ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) ที่มีส่วนประกอบของนาโคติค (narcotics) เช่น ยาโคอิดีน (codeine) ยาที่มักใช้ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรงในขณะยาตัวอื่นไม่สามารถบรรเทาอาการได้ ยากลุ่มนี้อาจทำให้เสพติดและมักถูกนำมาใช้เป็นตัวเลือกสุดท้าย
ยาที่ใช้เพื่อป้องกันนั้นเป็นยาที่ดีที่สุด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะไมเกรนมากว่า 4 ครั้งต่อเดือน และในรายที่มีอาการรุนแรงยาวนานเกิน 12 ชั่วโมง ยาในกลุ่มนี้สามารถช่วยลดความถี่ ความรุนแรงและระยะเวลาการเกิดอาการไมเกรน
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองสำหรับอาการปวดศีรษะไมเกรน
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองนั้นอาจช่วยคุณเอาชนะอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ ด้วยวิธีการดังนี้
- ลองออกกำลังกายด้วยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การผ่อนคลายจะช่วยเยียวยาและบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้
- เทคนิคการผ่อนคลาย อาจะหมายถึงการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การทำสมาธิ และโยคะ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แต่อย่านอนมากเกินไป พักผ่อนนอนหลับให้พอเหมาะต่อคืน และควรเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดียวกันทุกวัน
- พักผ่อนและผ่อนคลาย หากเป็นไปได้ ควรพักผ่อนในที่มืด เงียบ เมื่อเริ่มมีอาการปวดศีรษะ ให้นำน้ำแข็งพันผ้าประคบบริเวณต้นคอ แล้วค่อยๆ นวดเบาๆ ที่หนังศีรษะบริเวณที่ปวด
บันทึกอาการปวดศีรษะอย่างต่อเนื่องแม้ว่าคุณจะพบคุณหมอแล้วก็ตาม การจดบันทึกอาการจะช่วยให้คุณได้ทราบว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คุณมีอาการไมเกรนและอะไรที่ช่วยบรรเทาอาการได้ดีที่สุด
หากมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยต่อไป
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด