backup og meta

รูขุมขน จำเป็นต้องทำความสะอาดเป็นพิเศษหรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 16/02/2022

    รูขุมขน จำเป็นต้องทำความสะอาดเป็นพิเศษหรือไม่

    รูขุมขน พบได้ทั่วผิวหนังแทบทุกส่วนของร่างกาย ทำหน้าที่เป็นช่องทางให้น้ำมันหรือซีบัมที่ผลิตจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังไหลมาหล่อเลี้ยงผิวหนังให้ชุ่มชื้น อย่างไรก็ตาม อาจพบปัญหาเกี่ยวกับรูขุมขน เช่น รูขุมขนอุดตัน รูขุมขนกว้าง โดยเฉพาะรูขุมขนบริเวณผิวหน้า จึงควรดูแลรูขุมขนให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพดังกล่าว

    วิธีดูแลผิวหน้าและรูขุมขนที่เหมาะสม

    วิธีจัดการกับรูขุมขนที่เหมาะสม อาจมีดังนี้

    • หากสภาพผิวปกติ ไม่เป็นสิวและรูขุมขนไม่ใหญ่ แค่ทำความสะอาดผิวหน้าตามปกติก็อาจเพียงพอแล้ว ควรล้างเบา ๆ ด้วยผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่อ่อนโยนและเหมาะกับสภาพผิว ไม่มีเม็ดสครับและส่วนผสมของสารเคมีที่ทำให้ผิวหน้าแห้ง เพราะอาจทำให้ผิวหน้าระคายเคือง และอาจทำให้รูขุมขนกว้างขึ้นได้ นอกจากนี้ ควรล้างหน้าด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น ไม่ควรใช้น้ำร้อน เพราะอาจทำให้ผิวแห้งและอักเสบ 
    • หลังล้างหน้า ให้ใช้ผ้าขนหนูขนนุ่มซับหน้าให้แห้ง ไม่ควรใช้ผ้าขนหนูถูใบหน้าไปมา เพราะอาจทำให้รูขุมขนระคายเคืองและอุดตัน จนรูขุมขนอักเสบ หรือเกิดสิวได้
    • หากเป็นสิว อาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดเอเอชเอ (อัลฟ่า ไฮดร็อกซี่) หรือกรดบีเอชเอ (เบต้า ไฮดร็อกซี่) ซึ่งอาจช่วยผลัดเซลล์ผิวได้อย่างอ่อนโยน ไม่ทำร้ายผิวหนัง และไม่ทำให้รูขุมขนระคายเคือง อย่างไรก็ดี ไม่ควรใช้เอเอชเอหรือบีเอชเอบ่อย หรือใช้ในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหน้าแห้ง ตกสะเก็ด หรือเป็นขุยได้
    • หากอยากให้รูขุมขนดูเล็กลง อาจใช้วิธีการขัดผิวด้วยผลึกคริสตัลขนาดเล็ก (Micro-Dermabrasion) เพื่อกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไปจากผิวหนังกำพร้าชั้นนอก และเผยให้เห็นเซลล์ผิวใหม่ ซึ่งอาจช่วยให้รูขุมขนดูเล็กลงได้ อย่างไรก็ตาม ควรเข้ารับการดูแลรูขุมขนและผิวหน้าด้วยวิธีนี้ที่สถานพยาบาลที่เชื่อถือได้ และควรดำเนินการโดยคุณหมอผิวหนังเท่านั้น ไม่ควรเองเด็ดขาด และไม่ควรทำเกินเดือนละ 1 ครั้ง เพราะอาจทำให้ผิวหน้าระคายเคือง และเสียหายได้

    วิธีดูแลผิวหน้าที่อาจทำร้าย รูขุมขน

    อุปกรณ์และวิธีดูแลผิวหน้าดังตัวอย่างต่อไปนี้ อาจส่งผลเสียต่อรูขุมขนได้ จึงควรหลีกเลี่ยง หรือปรึกษาคุณหมอผิวหนังทุกครั้งหากสนใจใช้งาน

  • การอบไอน้ำ การเพิ่มความร้อนให้กับผิวหน้าอาจทำให้มองเห็นเส้นเลือดได้ชัด และทำให้เกิดโรคโรซาเชีย (Rosacea) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดผื่นแดงบนผิวหน้า นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ผิวหน้าสูญเสียน้ำมันตามธรรมชาติ จนผิวหน้าแห้งหรือขาดน้ำได้ 
  • การสครับผิวหน้า เจลล้างหน้า หรือครีมล้างหน้า ที่มีส่วนผสมของผงขัดผิวเม็ดเล็ก ๆ หรือที่เรียกว่าเม็ดบีดส์ หรือเม็ดสครับ อาจเสียดสีผิวหน้าจนระคายเคือง และทำให้รูขุมขนบวม อักเสบ หรืออุดตันได้
  • แปรงทำความสะอาดผิวหน้า การใช้แปรงขัดทำความสะอาดผิวหน้า อาจทำให้ผิวหนังและรูขุมขนระคายเคือง เสี่ยงเกิดปัญหารูขุมขนอุดตัน หรืออักเสบได้
  • แผ่นขจัดสิวเสี้ยน โคลนพอกหน้าและแผ่นขจัดสิวเสี้ยนทำงานโดยการดึงสิ่งที่อยู่บนผิวหนัง หรือสะสมอยู่ในรูขุมขนออกไป ซึ่งอาจส่งผลให้ผิวหนังและรูขุมขนระคายเคืองได้
  • เรื่องที่อาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับรูขุมขน

    • รูขุมขนเปิดและปิดเองได้ รูขุมขนไม่ได้มีกล้ามเนื้ออยู่โดยรอบ จึงไม่สามารถเปิดปิดเองได้ อย่างไรก็ตาม การทำความสะอาดรูขุมขนด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน อาจช่วยทำให้รูขุมขนสะอาดและดูกระชับขึ้นได้
    • สิวหัวดำคือสิ่งสกปรก จุดดำเล็ก ๆ บนจมูกและแก้มไม่ใช่สิ่งสกปรก แต่เป็นผลจากการที่น้ำมันบนผิวหนังหรือซีบัมทำเกิดปฎิกิริยาออกซิเดชันกับอากาศ ซึ่งอาจป้องกันหรือกำจัดได้ด้วยการใช้วิธีขัดลอกผิว โดยใช้เคลนเซอร์ที่มีส่วนผสมอย่างกรดซาลิไซลิค ซึ่งจะช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดลอกออกไป
    • สามารถกำจัดรูขุมขนกว้างได้ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีทางการแพทย์ที่สามารถกำจัดรูขุมขนกว้างได้ แต่การใช้สกินแคร์ที่เหมาะสม รวมถึงการขจัดน้ำมัน สิ่งสกปรก และเครื่องสำอางที่อุดตันอยู่ในรูขุมขนออกไป ก็อาจทำให้รูขุมขนดูเล็กลงได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 16/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา