ไอโอดีน (Iodine) เป็นสารอาหารสำคัญของร่างกายที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโต การขาดไอโอดีนจะส่งผลที่ไม่ดีต่อสุขภาพหลายประการ ทั้งโรคคอพอก ภาวะไทรอยด์ รวมถึงความบกพร่องทางสติปัญญาด้วย ซึ่งวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยเพิ่มสารไอโอดีนให้แก่ร่างกายนั่นก็คือการเลือกรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน มาดูกันว่ามีอาหารประเภทใดบ้าง ที่จัดว่าเป็น อาหารเพิ่มไอโอดีน ทาง Hello คุณหมอ นำมาฝากกันในบทความนี้ค่ะ
ประโยชน์ของไอโอดีน
ไอโอดีนดีต่อสมอง
การรับประทานไอโอดีนเป็นสิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะถ้าหากทารกในครรภ์ได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอจะมีความเสี่ยงของภาวะทางสมอง เสี่ยงที่จะเกิดความบกพร่องทางสติปัญญา (Mental retardation) โรคเอ๋อ (Cretinism)
ไอโอดีนกับไทรอยด์
สารไอโอดีน มีส่วนช่วยป้องกันร่างกายจากภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอ ทำให้เสี่ยงต่ออาการทางสุขภาพต่างๆ ทั้งการขึ้นลงของน้ำหนัก การขาดสมาธิ เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า หรือความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย
ไอโอดีนช่วยป้องกันโรคคอพอก
โรคคอพอก (Goiter) เกิดจากการที่ร่างกายมีระดับของไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำเนื่องจากการขาดสารไอโอดีน ทำให้ต่อมไทรอยด์ต้องทำงานหนักเพื่อที่จะผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จนกระทั่งส่งผลให้ต่อมไทรอยด์เกิดอาการโตขึ้นมาจนกลายเป็นโรคคอพอกแบบที่เรารู้จักกัน
ไอโอดีนช่วยป้องกันภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด (Congenital Hypothyroidism)
ในระหว่างที่ตั้งครรภ์หากคุณแม่รับประทานไอโอดีนไม่เพียงพอหรือน้อยมากจนเกินไป เด็กที่เกิดมาอาจถูกพบว่ามีภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาของระดับสติปัญญาเมื่อโตขึ้น แต่สามารถที่จะแก้ไขให้อาการดีขึ้นได้เมื่อเด็กได้รับปริมาณของ สารไอโอดีน ที่เพียงพอ
ไอโอดีนช่วยป้องกันสารกอยโตรเจน (Goitrogen)
สารกอยโตรเจน (Goitrogen) เป็นสารที่จะรบกวนการดูดซึมของ สารไอโอดีน และอาจส่งผลรบกวนต่อกระบวนการทำงานของไอโอดีนที่ต่อมไทรอยด์ด้วย แต่ปัญหาเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น หากต่อมไทรอยด์และระดับของไทรอยด์ฮอร์โมนของคุณอยู่ในระดับปกติ ซึ่งการรับประทานสารไอโอดีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะช่วยป้องกันภาวะดังกล่าวได้
ไอโอดีนช่วยป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน (Iodine Deficiency)
หากร่างกายมีระดับของ สารไอโอดีน ที่ต่ำหรือน้อยมากจนเกินไป ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยตรงเลยนั่นก็คือ โรคขาดสารไอโอดีน ซึ่งเมื่อเป็นโรคนี้ก็จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะไทรอยด์ประเภทต่างๆ นั่นเอง
อาหารเพิ่มไอโอดีน มีอะไรบ้าง
สาหร่ายทะเล
นอกจากสาหร่ายทะเลจะได้รับการจัดอันดับว่าเป็นอาหารที่ให้แคลอรีต่ำที่เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินสำคัญต่างๆ แล้ว สาหร่ายทะเลก็ยังอุดมไปด้วย สารไอโอดีน จัดว่าเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารให้ไอโอดีนจากธรรมชาติที่ดีที่สุดเลยทีเดียว โดยสามารถเลือกรับประทานได้ทั้ง สาหร่ายคอมบุ (Kombu) สาหร่ายวากาเมะ (Wakame) และโนริ (Nori)
ปลาค็อด (Cod)
หากคุณชอบรับประทานปลา ขอแนะนำปลาค็อด ซึ่งเป็นปลาทะเลที่ให้ไขมันและแคลอรีในปริมาณต่ำ ให้สารอาหารที่หลากหลายรวมถึง สารไอโอดีน ด้วย
ผลิตภัณฑ์จากนม
เป็นที่รู้กันดีว่าผลิตภัณฑ์จากนมทั้ง นมสด โยเกิร์ต เนย ชีส เป็นแหล่งของแคลเซียมและโปรตีนที่สำคัญมาก แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ผลิตภัณฑ์จากนมก็ยังให้สารไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอกับร่างกายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์จากนมที่ต่างประเภทกัน ก็จะให้ปริมาณของไอโอดีนที่ต่างกันไป
เกลือเสริมไอโอดีน
เกลือเสริมไอโอดีน เป็นอีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยเพิ่มสารไอโอดีนให้แก่ร่างกาย การปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหารที่ถูกปรุงด้วยไอโอดีนสามารถช่วยให้ร่างกายมีไอโอดีนอย่างเพียงพอ
กุ้ง
อาหารทะเลอย่างเช่นกุ้งนั้น เป็นอีกหนึ่งอาหารที่ไม่ควรพลาดเพราะนอกจากจะให้แคลอรีต่ำแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งของโปรตีนที่ดี รวมถึงสารอาหารสำคัญที่ขาดไม่ได้อย่างฟอสฟอรัส ธาตุซีลีเนียม และ สารไอโอดีน การรับประทานกุ้งประมาณ 3 ออนซ์ จะให้สารไอโอดีนสูงถึง 23 เปอร์เซ็นต์ที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
ปลาทูน่า
อีกหนึ่งอาหารที่ให้แคลอรีต่ำแต่มีโปรตีนสูงอย่างปลาทูน่า ก็เป็นแหล่งอาหารชั้นดีที่ให้สารไอโอดีนด้วย การรับประทานปลาทูน่า 3 ออนซ์จะให้ปริมาณของสารไอโอดีนสูงถึง 17 ไมโครกรัม
ไข่
อาหารใกล้ตัวที่หารับประทานได้ง่ายอย่างไข่ ก็เป็นอีกแหล่งของ สารไอโอดีน ที่ดีมาก การรับประทานไข่ฟองใหญ่ 1 ฟอง ให้ปริมาณของสารไอโอดีนมากถึง 24 ไมโครกรัม
ลูกพรุน
ลูกพรุนเป็นแหล่งของวิตามินและสารอาหารที่มีประโยชน์สูงมาก ทั้งวิตามินเค วิตามินเอ โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก มีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี และยังให้ไอโอดีนที่สำคัญต่อร่างกายอีกด้วย การรับประทานลูกพรุน 5 ลูก ให้ปริมาณไอโอดีนประมาณ 13 ไมโครกรัม
ถั่วลิมา (Lima Beans)
ถั่วลิมา เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเปรู ให้คุณค่าทางสารอาหารสูงและหลากหลาย ทั้งไฟเบอร์ แมกนีเซียม และโฟเลตซึ่งดีต่อสุขภาพของหัวใจ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ สารไอโอดีน โดยถั่วลิมาปรุงสุกหนึ่งถ้วยให้สารไอโอดีนประมาณ 165 ไมโครกรัม
[embed-health-tool-bmr]