backup og meta

ไขข้อสงสัย ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่คุณควรรู้!

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 26/06/2020

    ไขข้อสงสัย ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่คุณควรรู้!

    หลายคนคงจะรู้จักกรดไขมันโอเมก้า 3 กันดีอยู่แล้ว ว่าเป็นสารอาหารสำคัญที่ดีต่อสุขภาพและจำเป็นต่อการทำงานต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยในเรื่องพัฒนาการของสมอง บำรุงหัวใจ และช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่เรื่องที่คุณรู้เกี่ยวกับโอเมก้า 3 นั้นถูกต้องแค่ไหน วันนี้ Hello คุณหมอ จะมาช่วยไขข้อสงสัยและ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโอเมก้า 3 เพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่คุณผู้อ่านทุกท่าน

    ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโอเมก้า 3 (Omega 3) ที่พบได้บ่อย

    ความเข้าใจผิดที่ 1 โอเมก้า 3 ยิ่งกินมาก ๆ ก็ยิ่งดี

    เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 3 นั้นขึ้นชื่อเรื่องประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพมากมาย ทำให้หลาย ๆ คนจึงได้พยายามบริโภคอาหารที่มีโอเมก้า 3 เยอะๆ และรับประทานน้ำมันปลาในปริมาณมากๆ เพราะหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากโอเมก้า 3 อย่างเต็มที่

    ในความจริงแล้ว การบริโภคกรดไขมันโอเมก้า 3 มากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ตกเลือด ความดันโลหิตต่ำ โรคหลอดเลือดสมอง ลำไส้อักเสบ ตลอดไปจนถึงเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้

    งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Prostaglandins, Leukotrienes & Essential Fatty Acids แสดงให้เห็นว่า แม้ว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 นั้นจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจและช่วยต้านอักเสบได้

    การรับประทานโอเมก้า 3 มากเกินไป อาจส่งผลให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเปลี่ยนแปลงไป และอาจนำไปสู่การไม่ตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้

    องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (The Food and Drug Administration : FDA) ได้ให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารเสริมโอเมก้า 3 ว่า ไม่ควรรับประทานมากกว่าวันละ 3,000 มก. ในขณะที่ทางองค์การความปลอดภัยทางด้านอาหารแห่งยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) ก็ให้คำแนะนำว่า การรับประทานอาหารเสริมโอเมก้า 3 ไม่เกินกว่าวันละ 5,000 มก. นั้นยังถือว่าปลอดภัย

    ความเข้าใจผิดที่ 2 กินอาหารเสริมโอเมก้า 3 ดีกว่ากินอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง

    หลายคนอาจจะคิดว่า การรับประทานอาหารเสริมที่มีโอเมก้า 3 เข้มข้น จะให้ผลดีกว่าการรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง เพราะทำให้ร่างกายได้รับโอเมก้า 3 อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังสะดวกสบาย รับประทานง่าย แต่ความจริงแล้ว ทางเลือกในการรับสารอาหารต่าง ๆ รวมไปจนถึงโอเมก้า 3 ที่ดีที่สุด คือการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูง

    มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า การรับประทานอาหารเสริมน้ำมันปลา หรืออาหารเสริมโอเมก้า 3 นั้น ไม่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ต่อสุขภาพ เมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง เช่น ไม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ หรือไม่แสดงให้เห็นผลดีต่อสุขภาพอื่น ๆ ในขณะที่การรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง กลับสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้จริง

    องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organisation) แนะนำว่าในแต่ละสัปดาห์ ควรรับประทานอาหารทะเลที่มีโอเมก้า 3 สูง อย่างน้อย 1-2 มื้อ หรือประมาณ 250 มก. ต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายได้รับโอเมก้า 3 เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย คือ 1,750 มก. ต่อสัปดาห์ โดยแหล่งของโอเมก้า 3 จากอาหารที่ดีที่สุด คือปลาที่มีไขมันสูง เช่น เช่น แซลมอน ปลาทู แอนโชวี่ ซาดีน หรือปลาเทราท์ เป็นต้น

    ความเข้าใจผิดที่ 3 คนที่สุขภาพดีไม่จำเป็นต้องกินโอเมก้า 3 มีแค่ผู้ป่วยโรคหัวใจเท่านั้นที่ควรกิน

    โอเมเก้า 3 นั้นเป็นกรดไขมันจำเป็น ที่สำคัญต่อการทำงานและพัฒนาการต่าง ๆ ของร่างกายและสมอง ไม่ใช่แค่เพียงสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น กรดไขมันโอเมก้า 3 นั้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยบำรุงสุขภาพของดวงตา ลดอาการของโรคสมาธิสั้นในเด็ก ต้านอักเสบ และช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลได้

    หากร่างกายได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดปัญหาต่อผิว เช่น ผิวแห้ง แตก หยาบกร้าน และอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคผิวหนังมากขึ้น นอกจากนี้ความเข้มข้นของระดับ DHA ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายก็อาจจะลดลงด้วยเช่นกัน

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกคนรวมไปจนถึงผู้ที่มีสุขภาพดีนั้นควรจะรับประทานโอเมก้า 3 ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ผู้ที่มีสภาวะบางอย่าง เช่น ผู้ที่ตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคหัวใจ อาจจะต้องบริโภคโอเมก้า 3 มากกว่าความต้องการตามปกติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันโรคให้ดียิ่งขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 26/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา