backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

ขูดหินปูน เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี

ขูดหินปูน เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี

ขูดหินปูน คือ การใช้เครื่องมือของทันตแพทย์โดยเฉพาะในการกำจัดคราบหินปูนที่อยู่บริเวณขอบเหงือก ซอกฟัน ที่อาจก่อให้เกิดฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ การขูดหินปูน จะช่วยป้องกันฟันผุ ลดการเกิดกลิ่นปากที่รุนแรง และลดปัจจัยในการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากอื่น ๆ ได้ 

ประโยชน์ของการขูดหินปูน

  • ช่วยป้องกันโรคเหงือกและการสูญเสียฟัน

คราบหินปูนที่ก่อตัวอยู่บนผิวฟัน และซอกฟัน เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งทำให้กระดูกรอบฟันและขากรรไกรถูกทำลาย จนอาจนำไปสู่การสูญเสียฟันได้ การขูดหินปูนเป็นประจำ เพื่อขจัดคราบพลัค (Plaque) คราบหินปูนสะสม อาจช่วยป้องกันโรคเหงือกและการสูญเสียฟันได้

  • การขูดหินปูน ช่วยป้องกันฟันผุ

คราบพลัคและคราบหินปูนที่สะสม อาจทำลายเคลือบฟันและทำให้ฟันผุได้การทำความสะอาดฟันทุกวันอาจช่วยลดการเกิดคราบพลัคได้ แต่คราบหินปูนสามารถกำจัดได้โดยการขูดหินปูนด้วยเครื่องมือทันตกรรมเท่านั้น ไม่สามารถแปรงออกไปได้ 

  • ช่วยป้องกันกลิ่นปาก

นอกจากการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน การขูดหินปูนก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยอาจช่วยลดกลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์

  • ช่วยเพิ่มรอยยิ้มและความมั่นใจ

หลังจากขูดหินปูน จะรู้สึกถึงสุขภาพช่องปากที่ดี สะอาด เศษอาหารที่อยู่ตามซอกฟัน ซอกเหงือกได้หลุดออกไป อาจสร้างความมั่นใจในการยิ้ม พูด และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้มากขึ้น

ประโยชน์ด้านสุขภาพโดยรวม

การขูดหินปูนไม่เพียงแต่จะทำให้สุขภาพปากและฟันแข็งแรง แต่ยังอาจช่วยเสริมสุขภาพโดยรวม และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ เช่น

  • โรคปอดอักเสบ ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การขูดหินปูนช่วยลดระดับของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของปอดติดเชื้อ และกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยขูดหินปูนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไปขูดหินปูนปีละ 2 ครั้ง ถึง 86%
  • ภาวะหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง โดยผลงานวิจัยจากประเทศไต้หวันชิ้นหนึ่ง ที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกว่าแสนคน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เข้ารับการขูดหินปูนโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยขูดหินปูนเลย ถึง 24% และ 13% ตามลำดับ
  • โรคเบาหวาน หากเป็นโรคเหงือกอักเสบรุนแรง อาจจะทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น และอาจนำไปสู่โรคเบาหวานได้ หรือหากเป็นเบาหวานอาจทำให้อาการของรุนแรงขึ้นได้แต่ถ้าหากขูดหินปูนอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง อาจช่วยลดความเสี่ยงได้

ขั้นตอนการขูดหินปูน

ขั้นตอนของการขูดหินปูนอาจมีดังต่อไปนี้ 

1. ตรวจสุขภาพช่องปาก

ก่อนเริ่มขูดหินปูน ทันตแพทย์จะสำรวจภายในช่องปาก โดยใช้กระจกสำหรับส่องปากที่ช่วยสะท้อนให้เห็นบริเวณฟันที่ไม่สามารถมองเห็นตรง ๆ ได้ เพื่อดูว่าช่องปากมีปัญหาหรือไม่ เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ เหงือกร่น บางอาการอาจต้องรักษาก่อน จึงจะขูดหินปูนได้ หรือหากไม่มีปัญหาร้ายแรงใดๆ ทันตแพทย์จะลงมือขูดหินปูนให้

2. ขูดหินปูน

ทันตแพทย์จะเริ่มขูดหินปูนและคราบพลัคที่เกาะอยู่บนฟัน ซอกฟัน และร่องเหงือก โดยใช้อุปกรณ์ขูดหินปูน (Scaler) ร่วมกับเครื่องมือทำฟันอื่น ๆ โดยระยะเวลาที่ใช้ในการขูดหินปูนจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนคราบหินปูนที่เกาะสะสม หากยิ่งมีมากอาจจะต้องใช้เวลาขูดนาน แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที

3. ขัดทำความสะอาดฟันด้วยยาสีฟัน

หลังจากขูดหินปูนและขจัดคราบพลัคแล้ว ทันตแพทย์จะขัดทำความสะอาดฟันอีกครั้ง ด้วยยาสีฟันชนิดพิเศษ เพื่อขจัดหินปูนและคราบพลัคที่อาจยังตกค้าง เพื่อทำให้เหงือกและฟันสะอาดมากยิ่งขึ้น

4. ขัดฟันด้วยไหมขัดฟัน

เมื่อขัดฟันด้วยยาสีฟันเรียบร้อยทันตแพทย์จะใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดบริเวณซอกฟันโดยรอบอีกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณที่ทำความสะอาดเองได้ยาก และเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกตามไรฟัน

5. บ้วนปาก

หลังขูดหินปูนและขัดฟันเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะให้บ้วนปากด้วยน้ำผสมฟลูออไรด์ เพื่อชะล้างหินปูน และสิ่งตกค้างต่าง ๆ ออกจากเหงือกและฟัน 

6. เคลือบฟลูออไรด์

ขั้นตอนสุดท้ายของการขูดหินปูนโดยทันตแพทย์จะเคลือบฟลูออไรด์ เพื่อช่วยให้เคลือบฟันแข็งแรงขึ้น และอาจช่วยชดเชยการสูญเสียแร่ธาตุของฟัน ลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ และชะลอการก่อตัวของหินปูนและคราบพลัค

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการขูดหินปูนอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับสุขภาพช่องปากและสภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ หากเป็นเด็ก ทันตแพทย์อาจแนะนำให้เคลือบร่องฟัน (Sealant) เพื่อป้องกันฟันแท้ผุ

ความเสี่ยงในการขูดหินปูน  

การขูดหินปูน อาจส่งผลข้างเคียงบางประการ เช่น 

  • อาการเจ็บปวด เนื่องจากเมื่อเอาคราบหินปูนออก ผิวรากฟันอาจบางลง ซึ่งอาการอาจบรรเทาลงภายใน 2-3 ชั่วโมง 
  • เสียวฟัน  มีความไวต่อความรู้สึก ขณะรับประทานอาหารที่เป็นของร้อน หรือเย็น ในช่วง 2-3 วันหลังจากขูดหินปูน
  • เหงือกบวม หรือเลือดออกขณะแปรงฟัน อาการอาจหายภายใน 2-3 วัน เนื่องจากขูดหินปูนอาจทำให้คอฟันไม่แข็งแรงอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู 

อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่มักหายภายใน 2-3 วัน หรือไม่เกิน 2 สัปดาห์หลังขูดหินปูน หากมีอาการแย่ลง หรือมีไข้ ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์

วิธีป้องกันและขจัดคราบหินปูนเบื้องต้น

หลังจากขูดหินปูน การดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อป้องกันคราบหินปูนและคราบพลัคก่อตัว อาจสามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  • แปรงฟัน ลิ้น เหงือกให้ทั่ว อย่างน้อย 2 นาที โดยควรแปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน คือ ตอนเช้า และก่อนเข้านอน
  • ใช้ไหมขัดฟันหลังกินอาหาร หรืออย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • หลังกินอาหาร หากไม่สะดวกแปรงฟัน อาจเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของไซลิทอล (Xylitol) หรือซอร์บิทอล (Sorbitol) เพราะมีผลการศึกษาเผยว่า ช่วยป้องกันการก่อตัวของคราบพลัคและหินปูน
  • ลดหรืองดอาหารที่มีน้ำตาล อาหารจำพวกแป้ง เพราะหากกินแล้วไม่แปรงฟันให้สะอาด อาจทำให้แป้งและน้ำตาลเกาะอยู่บนผิวฟัน และกลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย จนแบคทีเรียเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้น และปล่อยสารที่ทำลายฟัน ทำให้ฟันผุ เหงือกอักเสบ
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินที่อาจสามารถกระตุ้นให้แบคทีเรียบนผิวฟันเจริญเติบโต และอาจทำให้ฟันเหลือง เกิดคราบหินปูน

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dental Cleanings May Help Keep Lungs Clean Too. https://www.webmd.com/oral-health/news/20161027/dental-cleanings-may-help-keep-lungs-clean-too. Accessed January 6, 2020

Annual Dental Cleaning May Be Enough for Some. https://www.webmd.com/oral-health/news/20130610/annual-dental-cleaning-may-be-enough-for-some-study. Accessed January 6, 2020

What Are The Risks Of Scaling & Root Planing?. https://www.wakedentalcare.com/scale-and-root-planing-risks/. Accessed January 6, 2020

Professional dental cleanings may reduce risk of heart attack, stroke. https://www.sciencedaily.com/releases/2011/11/111113141256.htm. Accessed January 6, 2020

How Regular Teeth Cleaning Benefit Overall Health. https://forestparkdental.com/regular-teeth-cleaning-benefit-overall-health/. Accessed January 6, 2020

Scaling and Root Planing. https://www.mouthhealthy.org/en/az-topics/s/scaling-and-root-planing. Accessed October 1, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/10/2021

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

avatar

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 01/10/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา