ตา หรือ ดวงตา เป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยทำงานร่วมกับสมองเพื่อประมวลผลทำให้รับทราบต่อสิ่งที่มองเห็น ดังนั้น จึงควรดูแลสุขภาพดวงตาตัวเองให้ดี เพราะหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นอาจส่งผลให้การมองเห็นเปลี่ยนแปลงหรือสูญเสียการมองเห็นได้
[embed-health-tool-heart-rate]
ดวงตา คืออะไร
ดวงตา คือ อวัยวะที่มีลักษณะเป็นวงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และมีรูม่านตาตรงกลาง รวมถึงตาขาวล้อมรอบ ซึ่งดวงตาอาจมีสีที่แตกต่างกันเช่น สีน้ำตาล สีฟ้า สีเขียว โดยขึ้นอยู่กับพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาจากคนในครอบครัว
การมองเห็นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีแสงจากวัตถุผ่านกระจกตา รูม่านตา เลนส์ตา ไปตกกระทบที่จอประสาทตา เซลล์ของจอประสาทตาจะเปลี่ยนลำแสงเป็นคลื่นไฟฟ้าที่นำไปสู่สมอง จากนั้นสมองจะแปลผลให้กลายเป็นภาพ ทำให้สามารถมองเห็นเป็นภาพและสามารถรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้
ส่วนประกอบของดวงตามีอะไรบ้าง
ส่วนประกอบของดวงตา มีดังต่อไปนี้
- ตาขาว เป็นส่วนสีขาวที่ล้อมรอบกระจกตา เนื้อเยื่อภายในลูกตาไปจนถึงเส้นประสาทตาด้านหลังดวงตา และคอยควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา
- รูม่านตา มีลักษณะเป็นวงกลมขนาดเล็กอยู่ตรงกลางดวงตา ทำหน้าที่ให้แสงผ่านเข้าสู่จอประสาทตาหรือจุดรับภาพ
- ม่านตา เป็นส่วนหนึ่งของดวงตาที่มีสีแตกต่างกันตามพันธุกรรมของคนในครอบครัว ทำหน้าที่คอยควบคุมปริมาณของแสงเข้าสู่รูม่านตา
- กระจกตา มีลักษณะโค้งใสครอบรูม่านตา มีหน้าที่ในการเบี่ยงเบนแสงให้ตกกระทบเข้าไปด้านในดวงตา
- เลนส์ตา มีลักษณะใสอยู่บริเวณหลังม่านตา ทำหน้าที่ในการช่วยหักเหแสงไปยังจอรับภาพของจอประสาทตา ซึ่งทำงานควบคู่กับกระจกตา
- จอประสาทตา มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ประกอบด้วยเซลล์รับแสงจำนวนมาก ที่ทำหน้าที่ในการแปลงแสงเป็นคลื่นไฟฟ้าก่อนจะถูกส่งไปยังสมองเพื่อแปลผลเป็นภาพ
- ต่อมน้ำตา จะอยู่บริเวณรอบดวงตา ทำหน้าที่ผลิตน้ำตาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา
- น้ำวุ้นลูกตาด้านหน้าและด้านหลัง ที่อยู่ระหว่างม่านตาและตรงกลางดวงตา มีหน้าที่ช่วยคงสภาพรูปทรงของดวงตา
- เส้นประสาทตา จะอยู่บริเวณด้านหลังดวงตาทำหน้าที่ในการรับภาพจากจอตาส่งไปยังสมอง
- เยื่อบุตา เป็นเยื่อบุบาง ๆ ที่คลุมทั่วทั้งตาขาว โดยเว้นกระจกตาและม่านตาไว้ ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา
- เปลือกตาและขนตา เป็นอวัยวะของดวงตาที่อยู่ภายนอก มีหน้าที่ป้องกันฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา
โรคดวงตาที่ควรระวัง มีอะไรบ้าง
โรคดวงตาที่ควรระวัง มีดังนี้
โรคซีวีเอส หรือ โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome)
โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม มีสาเหตุมาจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานมากเกินไปโดยไม่กระพริบหรือกระพริบตานาน ๆ ครั้ง นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมไม่อำนวยความสะดวก ที่ส่งผลให้ดวงตาทำงานหนักขึ้น เช่น แสงสว่างน้อย สภาพอากาศเย็น
อาการของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม มีดังนี้
- ปวดตาและระคายเคืองตา
- ตาพร่ามัว
- มองเห็นสิ่งรอบตัวเป็นภาพซ้อน
- ตาแห้งและตาแดง
- ปวดศีรษะ
- ปวดคอและหลัง
วิธีรักษาโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม อาจทำได้ดังนี้
- พักสายตาจากหน้าจอ โดยใช้กฎ 20-20-20 คือ การทำงานเป็นเวลา 20 นาที และพักสายตาจากหน้าจอเป็นเวลา 20 วินาทีหรือมากกว่านั้นและนั่งให้ห่างจากหน้าจอ 20 ฟุต
- สวมแว่นตากรองแสงสีฟ้าจากหน้าจอ เพื่อป้องกันการทำลายจอประสาทตา
- ปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศไม่ให้เย็นจนเกินไปเพื่อป้องกันตาแห้ง แสบตาและระคายเคือง
- ใช้น้ำตาเทียมหยอดดวงตาเมื่อรู้สึกว่าตาแห้ง
- ควรกระพริบตาบ่อย ๆ เพื่อผลิตน้ำตาเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาป้องกันตาแห้ง
- จัดโต๊ะทำงานใหม่โดยให้หน้าจอห่างจากสายตาประมาณ 20-28 นิ้ว และปรับหน้าจอให้อยู่ต่ำจากสายตาเล็กน้อย
- ปรับแสงสว่างให้พอดี ระวังแสงสะท้อนกระทบกับหน้าจอ หรืออาจซื้อฟิล์มติดหน้าจอที่ช่วยกรองแสงสีฟ้า ลดแสงสะท้อน ที่อาจช่วยให้การมองเห็นขณะทำงานดีขึ้น
โรคตาแดง
โรคตาแดง คือการอักเสบของเยื่อบุตาโดยอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย สารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา ที่นำไปสู่โรคตาแดง โดยอาจสังเกตอาการได้ดังนี้
- ตาแดงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
- อาการคัน ระคายเคืองในดวงตา
- รู้สึกแสบตา
- ไม่สามารถลืมตาได้และอาจมีน้ำตาซึม
ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็วหากมีอาการตาพร่ามัว ตาไวต่อแสง ปวดตาและตาแดงเข้มมากเกินไป เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อกระจกตาและการมองเห็นได้
การรักษาโรคตาแดง อาจทำได้ดังนี้
- ใช้น้ำตาเทียมในการทำความสะอาดดวงตา
- ประคบเย็นหรือประคบอุ่นที่ดวงตา หากมีอาการตาแดงทั้งสองข้าง ควรแยกผ้าในการประคบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายจากดวงตาข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง
- ไม่ใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าอาการตาแดงจะหายสนิท
- สำหรับผู้ที่มีอาการตาแดงจากสารก่อภูมิแพ้ ควรรักษาด้วยการรับประทานยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาสเตียรอยด์ หรืออาจใช้เป็นยาแก้แพ้และยาต้านการอักเสบในรูปแบบหยอดยา ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา เพื่อช่วยบรรเทาอาการเยื่อบุตาอักเสบ
โรคต้อหิน
โรคต้อหิน คือ โรคดวงตาที่เกิดจากการสะสมของของเหลวไหลเวียนอยู่ภายในดวงตามากเกินไป ส่งผลให้ความดันในลูกตาสูง ทำให้เส้นประสาทตาเสียหายหรือเสื่อมลงจนกระทบต่อการมองเห็น นำไปสู่โรคต้อหิน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
- โรคต้อหินมุมเปิด เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด โดยม่านตาและกระจกตายังคงเปิดอยู่ แต่ส่วนอื่น ๆ ของดวงตาปิดทำให้มีการระบายของเหลวในดวงตาได้ไม่ดี ส่งผลให้ความดันในลูกตาค่อย ๆ เพิ่มขึ้น สังเกตได้จากการมองเห็นเปลี่ยนแปลง
- โรคต้อหินมุมปิด เกิดจากม่านตาโป่งพองปิดกั้นการระบายของเหลวบางส่วน ส่งผลให้ของเหลวไม่สามารถไหลเวียนได้ และทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากอาการปวดศีรษะรุนแรง ปวดตา ตาแดง มองเห็นเป็นภาพซ้อน มองเห็นแสงไฟเป็นวงแหวน
- โรคต้อหินอาการปกติ ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากการสะสมไขมันในหลอดเลือดแดงที่ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงดวงตา และทำให้จอประสาทตาเสียหาย โดยสังเกตได้จากอาการตาพร่ามัว และสูญเสียการมองเห็นวัตถุด้านข้าง
- โรคต้อหินในทารก อาจเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีแรกหลังคลอด เนื่องจากเด็กทารกอาจยังมีการพัฒนาของดวงตาไม่สมบูรณ์ ทำให้การระบายของเหลวถูกปิดกั้น ที่สังเกตได้จากอาการปวดศีรษะ กระพริบตาถี่ขึ้น ดวงตาขุ่นมัว น้ำตาไหลโดยไม่ร้องไห้
- โรคต้อหินชนิดเม็ดสี เกิดจากเม็ดสีหลุดออกจากม่านตาและมีการปิดกั้นการระบายของเหลว ทำให้ความดันในดวงตาเพิ่มขึ้น โดยสังเกตได้จากมองเห็นแสงไฟเป็นวงแหวน สายตาพร่ามัวและสูญเสียการมองเห็นด้านข้าง
การรักษาโรคต้อหิน มีดังนี้
- ยากลุ่มพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เพื่อช่วยระบายของเหลวออกจากดวงตา ซึ่งอาจช่วยลดความดันในดวงตาได้
- ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker) เพื่อช่วยลดการผลิตของเหลวในดวงตา
- ยากลุ่มแอลฟา-อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Alpha-adrenergic Agonists) ใช้เพื่อช่วยรักษาภาวะความดันโลหิตสูงและลดความดันภายในดวงตา
- สารยับยั้งคาร์บอนิกแอนไฮเดรส (Carbonic Anhydrase Inhibitors) เพื่อช่วยลดการผลิตของเหลวในดวงตาแต่ควรใช้เพียงวันละ 2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด
- สารยับยั้งโนไคเนส (Rho Kinase Inhibitor) เพื่อช่วยลดการทำงานของเอนไซม์โรไคเนสที่ทำหน้าที่ในการผลิตของเหลวในดวงตา
- การผ่าตัด เช่น การเลเซอร์ การผ่าตัดแบบสอดท่อ เพื่อระบายของเหลวในดวงตาออก ลดกาสะสมของเหลวในดวงตาที่ทำให้เกิดความดันในดวงตาสูง
โรคต้อกระจก
โรคต้อกระจก เกิดจากโปรตีนหรือเส้นใยในเลนส์ตาเสื่อมสภาพทำให้การมองเห็นเปลี่ยนไปและมีดวงตาที่ขุ่นมัว โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากอายุที่มากขึ้น การใช้ยาสเตียรอยด์ในระยะยาว โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง การบาดเจ็บที่ดวงตา การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เป็นต้น
อาการของโรคต้อกระจกมีดังนี้
- เลนส์ตาขุ่นมัวที่อาจเกิดขึ้นบริเวณตรงกลางดวงตา ขอบเลนส์ตาและด้านหลังเลนส์ตา
- มองเห็นสิ่งรอบตัวไม่ชัดเจนเป็นภาพเบลอ โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- ตาไวต่อแสง
- ขอบดวงตามีสีเหลืองหรือมีสีซีด
การรักษาโรคต้อกระจก อาจทำได้ด้วยการผ่าตัดเพื่อกำจัดต้อออกจากเลนส์ตา และลดการลุกลามของต้อกระจก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นและเพิ่มคุณภาพชีวิตในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้สะดวกมากขึ้น
โรคต้อเนื้อ
โรคต้อเนื้อ อาจเกิดจากสารระคายเคืองเข้าสู่ดวงตา ตาแห้งบ่อย และได้รับรังสียูวีจากแสงแดดเข้าสู่ดวงตามากเกินไป ส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณตาขาวเจริญเติบโตผิดปกติ แต่ไม่พัฒนาเป็นมะเร็ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
อาการของโรคต้อเนื้อ มีดังนี้
- รู้สึกเหมือนมีบางอย่างติดอยู่ในดวงตาคล้ายกับทรายหรือฝุ่นเข้าตา
- มีก้อนเนื้อบริเวณหัวตาที่ลุกลามยังบริเวณตาขาวและอาจขยายใหญ่เข้าสู่ม่านตา
- รู้สึกระคายเคืองในดวงตา
- ตาแดง
- มองเห็นเป็นภาพซ้อนหรือมองเห็นสิ่งรอบตัวเป็นภาพเบลอ
การรักษาต้อเนื้อ อาจทำได้ดังนี้
- ยาหยอดตาสเตียรอยด์ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการต้อเนื้อในระดับไม่รุนแรง เพื่อช่วยลดการระคายเคือง ลดอาการบวมแดงและบรรเทาอาการปวดตา
- การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นต้อเนื้อแบบลุกลาม เพื่อกำจัดต้อเนื้อออก และควรรักษาร่วมกับยาหยอดตา เพื่อลดการอักเสบและการลุกลามของต้อเนื้อ อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้อาจก่อให้เกิดรอยแผลเป็นและเสี่ยงกลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้น จึงควรดูแลดวงตาตามคำแนะนำของคุณหมอหลังการผ่าตัดอย่างเคร่งครัด
โรคจอประสาทตาเสื่อม
โรคจอประสาทตาเสื่อม อาจเกิดจากเซลล์ของจอประสาทตาเสื่อมที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วโดยไม่จำเป็นต้องรอให้อายุมากขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมาก
อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม มีดังนี้
- การมองเห็นสิ่งรอบตัวไม่ชัดเจน โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- การมองเห็นสีของวัตถุแย่ลง
- อาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ซึ่งเป็นอาการที่พบได้น้อยที่สุด
โรคจอประสาทตาเสื่อมไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดแต่มีวิธีช่วยชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาไม่ให้มีการมองเห็นแย่ลงได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผักใบเขียว ผลไม้สีเหลือง เพราะมีสารต้านอนุมุลอิสระที่อาจช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ในจอประสาทตา
- รับประทานอาหารเสริมวิตามินซี วิตามินอี ทองแดง และสังกะสี
- ยาต้านการสร้างเส้นเลือดใหม่ เช่นบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) พีแกบทานิบ (Pegaptanib)รานิบิซูแมบ (Ranibizumab) เพื่อช่วยขวางการสร้างหลอดเลือดใหม่ที่อาจส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม
- การเลเซอร์ เพื่อช่วยทำลายหลอดเลือดที่เจริญเติบโตผิดปกติในดวงตา
- การผ่าตัด เพื่อช่วยกำจัดหลอดเลือดที่ผิดปกติในดวงตา
โรคเบาหวานขึ้นตา
โรคเบาหวานขึ้นตา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มีสาเหตุมาจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนทำลายเส้นประสาทของดวงตา หากปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์อาจเสี่ยงเป็นโรคต้อหินและสูญเสียการมองเห็นถาวรได้
อาการโรคเบาหวานขึ้นตา มีดังนี้
- มองเห็นเป็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว
- มองเห็นเป็นจุดหรือเส้นสีดำในดวงตา
- มองไม่ค่อยเห็นในช่วงเวลากลางคืนหรือในที่มืด
การรักษาโรคเบาหวานขึ้นตา มีดังนี้
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ อาหารไขมันต่ำและน้ำตาลน้อย เช่น ขนมปังโฮลวีต ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม อะโวคาโด ผักใบเขียว กะหล่ำปลีม่วง มะเขือม่วง และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต น้ำตาลและไขมันสูง เช่น อาหารทอด น้ำผลไม้ อาหารแปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยเผาผลาญน้ำตาลในเลือดและควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์
- การฉีดยาในวุ้นตา เพื่อช่วยลดการเจริญเติบโตของผนังหลอดเลือดและลดการสะสมของเหลวในดวงตาที่อาจก่อให้เกิดความดันในดวงตานำไปสู่การเกิดต้อหิน
- การเลเซอร์ เพื่อช่วยชะลอการรั่วไหลของเหลวในดวงตาและลดอาการบวมของจอประสาทตา
- การผ่าตัดน้ำวุ้นดวงตา เป็นการผ่าตัดเพื่อช่วยระบายเลือดและเนื้อเยื่อแผลเป็นออกจากเรตินาของดวงตา
การดูแลสุขภาพ ตา
การดูแลสุขภาพดวงตา อาจทำได้ดังนี้
- สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ เพื่อกำจัดเชื้อโรค ฝุ่นละออง อีกทั้งควรพกน้ำตาเทียมหยอดตาระหว่างวันเพื่อป้องกันตาแห้ง ระคายเคืองตาและส่งผลให้ตาแดงหรือติดเชื้อในดวงตาได้
- สำหรับผู้ที่แต่งหน้าบริเวณเปลือกตาหรือปัดขนตา ควรเช็ดและล้างเครื่องสำอางออกให้สะอาด เพื่อป้องกันการอุดตันบริเวณเปลือกตา และสะสมเชื้อโรคที่ส่งผลให้เปลือกตาอักเสบได้
- กระพริบตาบ่อย ๆ ในระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ เล่นโทรศัพท์ เพื่อให้ดวงตาผลิตน้ำตามาหล่อเลี้ยงดวงตามากขึ้น ลดความเสี่ยงจากอาการตาแห้ง อาการปวดตาและระคายเคืองตา
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพดวงตา โดยควรเน้นการรับประทานผักและผลไม้ที่วิตามินซี วิตามินเอ ลูทีนและซีแซนทีนสูง เช่น ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ สับปะรด อะโวคาโด ทับทิม กะหล่ำปลีม่วง มะเขือม่วง มะเขือเทศ แครอท
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติด้วยการออกกำลังกาย ที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานที่ส่งผลให้เบาหวานขึ้นตาได้
- ใส่แว่นกันแดดเมื่อออกไปนอกบ้านเพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับรังสียูวีกระทบต่อดวงตา อีกทั้งสำหรับผู้ที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควรสวมแว่นที่มีเลนส์กันแสงสีฟ้าจากหน้าจอ เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการจอประสาทตาเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น
- สำหรับผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีฝุ่นมาก เช่น งานก่อสร้าง การซ่อมแซม การเชื่อมเหล็ก ควรสวมอุปกรณ์นิรภัยที่ปกป้องดวงตา เพื่อป้องกันเศษฝุ่นละอองและแสงที่เป็นอันตรายจากอุปกรณ์ทำงานกระเด็นเข้าสู่ดวงตา
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจทำลายเซลล์ในดวงตา เสี่ยงเป็นจอประสาทตาเสื่อมและโรคต้อกระจก
- เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีและรับการทดสอบการมองเห็นเป็นประจำ