backup og meta

ความผิดปกติทางเพศ คืออะไร รักษาได้หรือไม่

ความผิดปกติทางเพศ คืออะไร รักษาได้หรือไม่

ความผิดปกติทางเพศ (Paraphilia) หมายถึง พฤติกรรมหรือรสนิยมทางเพศซึ่งผิดปกติหรือแตกต่างจากคนทั่วไป โดยก่อให้เกิดการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมหรือสร้างความเดือดร้อนไม่สบายกายไม่สบายใจให้ผู้อื่น อาทิ นิสัยชอบเสียดสีองคชาตกับร่างกายผู้อื่น การมีอารมณ์ทางเพศกับเด็ก รสนิยมชอบใช้ความรุนแรงกับคู่นอน ทั้งนี้ ความผิดปกติทางเพศอาจไม่มีการแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งนัก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและอาจรักษาให้หายได้ด้วยการบำบัดทางจิตวิทยาและการรับประทานยา

ความผิดปกติทางเพศ คืออะไร

ความผิดปกติทางเพศคือ การมีพฤติกรรมทางเพศหรือแรงกระตุ้นทางเพศในลักษณะที่แตกต่างจากคนทั่วไป โดยบางกรณีอาจเป็นสาเหตุของอาชญากรรม หรือมีส่วนทำผู้คนรอบข้างเดือดร้อนและหวาดกลัว

ความผิดปกติทางเพศอาจไม่มีการแสดงออกอย่างชัดเจน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยรสนิยมทางเพศที่ผิดปกติต่าง ๆ มักเกิดขึ้นช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็นและต้องการทดลองเกี่ยวกับเรื่องเพศ ทั้งนี้ รสนิยมทางเพศอาจติดตัวไปตลอดแม้มีอายุมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ความผิดปกติทางเพศอาจให้ความรู้สึกในเชิงลบ แต่หากอยู่ในขั้นที่ไม่รุนแรงหรือควบคุมได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นและสังคม ถือเป็นเพียงรสนิยมทางเพศที่แปลกแตกต่างเฉพาะบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจหรือจำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด

ความผิดปกติทางเพศ เกิดจากอะไร

ในทางปัจจุบัน ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของความผิดปกติทางเพศ ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า ความผิดปกติทางเพศอาจเกิดจากเหตุการณ์รุนแรงหรือถูกกระทำในวัยเด็ก อย่างการถูกข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้สับสนและไม่มีผู้ใหญ่ให้คำอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจ รวมทั้งพฤติกรรมเลียนแบบ

นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานว่า วัตถุหรือสถานการณ์บางอย่าง อาจทำให้ผู้ใหญ่บางคนมีรสนิยมทางเพศที่เปลี่ยนไป  โดยเฉพาะหากสิ่งเหล่านั้นถูกใช้เพื่อสร้างความสุขทางเพศซ้ำ ๆ

รูปแบบของความผิดปกติทางเพศ

ความผิดปกติทางเพศ มีหลายรูปแบบ อ้างอิงจาก คู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) โดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ได้แก่

  • พฤติกรรมชอบอวดของลับ (Exhibitionism) หรือบางครั้งเรียกว่า “โรคชอบโชว์” หมายถึง พฤติกรรมชอบอวดอวัยวะเพศต่อคนแปลกหน้า และอาจมีความพึงพอใจเมื่ออีกฝ่ายกลัวหรือตกใจ ทั้งนี้ แม้พฤติกรรมชอบอวดของลับจะไม่สร้างอันตรายทางด้านร่างกายกับผู้อื่น หรือนำไปสู่การข่มขืน แต่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเพราะถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศรูปแบบหนึ่ง
  • การเกิดอารมณ์ทางเพศกับสิ่งเฉพาะ (Fetishism) หมายถึง การมีอารมณ์กับสิ่งไม่มีชีวิตอย่าง วัตถุ สิ่งของต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า ชุดชั้นใน โดยผู้ที่มีรสนิยมเช่นนี้มักมีอารมณ์ทางเพศกับวัตถุหรือสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องมีคู่นอน ขณะที่บางรายซึ่งมีคู่นอน อาจนำวัตถุหรือสิ่งของซึ่งทำให้ตนมีอารมณ์ทางเพศเข้าไปใช้ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม การเกิดอารมณ์เพศกับสิ่งเฉพาะอาจทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ หากผู้ซึ่งมีรสนิยมแบบนี้เลือกระบายความต้องการทางเพศกับวัตถุหรือสิ่งของที่ตนชอบ โดยไม่สนใจที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนของตนเอง
  • พฤติกรรมชอบอนาจารด้วยการเสียดสี (Frotteurism) หมายถึง พฤติกรรมชอบถูอวัยวะเพศ กับร่างกายของผู้อื่นซึ่งไม่ยินยอม โดยมักเกิดในสถานที่คนพลุกพล่าน อย่างบนรถเมล์หรือรถไฟฟ้า และเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นอย่างชัดเจน
  • โรคใคร่เด็ก (Pedophilia) หมายถึง การมีอารมณ์ทางเพศ หรือจินตนาการทางเพศ กับเด็กอายุ 13 ปี หรือน้อยกว่า พฤติกรรมที่พบได้ ประกอบด้วย การชอบแตะต้องตัวเด็กในเชิงรักใคร่ เช่น กอด หอมแก้ม ลูบคลำ การข่มขืนเด็ก หรือการใช้กำลังฉุดคร่าเด็กไปกระทำอนาจาร
  • การมีอารมณ์ทางเพศเมื่อแต่งกายข้ามเพศ (Transvestism) เป็นรสนิยมทางเพศซึ่งพบได้ในผู้ชายแท้ ซึ่งไม่มีรสนิยมข้ามเพศหรืออยากเป็นผู้หญิง รสนิยมดังกล่าวอาจแสดงออกด้วยการแต่งกายและแต่งหน้าเป็นผู้หญิง หรือเพียงสวมใส่เครื่องแต่งกายของเพศตรงข้ามบางอย่างเท่านั้น ผู้ชายข้ามเพศอาจไม่มีรสนิยมดังกล่าวนี้
  • ซาดิสม์ (Sexual Sadism) หมายถึง รสนิยมหรือจินตนาการทางเพศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น ไม่ว่าทางกายหรือทางใจ โดยพฤติกรรมที่พบได้มีหลายระดับ ตั้งแต่การชอบใช้วาจารุนแรงกับคู่นอน เพื่อให้คู่นอนเสียความรู้สึก ไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์แบบรุนแรงและการทรมานคู่นอน ซึ่งอาการซาดิสม์นี้ได้รับการยอมรับในวงกว้าง บางครั้งไม่นับว่าเป็นความผิดปกติทางเพศ หากคู่นอนยินยอมพร้อมใจหรือพอใจเช่นกัน
  • มาโซคิสม์ (Sexual Masochism) เป็นด้านตรงข้ามของซาดิสม์ หมายถึง รสนิยมชอบถูกทำร้าย ทั้งทางกายและทางใจ เพื่อให้เกิดการตื่นตัวทางเพศหรือถึงจุดสุดยอด ทั้งนี้ พฤติกรรมซาดิสม์-มาโซคิสม์ ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในคู่รักบางคู่ แต่การใช้ความรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาจนำไปสู่การเสียชีวิตโดยไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะการรัดคอด้วยเชือกหรือถุงพลาสติก เพื่อให้เกิดภาวะขาดอากาศหายใจ
  • โรคถ้ำมอง (Voyeurism) หมายถึง รสนิยมชอบแอบมองบุคคลอื่นขณะถอดเสื้อผ้าหรือกำลังมีเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่ผู้ที่มีความผิดปกติทางเพศชนิดนี้ไม่ได้ต้องการมีเพศสัมพันธ์ด้วยกับคนที่ตัวเองแอบมอง มักพบในผู้ที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับผู้อื่น หรือผู้ที่ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ

การรักษาความผิดปกติทางเพศ

โดยส่วนมาก ความผิดปกติทางเพศจะรักษาด้วยการบำบัดทางจิตวิทยาปรับทัศนคติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งช่วยส่งเสริมและหากิจกรรมอื่น ๆ ที่ชื่นชอบเพื่อไม่ให้หมกมุ่นกับเรื่องเพศมากเกินไป ร่วมกับการใช้ยาซึ่งออกฤทธิ์กับระบบประสาท หรือช่วยลดความต้องการทางเพศได้

ทั้งนี้ ความผิดปกติทางเพศ อาจใช้เวลานานในการรักษา อาจเป็นเดือนหรือเป็นปี และการให้ความร่วมมือของคนไข้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะบ่งชี้ได้ว่าการรักษาจะสำเร็จหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผู้มีความผิดปกติทางเพศควรปรึกษาคุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญในการขอคำแนะนำหรือวิธีเข้ารับการบำบัด เพื่อลดโอกาสการก่ออาชญากรรมจากพฤติกรรมที่ไม่ปกติและไม่สามารถควบคุมตนเองได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Paraphilias. https://www.webmd.com/sexual-conditions/guide/paraphilias-overview. Accessed March 23, 2022

PARAPHILIAS. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/06042015-1128. Accessed March 23, 2022

Sexual Dysfunction. https://www.sciencedirect.com/topics/medicine-and-dentistry/sexual-dysfunction. Accessed March 23, 2022

Exhibitionism. https://www.britannica.com/topic/exhibitionism. Accessed March 23, 2022

Introduction to Sexual Disorders. https://www.mentalhelp.net/sexual-disorders/. Accessed March 23, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/04/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย กับปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง

เลสเบี้ยน กับปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 05/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา