backup og meta

ท่อปัสสาวะอักเสบ สาเหตุ อาการและการรักษา

ท่อปัสสาวะอักเสบ สาเหตุ อาการและการรักษา

ท่อปัสสาวะอักเสบ คือ ภาวะที่ส่งผลให้ท่อปัสสาวะมีอาการบวม รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะและปัสสาวะลำบาก ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน โดยสามารถเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ดังนั้น หากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติขณะปัสสาวะ ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็วเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-ovulation]

สาเหตุที่ทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบ

สาเหตุที่ทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ซึ่งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสจะเข้าไปยังท่อปัสสาวะภายในติดกับกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมายของผู้ชาย สำหรับผู้หญิงจะอยู่บริเวณใต้แคมเล็กใกล้กับปากช่องคลอดและทวารหนัก ที่อาจทำให้ติดเชื้อและเป็นภาวะท่อปัสสาวะอักเสบได้บ่อยกว่าผู้ชาย ซึ่งแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคท่อปัสสาวะอักเสบนั้นอาจจะเป็นแบคทีเรียตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้ โรคเริม โรคพยาธิในช่องคลอด โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ การอักเสบของอัณฑะ

นอกจากนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอวัยวะเพศหรือสบู่ที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม การผ่าตัดใส่สานสวนในท่อปัสสาวะ การทำกิจกรรมทางเพศอย่างรุนแรง ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ท่อปัสสาวะอักเสบ เพิ่มความเสี่ยงท่อปัสสาวะอักเสบได้เช่นเดียวกัน

อาการของท่อปัสสาวะอักเสบ

อาการของท่อปัสสาวะอักเสบ อาจมีดังนี้

อาการของท่อปัสสาวะอักเสบของผู้หญิง

  • รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ปัสสาวะบ่อย
  • มีหนองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ
  • ตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวสีเหลือง สีเขียว สีเทา สีขาวเป็นก้อน และช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
  • ปวดท้อง
  • ปวดอุ้งเชิงกราน
  • มีไข้สูงและหนาวสั่น

อาการของท่อปัสสาวะอักเสบของผู้ชาย

  • ปัสสาวะลำบาก
  • มีหนองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ
  • มีเลือดปนกับอสุจิ น้ำหล่อลื่นและปัสสาวะ
  • รู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะและเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์หรือมีการหลั่งอสุจิออกมา
  • อวัยวะเพศบวม
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต

การวินิจฉัย ท่อปัสสาวะอักเสบ

คุณหมออาจสอบถามประวัติสุขภาพ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ และเริ่มตรวจอวัยวะเพศ ช่องท้อง และทวารหนัก ด้วยการตรวจปัสสาวะเพื่อดูการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ การขอเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อตรวจกาการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือยีสต์ เพราะอาจนำไปสู่การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือตรวจปัสสาวะร่วมด้วย ที่ช่วยให้ทราบสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

ท่อปัสสาวะอักเสบ รักษาอย่างไร

การรักษาท่อปัสสาวะอักเสบ อาจทำได้ดังนี้

ยาปฏิชีวนะ

เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นท่อปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียและปรสิต เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและต้านเชื้อแบคทีเรียและปรสิต โดยคุณหมออาจให้ใช้ยาตามความเหมาะสมของภาวะสุขภาพแต่ละบุคคล ดังนี้

  • ทินิดาโซล (Tinidazole) ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร เพื่อป้องกันอาการปวดท้อง ปกติแล้วรับประทานวันละครั้ง สำหรับใช้ในเด็กปริมาณของยาอาจขึ้นอยู่กับน้ำหนัดตัวเพื่อให้รับยาในขนาดที่เหมาะสม ผลข้างเคียงของทินิดาโซลอาจส่งผลให้รู้สึกมีรสขม หรือรสคล้ายโลหะในปาก ปวดท้อง คลื่นไส้และวิงเวียนศีรษะ
  • เมโทรไนดาโซล (Metronidazole) ควรรับประทานพร้อมกับอาหาร เพื่อป้องกันอาการปวดท้องและควรดื่มน้ำเปล่าตามให้มาก ๆ ยาเมโทรไนดาโซลควรใช้ในปริมาณที่คุณหมอกำหนดและไม่ควรหยุดยาเองจนกว่าคุณหมอจะอนุญาต เพื่อป้องกันการดื้อยา หากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติหลังรับประทาน เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ อาเจียน รู้สึกเสียวซ่าที่แขนและขา หายใจลำบาก ควรเข้าพบคุณหมอทันที
  • อะซิโธรไมซีน (Azithromycin) มีในรูปแบบยาเม็ดและแบบของเหลว ที่ควรรับประทานวันละครั้ง เป็นเวลา 1-5 วันหรือตามที่คุณหมอกำหนด สำหรับยาอะซิโธรไมซีนแบบองเหลวควรเขย่าก่อนใช้และควรใช้อุปกรณ์ตวงยาเพื่อให้ได้ขนาดยาที่เหมาะสม ยานี้อาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ ท้องเสีย อาเจียน และควรพบคุณหมอทันทีหากหายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ผื่นลมพิษ ไข้ขึ้นสูง อาการบวมบริเวณใบหน้า ลิ้นและริมฝีปาก
  • ด็อกซีไซคลีน (Doxycycline) มีในรูปแบบเม็ด แคปซูล และแบบของเหลว ที่ควรรับประทานวันละ 1-2 ครั้ง/วัน และควรดื่มน้ำให้มาก ๆ สำหรับยาเม็ดและแคปซูลไม่ควรแบ่งยาหรือหั่นยา เพราะอาจทำให้ได้รับขนาดยาไม่เพียงพอที่ช่วยรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย ผลข้างเคียงของยานี้อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ ระคายเคืองช่องคลอด ท้องเสีย เจ็บคอ ลิ้นบวม ปากแห้ง ปัสสาวะลำบาก ที่ควรแจ้งให้คุณหมอทราบเพื่อปรับเปลี่ยนยารักษาใหม่
  • ลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) หรือ ซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) มีในรูปแบบเม็ดและแบบของเหลว โดยปกติรับประทานวันละครั้ง หลังรับประทานอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือตามที่คุณหมอแนะนำ ผลข้างเคียงของยานี้อาจทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสียรุนแรง ผื่นลมพิษ อาการบวมของริมฝีปากและใบหน้า อาการชักและควรเข้าพบคุณหมอทันที
  • เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) เป็นยาในรูปแบบฉีดเข้าสู่หลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อโดยคุณหมอ ที่ควรฉีดวันะ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับอาการของการติดเชื้อ นอกจากนี้ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ หลังจากฉีดยา เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้

ยาต้านไวรัส

เหมาะสำหรับผู้ที่ท่อปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสไปยังส่วนอื่น ๆ ของระบบสืบพันธุ์และร่างกาย ลดความเจ็บปวด และทำให้การติดเชื้อหายเร็วขึ้น โดยคุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาดังต่อไปนี้

  • อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) มีในรูปแบบยาเม็ด แคปซูล และแบบของเหลว ที่ควรรับประทาน 2-5 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 5-10 วัน หรือตามที่คุณหมอกำหนด โดยเริ่มรับประทานให้เร็วที่สุดหลังจากเริ่มมีอาการ ผลข้างเคียงของอะไซโคลเวียร์อาจทำให้ผมร่วง ปวดข้อต่อ เหนื่อยล้าง่าย วิงเวียนศีรษะ ท้องเสีย อาเจียน แต่หากสังเกตว่ามีอาการผิวซีด หัวใจเต้นเร็ว ผื่นลมพิษขึ้นตามตัว ปวดท้องรุนแรง ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อรักษาผลข้างเคียงและปรับเปลี่ยนยารักษาใหม่
  • แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) มีในรูปแบบเม็ด ปกติจะรับประทานวันละ 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 1 ปี สำหรับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี และรับประทานวันละ 2 ครั้งเป็นเวลาหนึ่งวัน โดยเริ่มภายใน 6 ชั่วโมง หลังจากมีอาการสำหรับผู้ที่ติดเป็นโรคเริม

วิธีป้องกัน ท่อปัสสาวะอักเสบ

วิธีป้องกันท่อปัสสาวะอักเสบอาจทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ โดยควรใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอน และไม่ควรมีคู่นอนหลายคน เพื่อลดการได้รับเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่มีส่วนประกอบของน้ำหอมเพราะอาจทำให้เกิดการระคาเคืองอวัยวะเพศและท่อปัสสาวะที่นำไปสู่การอักเสบได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Urethritis. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/urethritis-symptoms-causes-treatments.Accessed January 20, 2023

Overview-Non-gonococcal urethritis. https://www.nhs.uk/conditions/non-gonococcal-urethritis/.Accessed January 20, 2023

Urethritis. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22858-urethritis.Accessed January 20, 2023

Urethritis. https://medlineplus.gov/ency/article/000439.htm.Accessed January 20, 2023

Diseases Characterized by Urethritis and Cervicitis. https://www.cdc.gov/std/treatment-guidelines/urethritis-and-cervicitis.htm.Accessed January 20, 2023

Tinidazole – Uses, Side Effects, and More https://www.webmd.com/drugs/2/drug-91258/tinidazole-oral/details.Accessed January 20, 2023

Metronidazole – Uses, Side Effects, and More https://www.webmd.com/drugs/2/drug-6426/metronidazole-oral/details.Accessed January 20, 2023

Azithromycin. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a697037.html.Accessed January 20, 2023

Doxycycline https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682063.html.Accessed January 20, 2023

Levofloxacin https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a697040.html.Accessed January 20, 2023

Ceftriaxone- Uses, Side Effects, and More https://www.webmd.com/drugs/2/drug-7013/ceftriaxone-injection/details.Accessed January 20, 2023

Acyclovir https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a681045.html.Accessed January 20, 2023

Famciclovir https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a694038.html.Accessed January 20, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/03/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัสสาวะเล็ด ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรปล่อยผ่าน

ปัสสาวะแสบขัด ในผู้ชาย สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา