backup og meta

เริม อาการ การรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/10/2022

    เริม อาการ การรักษาและการป้องกัน

    เริม อาการ ที่สังเกตได้ชัดคือ ตุ่มเล็ก ๆ ที่สามารถพบในบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น ริมฝีปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก รวมถึงอาการแผลพุพองและอาการปวดแสบปวดร้อน เริมเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยตรง หากสังเกตว่ามีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีตุ่มขึ้นบนผิวหนัง ควรพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที

    เริม อาการเกิดจากอะไร

    เริม เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ซิมเพล็กซ์ หรือที่เรียกว่าเชื้อไวรัสเริม ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อ และการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย เลือด น้ำหนองจากแผลเริม ผ่านการจูบ การดื่มน้ำแก้วเดียวกัน การใช้แปรงสีฟันร่วมกัน หรือการสัมผัสกับแผลเริมโดยตรง

    ไวรัสเริมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

    • ไวรัสเริมชนิดที่ 1 (HSV-1) คือไวรัสที่มักจะทำให้เกิดเริมในช่องปาก และรอบ ๆ ปาก มักจะไม่ได้คิดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยติดต่อผ่านทางน้ำลาย และมักพบในเด็ก แต่ก็อาจส่งผลให้การติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศได้หากมีเพศสัมพันธ์ทางปากโดยไม่ป้องกัน ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 มักจะไม่มีการติดเชื้อซ้ำแต่อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 ได้
    • ไวรัสเริมชนิดที่ 2 (HSV-2) เป็นชนิดที่พบได้บ่อย มักก่อให้เกิดโรคเริมบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก ซึ่งอาจติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน รวมถึงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งในบริเวณแผลที่มีเชื้อไวรัสเริม นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศหรือทวารหนักก็อาจส่งผลให้ทารกติดโรคเริมได้ขณะคลอด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทารก เช่น ระบบประสาทของทารกได้รับความเสียหาย โรคไข้สมองอักเสบ โรคไขข้ออักเสบ และการติดเชื้อที่ตา

    เริม อาการมีอะไรบ้าง

    หลังจากการติดเชื้อไวรัสเริม อาจมีระยะฟักตัวประมาณ 6-8 วัน และอาจเริ่มมีอาการภายใน 12 วัน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 จะไม่แสดงอาการ โดยหากมีอาการจะมีอาการดังนี้

    • มีตุ่มแดงหรือตุ่มสีขาวเล็ก ๆ มักปรากฏในบริเวณช่องปาก รอบริมฝีปาก รอบช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก องคชาต อันฑะ และขาหนีบ
    • แผลพุพอง หากเป็นเริมที่มีอาการในบริเวณปากอาจส่งผลให้รับประทานอาหารและกลืนยาก หากเป็นเริมที่มีอาการในบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักอาจทำให้ขับถ่ายลำบาก และมีอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ
    • อาการปวดแสบปวดร้อนในบริเวณที่ติดเชื้อ
    • ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหลังส่วนล่าง ก้น และขา
    • ปวดศีรษะ
    • มีไข้
    • หลังจากแผลเริมหาย อาจมีอาการผิวหนังตกสะเก็ดและลอกเป็นขุย

    ควรพบคุณหมอทันทีที่สังเกตพบอาการผิดปกติดังกล่าว เพื่อรับการวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างรวดเร็ว

    ภาวะแทรกซ้อนของเริม

    เริมอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

    • การติดเชื้อในทารกหากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นเริมคลอดบุตร อาจมีความเสี่ยงทำให้ทารกติดเชื้อเริมได้ขณะคลอด ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกตาบอด สมองอักเสบ การติดเชื้อกระจายไปตามอวัยวะสำคัญในร่างกาย หรือเสียชีวิตได้
    • ปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเริมบริเวณอวัยวะเพศอาจทำให้เกิดภาวะท่อปัสสาวะอักเสบ มีอาการบวม หรืออุดตัน ทำให้ปัสสาวะลำบากได้
    • เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น เนื่องจากแผลเริมเป็นแผลเปิด จึงอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น หากสัมผัสกับบริเวณแผลโดยตรงหรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
    • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ซิมเพล็กซ์อาจส่งผลให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ซึ่งเป็นภาวะที่เป็นอันตรายและควรได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด

    เริม อาการ รักษาได้อย่างไร

    เริมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจบรรเทาอาการได้ ด้วยวิธีดังนี้

    การรักษาเริม อาการที่ปาก

    • รับประทานยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) และแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการและลดความรุนแรงของการติดเชื้อ แต่ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อเริมให้หายขาดได้
    • ทายาต้านไวรัสในรูปแบบขี้ผึ้ง เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เพนซิโคลเวียร์ (Penciclovir) โดยก่อนทาควรล้างมือให้สะอาดและเช็ดผิวให้แห้ง และควรใช้สำลีก้านทายา เพื่อป้องกันการสัมผัสกับแผลเริมโดยตรง
    • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดจากแผลเริม

    การรักษาเริม อาการที่อวัยะเพศและทวารหนัก

    • รับประทานยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ วาลาไซโคลเวียร์ เพื่อช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อ ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสเริมไปยังผู้อื่น และช่วยให้แผลเริมหายไว้ขึ้น
    • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน อะเซตามิโนเฟน

    นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดแผลเริมบริเวณอวัยวะเพศและเริมที่ปาก ด้วยการล้างน้ำและสบู่สูตรอ่อนโยน และเช็ดให้แห้งสนิท ระวังอย่าให้อับชื้น อีกทั้งควรประคบเย็นด้วยการ นำผ้าสะอาดห่อน้ำแข็งมาประคบกับแผลเริมทุก ๆ 1-3 ชั่วโมง ครั้งละ 2-3 นาที เพื่อช่วยลดอาการปวดและอาการบวม

    วิธีป้องกันเริม อาการ

    เริม อาจป้องกันได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
    • สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสเริมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
    • หากคู่นอนมีแผลบริเวณปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือขาหนีบ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
    • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ และหลังมีเพศสัมพันธ์
    • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แปรงสีฟัน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าขนหนู เสื้อผ้า
    • สตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อเริม ควรแจ้งคุณหมอให้ทราบและเข้ารับการรักษาทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังทารกในระหว่างคลอด
    • เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา