backup og meta

คันหัว สาเหตุ การรักษาและการดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

    คันหัว สาเหตุ การรักษาและการดูแลตัวเอง

    คันหัว เป็นอาการคันที่เกิดขึ้นตามปกติโดยอาจไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น การไม่รักษาความสะอาด รังแค รูขุมขนอักเสบ เกลื้อน เหา รวมถึงโรคผิวหนังต่าง ๆ หากเกามาก ๆ อาจทำให้หนังศีรษะเกิดรอยขีดข่วนและบาดแผลขนาดเล็กทั่วหนังศีรษะ และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้ จึงควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อบรรเทาและป้องกันอาการคันหัวที่เกิดขึ้น

    คันหัว เกิดจากอะไร

    คันหัว เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นตามปกติเมื่อมีความระคายเคืองบนหนังศีรษะ หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ  ดังนี้

    การไม่รักษาความสะอาด

    การไม่รักษาความสะอาดผิวหนังเป็นประจำอาจทำให้เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย สิ่งสกปรกหรือสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ตกค้างอยู่บนผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณหนังศีรษะที่มีความอับชื้นได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคันตามมา หรือในบางคนที่สระผมแล้วไม่เช็ดหรือเป่าผมให้แห้ง หรือล้างทำความสะอาดแชมพูไม่หมด อาจทำให้มีแชมพูสะสมจนทำให้หนังศีรษะเป็นสะเก็ดและคันหัวได้

    รังแค

    รังแคเป็นสภาวะของผิวหนังที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วลอกตัวออกกลายเป็นสะเก็ดบนหนังศีรษะ ซึ่งอาจเกิดจากหนังศีรษะแห้ง การไม่รักษาความสะอาด เชื้อรา หรือต่อมไขมันอักเสบ จนทำให้หนังศีรษะมีรังแคเป็นสะเก็ดสีขาวและอาจมีอาการคันหัวได้

    รุมขนอักเสบ

    รูขุมขนอักเสบอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา จนทำให้รูขุมขนอักเสบและระคายเคือง ซึ่งอาการอาจแพร่กระจายไปยังรูขุมขนข้างเคียงได้ อาจทำให้มีตุ่มใสคล้ายสิว เจ็บปวด ผิวแดงและคันหัว

    เหา

    เหามีลักษณะเป็นแมลงขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ตามเส้นขนหรือเส้นผมของมนุษย์ สามารถเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาการระคายเคืองและคันหัว ซึ่งการเกาหัวอาจทำให้หนังศีรษะเกิดบาดแผลและติดเชื้อได้

    โรคผิวหนัง

    โรคผิวหนังเป็นสภาวะความผิดปกติของผิวหนังที่อาจทำให้เกิดการอักเสบ ความระคายเคือง ผื่นแดง คันหัว แผลพุพอง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกายโดยเฉพาะในบริเวณที่อับชื้นมาก เช่น หนังศีรษะ ข้อพับ เท้า โดยชนิดของโรคผิวหนังที่อาจทำให้เกิดอาการคันหัวอาจมีดังนี้

    • โรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการคันหัว เนื่องจากโรคผิวหนังอักเสบอาจส่งผลกระทบต่อต่อมไขมันบนผิวหนัง เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า คิ้ว รักแร้ จนทำให้เกิดการอักเสบ เป็นผื่นแดง ตกสะเก็ดตามไรผม หนังศีรษะแห้งหรือมัน และคันหัว
    • โรคสะเก็ดเงินบนหนังศีรษะ เป็นภาวะทางผิวหนังที่มักเกิดขึ้นบริเวณหนังศีรษะ ข้อศอกและหัวเข่า ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมหรือความเครียด อาจทำให้มีอาการผิวหนังตกสะเก็ด ผิวหนา ผิวแห้งแตก ผิวแดงและคันหัว
    • เกลื้อน เกิดจากการติดเชื้อราบนผิวหนัง ทำให้เกิดรอยแดง เป็นขุยและมีอาการคัน
    • ผื่นแอกทินิกเคอราโทซิส (Actinic Keratosis) เป็นผื่นผิวหนังที่มีสาเหตุมาจากผิวหนังถูกทำลายด้วยรังสียูวี จนอาจทำให้ผิวมีลักษณะหยาบเป็นขุย ผื่นแดงและมีอาการคันหัว
    • ลมพิษ เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยถูกกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหาร ยา การติดเชื้อ แมลง แสงแดด อากาศ ทำให้ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นแดง นูนหรือเป็นปื้นขนาดใหญ่ อาจเกิดขึ้นเป็นจุดเล็ก ๆ หรือกระจายเป็นวงกว้างทั่วร่างกาย และทำให้มีอาการคัน

    การรักษา อาการคันหัว

    การรักษาอาการคันหัวอาจทำได้ด้วยการรักษาความสะอาดของหนังศีรษะอยู่เสมอด้วยการสระผมอย่างน้อยวันเว้นวัน เพื่อขจัดสิ่งสกปรก เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการคันหัว หรือหากผู้ป่วยเป็นโรคผิวหนังควรเข้ารับการรักษาปัญหาผิวหนังที่เป็นสาเหตุของอาการคันหัวร่วมด้วย ดังนี้

  • รังแค ควรเลือกใช้แชมพูสูตรขจัดรังแคและบำรุงผมด้วยทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับหนังศีรษะ และลดอาการคันหัวที่อาจเกิดจากปัญหาหนังศีรษะแห้ง
  • รูขุมขนอักเสบ ควรทำความสะอาดหนังศีรษะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อขจัดความมันส่วนเกินและสิ่งสกปรก รวมถึงป้องกันการอักเสบของรูขุมขน หรือคุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อราในผู้ป่วยบางราย
  • เหา ควรใช้แชมพูที่มีส่วนผสมไพรีทริน (Pyrethrin) หรือเพอร์เมทริน (Permethrin) เพื่อฆ่าตัวเหาบนหนังศีรษะ นอกจากนี้ คุณหมออาจให้ยารับประทาน เช่น ยาไอเวอร์เม็กติน (Ivermectin) เพื่อฆ่าเชื้อปรสิต
  • โรคสะเก็ดเงินบนหนังศีรษะ ควรใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของสารช่วยขจัดรังแค เช่น น้ำมันดิน คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) และคุณหมออาจสั่งยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการอักเสบที่ก่อให้เกิดอาการคัน
  • เกลื้อน ควรใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของสารช่วยขจัดรังแค เช่น ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ซิงค์ ไพริไทออน (Zinc Pyrithione) คีโตโคนาโซล นอกจากนี้ คุณหมออาจสั่งจ่ายยาต้านเชื้อราเพิ่มเติม เพื่อฆ่าเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคและลดอาการคันหัว
  • โรคผิวหนังอักเสบ ควรใช้แชมพูสระผมที่มีส่วนผสมของสารที่ช่วยผลัดเซลล์ผิว เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) น้ำมันดิน หรือคุณหมออาจแนะนำยาต้านเชื้อรา เช่น ยาคีโตโคนาโซล ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดการอักเสบและฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการอักเสบของผิวหนังและอาการคัน
  • ผื่นแอกทินิกเคอราโทซิส คุณหมออาจสั่งจ่ายเจลไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เพื่อช่วยลดอาการผื่นคัน หรือครีมฟลูออโรยูราซิล (5-Fluorouracil) เพื่อช่วยรักษาอาการผื่นผิวหนังที่อาจทำให้เกิดอาการคันหัว
  • ลมพิษ อาการมักดีขึ้นเองโดยไม่ต้องรักษา แต่ผู้ป่วยอาจต้องระมัดระวังการรับประทานอาหารหรือสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้ นอกจากนี้ ควรรักษาความสะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้และอาการคัน
  • การป้องกัน อาการคันหัว

    การป้องกันไม่ให้เกิด อาการคันหัว อาจทำได้ดังนี้

    • รักษาความสะอาดของหนังศีรษะเป็นประจำ ด้วยการสระผมอย่างน้อยวันเว้นวัน สำหรับผู้ที่มีหนังศีรษะมันอาจต้องสระผมทุกวันเพื่อลดความมันส่วนเกิน ขจัดสิ่งสกปรก เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่อาจก่อให้เกิดการอักเสบและทำให้คันหัว
    • จัดการกับสภาวะผิวหนัง หากผู้ป่วยมีปัญหาผิวหนัง เช่น รังแค รูขุมขนอักเสบ เหา โรคผิวหนังต่าง ๆ ควรเข้ารับการรักษาอย่างเคร่งครัด เพื่อกำจัดการติดเชื้อและป้องกันอาการกลับมาเป็นซ้ำ
    • ดูแลเด็กเล็ก ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการติดเหาหรือโรคผิวหนังจากการเล่นใกล้ชิดกับเพื่อนวัยเดียวกันหรือบุคคลอื่น ๆ ที่มีเชื้อได้ง่าย ควรดูแลเด็กเล็กให้อยู่ห่างจากผู้ป่วยที่มีเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และควรดูแลความสะอาดของใช้ของเด็กเป็นประจำทุกวัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา