backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

ผมร่วงเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันได้อย่างไร

ผมร่วงเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันได้อย่างไร

ผมร่วงเกิดจาก สาเหตุต่าง ๆ เช่น พันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผลข้างเคียงของยา ความเครียด ที่อาจส่งผลให้หนังศีรษะ รากผม และเส้นผมอ่อนแอ จนผมหลุดร่วง หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้ศีรษะล้านและขาดความมั่นใจในการพบเจอผู้คนได้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาผมร่วง หรือหากผมร่วงจนสร้างความกังวลใจ ควรศึกษาวิธีดูแลหนังศีรษะและเส้นผม หรือขอคำปรึกษาจากคุณหมอ

ผมร่วงเกิดจากอะไร

ผมร่วงเกิดจาก หลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้

  • พันธุกรรม เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะผมร่วงแบบแอนโดรจีนิค (Androgenic alopecia) ซึ่งมีลักษณะผมร่วงมากบริเวณส่วนกลางของหนังศีรษะ ทำให้ศีรษะล้านตรงกลางเพียงจุดเดียว หรือ ล้านบริเวณเหนือขมับขึ้นไปสองข้าง
  • อายุที่มากขึ้น อาจทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้การเจริญเติบโตของเส้นผมช้าลงหรือหยุดการเจริญเติบโต ที่ส่งผลให้เกิดผมร่วงได้
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หากร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป เช่น ผู้ที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ วัยหมดประจำเดือน อาจทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไม่สมดุลจนส่งผลให้ผมหลุดร่วง
  • การติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์เช่น ซิฟิลิส ที่อาจทำให้รูขุมขน รากผม และหนังศีรษะถูกทำลาย จนนำไปสู่การเกิดผมร่วง โดยเฉพาะผู้ที่ขาดการดูแลสุขลักษณะอนามัยของเส้นผมและหนังศีรษะ และผู้ที่ไม่เป่าผมให้แห้ง เพราะความอับชื้นอาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อราได้
  • โรคภูมิแพ้รากผม อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวรบกวนการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้เซลล์รากผมหยุดทำงาน และค่อย ๆ หลุดร่วง สังเกตได้จากอาการผมร่วงเป็นหย่อม
  • ความเครียด อาจทำให้ทำให้เกิดพฤติกรรมการดึงผมโดยไม่รู้ตัว เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ทำให้มีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ
  • สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยาย้อมผม น้ำยาฟอกสีผม สเปรย์จัดแต่งทรงผม ที่สามารถทำลายเส้นผมและหนังศีรษะ จนส่งผลให้ผมร่วงได้
  • การฉายรังสีหรือเคมีบำบัด การฉายแสงหรือการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผมร่วงในระหว่างการรักษาหรือหลังการรักษา
  • ผลข้างเคียงของยา ยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ ยาโรคความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ โรคซึมเศร้า โรคเกาต์ โรคมะเร็ง อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้ผมร่วงได้

สัญญาณเตือนของอาการผมร่วง

สัญญาณเตือนของอาการผมร่วง มีดังนี้

  • เส้นผมตามแนวหน้าผากเริ่มหลุดร่วง และผมบางจนมองเห็นหนังศีรษะได้ชัดเจน ทำให้หน้าผากดูกว้างขึ้น
  • ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ กระจายทั่วหนังศีรษะ และอาจมีอาการคัน หรือเจ็บหนังศีรษะก่อนผมร่วง
  • ผมร่วงทันทีเมื่อสัมผัสกับเส้นผม ขณะหวีผม มัดผม หนีบผม และสระผม
  • ผมร่วงทั้งหนังศีรษะ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดสำหรับโรคมะเร็ง
  • หนังศีรษะหลุดลอกออกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ร่วมกับอาการคันหนังศีรษะ บางคนอาจมีแผลบนหนังศีรษะ

วิธีรักษาอาการผมร่วง

วิธีรักษาอาการผมร่วง มีดังนี้

ปลูกผม

ศัลยกรรมการปลูกผมอาจเหมาะสำหรับผู้มีภาวะผมร่วงที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ส่งผลให้ผมร่วงอย่างต่อเนื่อง โดยคุณหมอจะนำชิ้นเนื้อของหนังศีรษะในส่วนที่มีผมขึ้นหนามาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนจะนำมาปลูกถ่ายในหนังศีรษะบริเวณที่มีผมร่วง เพื่อช่วยให้ผมใหม่งอกและมีความแข็งแรง

ฉีดพลาสมาในเลือด

คุณหมออาจเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปใส่ในเครื่องแยกพลาสมา และนำมาฉีดบริเวณที่ผมร่วง เพื่อช่วยชะลอการหลุดร่วงของเส้นผม โดยควรเข้ารับการฉีดซ้ำทุก ๆ 3-6 เดือน

ยา

สำหรับผู้ที่มีภาวะผมร่วงที่เกิดจากกรรมพันธุ์ คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาดังต่อไปนี้

  • ไมน็อกซิดิล (Minoxidil) คือ ยาที่ช่วยชะลอการหลุดร่วงของเส้นผม และกระตุ้นผมงอกใหม่ รากผมให้แข็งแรงขึ้น โดยควรใช้วันละ 2 ครั้ง และควรใช้ต่อเนื่องอย่างน้อย 12 เดือน ผลข้างเคียงของยานี้อาจส่งผลให้มีอาการระคายเคืองหนังศีรษะ และมีเส้นขนขึ้นใหม่ในบริเวณที่ไม่พึงประสงค์ เช่น รอบหน้าผาก ใบหน้า
  • ฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) คือ ยาในรูปแบบรับประทาน วันละ 1 เม็ด โดยควรรับประทานต่อเนื่อง 2-3 เดือน เพื่อช่วยชะลอการหลุดร่วงของเส้นผม และช่วยกระตุ้นให้ผมงอกใหม่เร็วขึ้น
  • ยาชนิดอื่น ๆ เช่น ยาต้านเชื้อรา ยาปฏิชีวนะ เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะผมร่วงเกิดจากการติดเชื้อราและแบคทีเรีย
  • การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ใช้เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมให้งอกขึ้นใหม่ สำหรับโรคผมร่วงเป็นหย่อม โดยฉีดยาเข้าสู่หนังศีรษะบริเวณที่ศีรษะล้านและผมร่วง ควรเข้ารับการฉีดทุก ๆ 4-8 สัปดาห์ หรือตามที่คุณหมอกำหนด

การป้องกันผมร่วง

การป้องกันผมร่วง อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการทำสีผม ฟอกผม และการดัดผม เพราะอาจทำให้หนังศีรษะและเส้นผมได้รับสารเคมีที่ส่งผลให้เส้นผมอ่อนแอและผมร่วงได้
  • เลือกใช้แชมพู ครีมนวด และผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมที่เหมาะกับสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ เพื่อป้องกันไม่ให้รูขุมขนอุดตันและส่งผลให้ผมร่วง
  • หลีกเลี่ยงการหนีบผมและการเป่าผมด้วยลมร้อน เพราะอาจทำให้ผมแห้งเสียและหลุดร่วง
  • หลีกเลี่ยงการมัดผมแน่นเกินไป และการหวีผมอย่างรุนแรง เพื่อป้องกันการดึงรั้ง จนทำให้ผมหลุดร่วง
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดง ข้าวโอ๊ต อาหารทะเล ผักใบเขียว เพราะธาตุเหล็กมีส่วนช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ที่ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย จึงอาจช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตให้เส้นผมงอกขึ้นใหม่
  • หยุดสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังศีรษะ ซึ่งอาจทำให้เส้นผมหยุดการเจริญเติบโต และทำให้ผมร่วงได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hair loss. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hair-loss/symptoms-causes/syc-20372926.Accessed August 19, 2022.

Understanding Hair Loss — the Basics. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/hair-loss/understanding-hair-loss-basics.Accessed August 19, 2022.

Hair Loss. https://www.nhs.uk/conditions/hair-loss/.Accessed August 19, 2022.

Hair Loss. https://www.hopkinsallchildrens.org/patients-families/health-library/healthdocnew/hair-loss.Accessed August 19, 2022.

HAIR LOSS: WHO GETS AND CAUSES. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/HAIR-LOSS/CAUSES/18-CAUSES.Accessed August 19, 2022.

หัวจ๋า…ผมลาก่อน https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=405.Accessed August 19, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล

avatar

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา