backup og meta

จมูกลอก อาการ สาเหตุ และการดูแลผิว

จมูกลอก อาการ สาเหตุ และการดูแลผิว

จมูกลอก เป็นลักษณะที่ผิวหนังบริเวณจมูกเกิดการผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นนอกที่เสื่อมสภาพออก เพื่อฟื้นฟูหรือรักษาผิวจากความเสียหายที่อาจเกิดจากปัจจัยแวดล้อม สภาพผิว การแพ้ การติดเชื้อ โรคผิวหนัง หรือการรักษาที่ส่งผลให้ผิวหนังเกิดความเสียหาย ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพผิวหนังและให้ความชุ่มชื้นอาจช่วยป้องกันปัญหาจมูกลอกได้

[embed-health-tool-bmr]

จมูกลอก เกิดจากอะไร

จมูกลอก เกิดจากผิวหนังบริเวณจมูกเสียหาย จนต้องผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกออกเพื่อเผยผิวใหม่ที่มีสุขภาพดีกว่า ซึ่งเป็นกระบวนรักษาผิวหนังตามธรรมชาติของร่างกาย นอกจากนี้ สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้จมูกลอก อาจมีดังนี้

  • สภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศเย็น อากาศแห้ง และอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจทำให้ผิวขาดน้ำ แห้ง และส่งผลให้จมูกลอกเป็นขุยได้
  • การอาบน้ำอุ่น เพราะอาจดึงเอาน้ำมันบนผิวหนังออกไป โดยเฉพาะหากอาบน้ำนานเกิน 10 นาที ก็อาจยิ่งทำให้ผิวแห้งและขาดความชุ่มชื้นมาก
  • ภาวะขาดน้ำมากเกินไป เนื่องจากร่างกายประกอบด้วยของเหลวประมาณร้อยละ 70 หากร่างกายขาดน้ำมากเกินไปก็อาจส่งผลต่อความชุ่มชื้นของผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งมาก และจมูกลอกเป็นขุยได้
  • ประเภทผิว ผิวทุกประเภทอาจเกิดปัญหาจมูกลอกได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวแห้ง อาจมีแนวโน้มที่จมูกลอกได้ง่ายกว่าผิวประเภทอื่น
  • โรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคเซ็บเดิร์ม อาจทำให้ผิวบริเวณจมูกแห้งและจมูกลอกได้ เนื่องจากโรคเหล่านี้อาจทำให้ผิวหนังเสียหายมาก จนร่างกายต้องผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกที่เสื่อมสภาพออกเพื่อรักษาตัวเอง
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้นผิวจะบางลงและมีแนวโน้มที่จะสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้อาจทำให้เกิดปัญหาจมูกลอกได้
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว การล้างหน้ามากเกินไป และการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่รุนแรงอาจทำให้ผิวแห้งและจมูกลอกได้
  • การรักษา เช่น ยารักษาสิว ครีมเรตินอยด์ การลอกผิวด้วยสารเคมี เคมีบำบัด การฉายแสง อาหารเสริมสมุนไพร โดยกระบวนการรักษาเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายให้กับผิวหนัง หรือทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากจนเกิดปัญหาผิวแห้งและจมูกลอกได้

จมูกลอก มีอาการอย่างไร

จมูกลอกอาจทำให้มีอาการ ดังนี้

  • ผิวหนังชั้นนอกลอกเป็นแผ่น ขุย หรือเป็นสะเก็ดผิว
  • ผิวเกิดความระคายเคือง หรืออักเสบ
  • คัน และแสบผิว
  • ผิวแดง หยาบกร้าน และผิวแห้ง

โดยปกติปัญหาจมูกลอกสามารถหายได้เองเมื่อดูแลสุขภาพผิวหรือรักษาปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุของอาการจมูกลอก อย่างไรก็ตาม หากมีอาการจมูกลอกหรือผิวลอกโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการวินิจฉัยอาการ

การดูแลผิวเพื่อบรรเทาอาการจมูกลอก

การดูแลผิวเพื่อช่วยบรรเทาอาการจมูกลอกอาจทำได้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวที่มีความเข้มข้นสูงอย่างขี้ผึ้ง ครีม หรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมต่าง ๆ เช่น กรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid) กลีเซอรีน (Glycerin) ยูเรีย (Urea) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยในการผลัดเซลล์ผิวและให้ความชุ่มชื้นกับผิว และควรทาเน้นบริเวณจมูกโดยเฉพาะหลังล้างหน้าทันทีเพื่อช่วยกักเก็บและเติมเต็มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง

นอกจากนี้ อาจปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้เพื่อช่วยป้องกันปัญหาจมูกลอก

  • ล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสูตรอ่อนโยน เพื่อให้ผิวไม่แห้งตึงและช่วยเติมเต็มความชุ่มชื้นให้กับผิว
  • ล้างหน้าด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ เพื่อช่วยลดการดึงน้ำมันออกจากผิวซึ่งอาจช่วยป้องกันปัญหาจมูกลอกได้
  • ทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป เพื่อช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของรังสียูวีในแสงแดด ที่อาจทำให้ผิวเสื่อมสภาพและอ่อนแอง่าย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dry skin. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dry-skin/symptoms-causes/syc-20353885. Accessed November 22, 2022

Why Do I Have Scaly Skin?. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/scaly-skin. Accessed November 22, 2022

Peeling skin. https://www.mayoclinic.org/symptoms/peeling-skin/basics/causes/sym-20050672. Accessed November 22, 2022

Peeling Skin. https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/17832-peeling-skin. Accessed November 22, 2022

DRY SKIN: DIAGNOSIS AND TREATMENT. https://www.aad.org/public/diseases/a-z/dry-skin-treatment. Accessed November 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/02/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีดูแลผิวหนัง ให้ผิวแข็งแรง ดูสุขภาพดี

ผิวลอกเป็นขุย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 15/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา