ฉีด ฟิลเลอร์ใต้ตา เป็นการฉีดสารเติมเต็มต่าง ๆ เข้าผิวหนังบริเวณใต้ตา เพื่อแก้ปัญหาใต้ตาดำ ร่องใต้ตาลึก และริ้วรอยต่าง ๆ ที่มักจะเด่นชัดเมื่ออายุมากขึ้น ทั้งนี้ ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา 1 ครั้ง จะใช้เวลาประมาณ 5-20 นาที โดยระยะเวลาเห็นผลจะขึ้นอยู่กับชนิดของฟิลเลอร์ที่ใช้ โดยปกติหลังฉีดฟิลเลอร์ใต้ตามักทำให้ตาบวมชั่วคราวแล้วจะหายไปเอง
[embed-health-tool-ovulation]
ฟิลเลอร์ใต้ตา คืออะไร
ฟิลเลอร์ใต้ตา เป็นการฉีดฟิลเลอร์ (Filler) หรือสารเติมเต็มชนิดต่าง ๆ เข้าบริเวณผิวหนังใต้ตา เพื่อแก้ปัญหารอยดำใต้ตา รวมถึงช่วยลดเลือนริ้วรอยหรือร่องลึกใต้ตา ซึ่งจะปรากฏชัดเจนเมื่ออายุมากขึ้น เพราะผิวหนังผลิตคอลลาเจน (Collagen) ได้น้อยลง และไขมันใต้ผิวหนังสูญสลายไปตามวัย
ทั้งนี้ ฟิลเลอร์ที่นิยมฉีดเพื่อแก้ปัญหาผิวหนังบริเวณรอบดวงตา มีดังนี้
- กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) เป็นสารที่พบได้ในเนื้อเยื่อของมนุษย์ และนิยมใช้เป็นฟิลเลอร์ใต้ตามากที่สุด โดยมีคุณสมบัติกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน จึงช่วยให้ผิวหนังใต้ตากระชับ เต่งตึง และชุ่มชื้น นอกจากนี้ กรดไฮยาลูรอนิคยังไม่กระจุกตัวเป็นก้อนเมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย และสามารถนำออกจากร่างกายได้ง่ายหากพบปัญหาใด ๆ เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการฉีดกรดไฮยาลูรอนิคคือผลลัพธ์อยู่ไม่นาน หรือประมาณ 6-12 เดือน
- แคลเซียม ไฮดรอกซีอะพาไทต์ (Calcium Hydroxyapatite) เป็นฟิลเลอร์ที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน เหมาะสำหรับฉีดเพื่อแก้ปัญหาริ้วรอยใต้ตาในระดับปานกลางหรือรุนแรง โดยการฉีดแคลเซียม ไฮดรอกซีอะพาไทต์ 1 ครั้งผลลัพธ์จะคงอยู่นานประมาณ 1-3 ปี แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดแลดูขาวหรือสว่างกว่าสีผิวบริเวณรอบ ๆ
- กรดพอลิแลกติก (Poly-L-Lactic Acid) เป็นฟิลเลอร์ที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนเพิ่มขึ้น จึงเหมาะสำหรับแก้ปัญหาริ้วรอยใต้ตาซึ่งเห็นชัดเนื่องจากการสูญสลายของไขมันใต้ผิวหนังเมื่ออายุมากขึ้น โดยทั่วไป เมื่อฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้ว กรดพอลิแลกติกบางส่วนจะสลายไปในช่วง 2-3 วันแรกทำให้ยังไม่เห็นผล หลังจากนั้นผลลัพธ์จะคงอยู่ประมาณ 2 ปี
- ไขมัน หากร่องใต้ตาลึกมากกว่าปกติ คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำให้ฉีดไขมันเพื่อแก้ปัญหา โดยจะดูดไขมันจากส่วนอื่นของร่างกาย เช่น หน้าท้อง สะโพก ต้นขา แล้วนำมาฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา ผลลัพธ์คงอยู่ประมาณ 1-5 ปีต่อการฉีด 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม การฉีดไขมันใต้ตามีขั้นตอนมากกว่าการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแบบอื่น ๆ และไม่เหมาะกับนักกีฬาหรือผู้ที่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นมักมีอัตราการดูดซึมไขมันที่มากกว่าคนทั่วไป และจะทำให้ผลลัพธ์ในการฉีดไขมัน 1 ครั้งคงอยู่ได้ไม่นาน
ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา
ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตามีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- คุณหมอหาตำแหน่งที่จะฉีดฟิลเลอร์ แล้วเช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณดังกล่าว
- คุณหมอทายาชาแบบครีมให้ โดยตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าผิวหนังภายใน 2-3 นาที
- คุณหมอฉีดฟิลเลอร์เข้าใต้ตาทั้ง 2 ข้าง
- คุณหมอเกลี่ยฟิลเลอร์ให้เข้าที่
สำหรับการฉีดไขมันใต้ตา ขั้นตอนการดูดไขมันจะเพิ่มเข้ามา โดยเริ่มแรกคุณหมอจะกรีดผิวหนังบริเวณที่ต้องการนำไขมันมาใช้ จากนั้นสอดท่อเข้าไปเพื่อดูดไขมันออกมาในลักษณะเดียวกับการดูดไขมันเพื่อลดความอ้วน เมื่อได้ไขมันเพียงพอแล้ว คุณหมอจะกรองไขมันด้วยวิธีทางการแพทย์เพื่อกำจัดของเหลวอื่น ๆ ที่ปะปนอยู่กับไขมันออก จากนั้นจึงค่อยฉีดเฉพาะส่วนที่เป็นไขมันเข้าใต้ตาของผู้รับบริการ
โดยทั่วไป การฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาจะใช้เวลาประมาณ 5-20 นาที และมักไม่ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกเจ็บหรืออาจเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ฉีด ฟิลเลอร์ใต้ตา แล้ว ควรดูแลตัวเองอย่างไร
หลังฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้ว ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ในช่วง 12 ชั่วโมงแรกหลังการฉีดฟิลเลอร์ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอาง และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังจากฉีดฟิลเลอร์ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อน รวมถึงการโดนแสงแดด และงดนวดหน้า
- ไปพบคุณหมอตามนัดหมาย เพื่อติดตามผลและตรวจสภาพผิวหนังรอบ ๆ ดวงตา
ฟิลเลอร์ใต้ตา ฉีดแล้วมีผลข้างเคียงอย่างไร
โดยทั่วไป ผลข้างเคียงชั่วคราวที่พบได้เมื่อ ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา มีดังนี้
- ผิวหนังใต้ตาเป็นรอยแดง หรือจุดแดง
- ผิวหนังใต้ตาบวม
- ผิวหนังใต้ตาช้ำ
นอกจากนี้ การฉีดฟิลเลอร์เข้าใต้ผิวหนังในระดับที่ตื้นเกินไป อาจเป็นสาเหตุให้ผิวหนังใต้ตากลายเป็นสีน้ำเงินเรื่อ ๆ หรือเรียกว่าปรากฏการณ์ทินดอลล์ (Tyndall Effect) โดยวิธีแก้คือการนำฟิลเลอร์ออกจากใต้ผิวหนัง
ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ใต้ตากับสถานพยาบาลใด ๆ ควรศึกษาข้อมูลให้ถ้วนถี่เสียก่อนว่าได้มาตรฐานและได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยและความเชี่ยวชาญของคุณหมอ เนื่องจากการฉีดฟิลเลอร์โดยผู้ด้อยประสบการณ์หรือหมอเถื่อน อาจเป็นสาเหตุให้ผู้รับบริการเผชิญกับผลข้างเคียงในระดับรุนแรงได้ เช่น ฟิลเลอร์กระจุกตัวเป็นก้อน แผลเป็น เส้นประสาทเป็นอัมพาต