backup og meta

ยาม่วงทาปาก คือยาอะไร มีข้อควรระวังในการใช้อย่างไร

ยาม่วงทาปาก คือยาอะไร มีข้อควรระวังในการใช้อย่างไร

ยาม่วงทาปาก หรือเจนเชียน ไวโอเลต (Gentian Violet) เป็นยาต้านเชื้อราชนิดหนึ่ง เดิมใช้ทาในปากเพื่อรักษาอาการติดเชื้อราในช่องปาก รวมถึงใช้ทาผิวหนังเพื่อรักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ เนื่องจากเชื้อรา ปัจจุบันนี้ ยาม่วงทาปากถูกสั่งห้ามใช้ในบางประเทศเนื่องจากมีงานวิจัยที่รายงานว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น มะเร็ง เป็นพิษต่อเยื่อสมอง ทำให้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันถึงความปลอดภัยในการใช้ยาม่วงทาปากภายในช่องปากและภายในอวัยวะอื่น ๆ เช่น หู จมูก ดังนั้น ควรใช้ยาม่วงทาปากด้วยความระมัดระวัง หรือปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเช่น เป็นแผลในปาก หลอดอาหารอักเสบ หรือแผลพุพองตามข้อพับหรือใต้ราวนม นอกจากนี้ ยาม่วงยังก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น เป็นผื่นแดง คันตามผิวหนัง วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ใบหน้าบวม

[embed-health-tool-bmi]

ยาม่วงทาปาก คืออะไร

ยาม่วงหรือยาม่วงทาปาก มีชื่อทางการว่า เจนเชียน ไวโอเลต เป็นยาต้านเชื้อรา เพื่อรักษาการติดเชื้อราในช่องปาก และใช้ทาผิวหนังเพื่อรักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ เนื่องจากเชื้อรา อาทิ โรคกลาก โรคน้ำกัดเท้า นอกจากนี้ ยาม่วงทาปากยังมีสรรพคุณต้านแบคทีเรียที่ออกฤทธิ์ไม่รุนแรง

ยาม่วงทาปากใช้อย่างไร

การใช้ยาม่วงทาปาก ควรแต้มเฉพาะบริเวณที่พบการติดเชื้อในช่องปากเท่านั้น เนื่องจากการใช้ยาม่วงในปริมาณมาก อาจเป็นสาเหตุให้แพ้หรือระคายเคืองได้

สำหรับการทายาม่วงบนผิวหนังที่ติดเชื้อ ควรปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ต้องการให้เรียบร้อยและเช็ดให้แห้ง ก่อนใช้ยาม่วง
  • ใช้สำลีพันก้านจุ่มยาม่วงในปริมาณเหมาะสม แล้วแต้มบนผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ ควรใช้ยาม่วงวันละ 2-3 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ
  • ล้างมือทุกครั้งหลังใช้ยาม่วง
  • ไม่ควรปิดผิวหนังหลังใช้ยาม่วง เพราะอาจเพิ่มโอกาสให้ผิวหนังระคายเคืองได้

ยาม่วงทาปากมีผลข้างเคียงอย่างไร

การใช้ยาม่วงทาปาก อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพดังนี้

  • การใช้ยาม่วงทาปาก อาจเป็นสาเหตุของการระคายเคือง และแผลในช่องปาก นอกจากนี้ การกลืนหรือบริโภคยาม่วง อาจทำให้หลอดอาหารอักเสบได้
  • การใช้ยาม่วงทาผิวหนัง อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง แสบร้อน เป็นรอยแดง หรือบวมได้ ทั้งนี้ หากเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาม่วงควรหยุดใช้ยา และเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจดูอาการ
  • การใช้ยาม่วงบริเวณที่เป็นรอยพับ เช่น ระหว่างนิ้ว ใต้ราวนม ข้อพับ อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นแผลพุพองเนื่องจากความอับชื้นได้ ดังนั้น จึงควรแต้มยาม่วงบนผิวหนังบริเวณรอยพับในปริมาณน้อย และรอให้ยาแห้งสนิทก่อนสวมเสื้อผ้าหรือรองเท้า

นอกจากนั้น ปัจจุบันนี้ มีรายงานการวิจัยที่ระบุว่า ยาม่วงทาปากอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ เช่น มะเร็ง พิษต่อเยื่อสมอง การเปลี่ยนแปลงของยีน อาการแพ้ ทำให้ยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงความปลอดภัยในการใช้ยาม่วงทาปาก บางเมืองหรือบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (รัฐแคลิฟอร์เนีย) แคนาดา สั่งห้ามใช้ยาม่วงทาปากเนื่องจากอาจมีสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

ในตัวกฎหมาย Proposition 65 หรือ กฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ระบุรายชื่อสารเคมีอันตรายที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดมะเร็ง ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562 ได้เพิ่มยาม่วงทาปากเข้าไปอยู่ในรายชื่อสารก่อมะเร็ง โดยระบุว่า มีหลักฐานชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ที่ได้ทำการทดลองและแสดงให้เห็นว่า ยาม่วงทาปากอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้

ข้อควรระวังในการใช้ ยาม่วงทาปาก

การใช้ยาม่วง มีข้อควระวังดังต่อไปนี้

  • ก่อนใช้ยาม่วงควรแจ้งให้คุณหมอทราบถึงการแพ้ยา เนื่องจากยาม่วงอาจมีส่วนผสมบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ผู้ที่แพ้ยาม่วงมักมีผื่นแดงขึ้น คันตามร่างกาย วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว บวมบริเวณใบหน้า ลิ้น หรือคอ
  • การใช้ยาม่วงที่มีสูตรเข้มข้นอาจทำให้ผิวหนังดำคล้ำ เป็นแผลบริเวณรอยพับ และเนื้อเยื่อตายได้
  • ปริมาณการใช้ยา ความถี่ในการใช้ยา และระยะเวลาการใช้ยา จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับสาเหตุและภาวะสุขภาพ จึงควรใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
  • หากยาม่วงเข้าตา ควรรีบล้างตาในน้ำสะอาด เป็นเวลา 15 นาที
  • ยาม่วงอาจเปื้อนผิวหนังและเสื้อผ้าได้ จึงควรทายาด้วยความระมัดระวัง
  • เมื่อลืมใช้ยาตามช่วงเวลาที่คุณหมอสั่ง ให้ใช้ยาม่วงทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงช่วงเวลาถัดไปที่ต้องใช้ยา ให้ข้ามขนาดยาที่ลืมไปก่อนหน้าและปฏิบัติตามตารางการใช้ตามปกติ

การเก็บรักษา ยาม่วงทาปาก

เมื่อใช้ยาม่วงทาปากเรียบร้อยแล้ว ควรปิดฝาภาชนะให้แน่น เก็บในอุณหภูมิห้องที่ไม่ร้อนหรือชื้นมากเกินไป วางให้ห่างจากมือเด็ก และหลีกเลี่ยงการวางไว้ในบริเวณที่แสงแดดส่องถึง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gentian Violet Solution, Non- – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-4397/gentian-violet-topical/details. Accessed June 16, 2022

Gentian Violet (Topical Route)

Print. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/gentian-violet-topical-route/description/drg-20064064. Accessed June 16, 2022

ชื่อยาทั่วไป: Gentian violet. http://www.paphayomhospital.go.th/medicine/file/Gentian%20violet.pdf. Accessed June 16, 2022

Gentian violet. https://dermnetnz.org/topics/gentian-violet. Accessed June 16, 2022

Gentian Violet (Topical Route). https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/gentian-violet-topical-route/proper-use/drg-20064064. Accessed June 16, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เชื้อราผิวหนัง ป้องกันอย่างไร รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

ตัวโลน คืออะไร เป็นอันตรายต่อผิวหนังหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา