รอยแผลเป็น คือ เนื้อเยื่อใหม่ที่ร่างกายสร้างขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อทดแทนเนื้อเยื่อที่เสียหายจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุ การผ่าตัด บาดแผล แมลงกัด บางคนอาจมีเพียงแค่รอยแผลเป็นเล็ก ๆ ที่อาจบรรเทาได้โดยการใช้ยาทาลดรอยแผลเป็น แต่สำหรับผู้ที่มีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่และมีรอยแผลเป็นนูน อาจจำเป็นต้อง ลบรอยแผลเป็น ด้วยการทำเลเซอร์ หรือการใช้สารเคมีลอกผิว เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าและปรับสภาพผิวให้เรียบเนียน
สาเหตุที่ทำให้เกิดรอยแผลเป็น
รอยแผลเป็นเกิดจากการที่เนื้อเยื่อผิวได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ และร่องรอยของโรค เช่น แผลเป็นจากสิว อีสุกอีใส แผลไฟไหม้ รอยถลอก หรืออาจเกิดหลังการผ่าตัด ร่างกายจึงสร้างเซลล์ผิวใหม่ที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนเดิมขึ้นมา เพื่อซ่อมแซมและสมานแผลทดแทนเซลล์ผิวเก่า จึงอาจส่งผลให้เกิดแผลเป็น
ประเภทของรอยแผลเป็น
ประเภทของรอยแผลเป็น มีดังนี้
- แผลเป็นหดรั้ง (Contracture Scar) คือแผลเป็นที่เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังได้รับความเสียหายในวงกว้าง ส่วนใหญ่เป็นแผลจากไฟไหม้ ทำให้ผิวหนังมีการหดตัว ผิวหนังตึง ผิดรูป และเสียหายลึกลงถึงกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวได้
- แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid scars) คือแผลเป็นที่มีลักษณะนูน หนา และมีขนาดใหญ่กว่าบาดแผล ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการสมานแผลที่ทำให้เนื้อเยื่อเจริญเติบโตผิดปกติ แผลเป็นคีลอยด์อาจรักษาได้ด้วยการผ่าตัด การฉีดสเตียรอยด์ หรือการแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลว
- แผลเป็นนูน (Hypertrophic scar) เป็นแผลเป็นนูนที่คล้ายกับคีลอยด์ แต่จะไม่ใหญ่เกินขอบเขตของบาดแผลที่เป็น อาจรักษาได้ด้วยการผ่าตัด การฉีดสเตียรอยด์ หรือการแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวเช่นกัน
- แผลเป็นจากสิว หรือหลุมสิว (Acne scars) สิวอักเสบ สิวหัวช้าง หรือสิวหัวหนองขนาดใหญ่อาจส่งผลให้เกิดการอักเสบที่รุนแรง และส่งผลให้เกิดรอยแผลเป็นหรือหลุมสิวได้หลังจากสิวหาย ซึ่งแผลเป็นจากสิวอาจมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น หลุมลึก หลุมกว้าง หรืออาจทิ้งรอยดำไว้บนผิว
วิธีลบรอยแผลเป็น
วิธีลบรอยแผลเป็น มีดังต่อไปนี้
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ในรูปแบบฉีด โดยปกติแล้วจะฉีด 3 ครั้ง ห่างกัน 4-6 สัปดาห์ เพื่อประเมินผลลัพธ์หลังการฉีด และอาจจำเป็นต้องฉีดต่อไปอีกหลายเดือนจนกว่าแผลเป็นจะมีอาการดีขึ้น
- การกรอผิว เป็นการกรอผิวด้วยลูกกลิ้งที่มีหนามแหลมเล็ก ๆ เพื่อเจาะรูบนชั้นผิวหนัง และกระตุ้นให้ผิวสร้างคอลลาเจนใหม่ ทำให้ผิวมีความยืดหยุ่น ช่วยให้รอยแผลเป็นจางลง ซึ่งอาจจำเป็นต้องรักษาประมาณ 4-6 ครั้ง หลังการกรอผิวอาจส่งผลให้มีอาการผิวแดงเล็กน้อย 2-3 วัน
- การเลเซอร์ เป็นการใช้รังสีที่มีความเข้มข้นสูงฉายลงในบริเวณแผลเป็น เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นบนที่มีความคล้ำออก ทำให้แผลเป็นดูจางลง อีกทั้งยังอาจช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนในชั้นผิว ทำให้ผิวฟื้นฟูและมีความยืดหยุ่นขึ้น แต่การเลเซอร์อาจส่งผลให้ผิวมีอาการบวมแดงประมาณ 5 วัน และจำเป็นต้องเข้ารับการเลเซอร์หลายครั้ง ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
- การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี หรือการลอกหน้า เป็นกระบวนการใช้สารเคมีเฉพาะทาลงบนผิว เพื่อผลัดเซลล์ผิวเก่าชั้นบนสุดออก ทำให้ผิวสร้างเซลล์ผิวใหม่แทนที่ และช่วยทำให้แผลเป็นดูจางลง
- การฉีดฟิลเลอร์ คุณหมออาจฉีดฟิลเลอร์เข้าไปบริเวณใต้ผิวหนัง เพื่อทำให้รอยแผลเป็นจางลง แผลเป็นดูเรียบเนียนขึ้น แต่วิธีการนี้มีผลเพียงแค่ชั่วคราว ไม่สามารถรักษารอยแผลเป็นได้อย่างถาวร
- การแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลว เพื่อทำให้แผลเป็นแข็งตัว ทำลายเนื้อเยื่อของแผลเป็น และลดการเจริญเติบโต ซึ่งเหมาะกับแผลเป็นแบบคีลอยด์และแบบนูน อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้อาจส่งผลให้มีอาการผิวหนังพุพองจากความเย็นได้ และอาจต้องใช้เวลารักษาหลายปีกว่าที่แผลเป็นจะมีอาการดีขึ้น
- การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ คือกระบวนการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อแผลเป็นออก แล้วปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นมาแทนที่ ทำให้ผิวดูเรียบเนียน ไม่มีรอยแผลเป็น โดยปกติมักจะใช้ผิวหนังในบริเวณหลังใบหู
- การผ่าตัด เป็นวิธีลบรอยแผลเป็นที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ โดยเฉพาะแผลเป็นนูนและแผลเป็นดึงรั้ง ซึ่งอาจใช้วิธีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อร่วมด้วย เพื่อช่วยลบรอยแผลเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหว
การดูแลตัวเองหลังลบรอยแผลเป็น
การดูแลตัวเองหลังลบรอยแผลเป็น อาจทำได้ ดังนี้
- ระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันการเกิดแผลที่อาจนำไปสู่แผลเป็นอีก หากเกิดอุบัติเหตุอีกครั้ง เช่น เข่าถลอก หกล้ม ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกที่ติดอยู่บาดแผล และทายาที่เหมาะสม ตามคำแนะนำของเภสัชกร แต่สำหรับผู้ที่มีบาดแผลขนาดใหญ่ เช่น แผลไฟไหม้ รถล้ม ควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที
- ทายาลดรอยแผลเป็น หรือปิโตเลียมเจล เพื่อให้ผิวบริเวณแผลเป็นมีความชุ่มชื้นและยืดหยุ่นมากขึ้น
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด เช่น เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว หมวกปีกกว้าง และควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป เพื่อช่วยให้รอยแผลเป็นดูจางลง และป้องกันรอยแผลเป็นเปลี่ยนสีเป็นสีที่เข้มขึ้น ทำให้ผิวคล้ำ เป็นรอยด่างดำ และไม่เรียบเนียน
[embed-health-tool-heart-rate]