บีบสิว อาจเป็นวิธีการหนึ่งในการกำจัดสิวบนใบหน้าแบบชั่วคราว แต่หากบีบสิวไม่ถูกวิธี อาจทำให้ผิวอักเสบ ติดเชื้อ เป็นแผล สิวที่อาจบีบได้ เช่น สิวหัวขาว สิวหัวดำ แต่ไม่ควรบีบสิวอักเสบและสิวหัวช้างเพราะอาจทำให้อาการแย่ลงและเกิดการอักเสบในบริเวณกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ การบีบสิว ยังอาจชะลอกระบวนการบำบัดผิวตามธรรมชาติ ทำให้สิวหายช้าลงและทำให้เกิดแผลเป็น จึงควรศึกษาชนิดของสิว และการบีบสิวที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
ประเภทของสิว
เมื่อเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว (Propionibacterium Acnes) ไปผสมกับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว สิ่งสกปรกบนผิว และน้ำมันที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) แล้วไปอุดตันรูขุมขน อาจทำให้เกิดตุ่มหรือหนองใต้ผิวหนัง หรือที่เรียกว่า สิว ซึ่งสิวที่บีบได้ อาจมีดังนี้
- สิวหัวขาว อาจเกิดจากการที่รูขุมขนอุดตันด้วยน้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้ว จนเกิดตุ่มสีขาวหรือหนองขึ้นใต้ผิวหนัง
- สิวหัวดำ อาจเกิดขึ้นจากการรวมตัวของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและน้ำมันบนผิวหนัง เมื่อเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและน้ำมันที่อุดตันอยู่บริเวณรูขุมขนสัมผัสกับอากาศ ก็อาจทำให้รูขุมขนดูดำขึ้น จนทำให้เกิดเป็นสิวหัวดำ
สำหรับสิวอักเสบหรือสิวหนอง ไม่แนะนำให้บีบ เพราะอาจอักเสบ ติดเชื้อ และอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้
บีบสิว อย่างไรให้ถูกวิธี
การรอให้สิวหายเองอาจต้องใช้เวลาหลายวัน การบีบสิวอาจดูเหมือนเป็นวิธีการแก้ไขความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อมองเห็นสิวได้ภายในไม่กี่วินาที การบีบสิวอาจจะดูเหมือนง่าย แต่ก็อาจรบกวนกลไกการรักษาตามธรรมชาติของสิว ทั้งยังอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นและการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ดังนั้น หากต้องการจะบีบสิว อาจทำตามขั้นตอนเหล่านี้ เพื่อให้ปลอดภัยกับผิว
โดยการบีบสิวหัวขาว และสิวหัวดำ อาจทำได้ดังนี้
- ทาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) หรือเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ลงบนสิวหัวขาวที่มีขนาดใหญ่ หรือบริเวณที่เกิดสิวหัวดำ เพื่อช่วยลดการอักเสบ และขจัดสิ่งสกปรก
- ล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อยู่บนมือ
- เช็ดเข็มด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล แล้วค่อย ๆ ใช้เข็มเจาะสิว
- ใช้สำลีหรือผ้าก๊อซเช็ดบริเวณที่ใช้เข็มเจาะ โดยเช็ดออกทางด้านข้าง เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียกลับเข้าสู่ผิวหนังบริเวณที่ถูกเจาะ
- สำหรับสิวหัวดำ อาจใช้สำลีก้านกดเบา ๆ ทั้ง 2 ด้านของสิวหัวดำ สิ่งอุดตันในรูขุมขนอาจหลุดออกมาอย่างง่ายดาย แต่หากสิ่งอุดตันไม่หลุดออกมา ไม่ควรพยายามกดต่อไป เพราะจะทำให้ผิวบริเวณนั้นช้ำ และสิวจะเกิดการอักเสบมากขึ้น
- ฆ่าเชื้อบริเวณที่บีบสิวอีกครั้งด้วยยาสมานแผลที่มีส่วนผสมของสารสกัดวิชฮาเซล (Witch Hazel) ซึ่งอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และสารอื่น ๆ ที่อาจช่วยทำให้ผิวแข็งแรงขึ้น ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผิว ทั้งยังช่วยลดแบคทีเรีย ลดการระคายเคือง และลดรอยแดงอีกด้วย
ข้อควรระวังในการบีบสิว
แม้ว่าการบีบสิวอาจช่วยกำจัดสิวได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจมีข้อควรระวังบางอย่างในการบีบสิว ดังนี้
- ไม่ควรบีบสิวอักเสบ เม็ดใหญ่ เป็นก้อนกลม ๆ และดูแล้วมีขนาดลึก เพราะอาจทำให้เกิดแผลเป็นหลังบีบสิวได้ ทางทีดีควรรอให้สิวลักษณะนี้หายเอง หรืออาจไปพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี หรืออาจใช้ยารักษาสิวที่คุณหมอสั่งจ่าย
- ระวังอย่าบีบสิวแบบตุ่ม (Papules) ซึ่งเป็นสิวสีแดง บวม และไม่มีหัวสีขาว
- ตุ่มที่ใหญ่และรู้สึกเจ็บปวดอาจไม่ใช่สิว แต่อาจเป็นตุ่มหนอง
- ล้างหน้าหรืออาบน้ำทุกครั้งหลังจากออกกำลังกาย
- ทำความสะอาดใบหน้าวันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาทำความสะอาดแบบอ่อนโยน
- อย่าสัมผัสใบหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกบนผิวหนังและรูขุมขน
- หากบีบสิวครั้งแรกไม่สำเร็จ ไม่ควรบีบซ้ำ เพราะอาจทำให้สิวเกิดการอักเสบมากขึ้น
- ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดสิว รวมถึงทางเลือกและวิธีการรักษาดูแลผิวที่เหมาะสม