สิว คือ การอักเสบของผิวหนังที่อาจเกิดจากการอุดตันของน้ำมัน และเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรีย ( P. Acne) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยเฉพาะวัยรุ่น และผู้หญิงวัยกลางคนที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome) การรักษาสิวจึงอาจขึ้นอยู่สาเหตุและความรุนแรงของสิว ยิ่งเข้ารับการรักษาเร็วอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดสิวรุนแรงมากขึ้นได้
[embed-health-tool-ovulation]
คำจำกัดความ
สิว คืออะไร
สิว คือ ภาวะทางผิวหนังที่เกิดขึ้นได้เมื่อรูขุมขนอุดตันด้วยน้ำมัน และเซลล์ผิวที่ตายแล้ว รวมทั้งการติดเชื้อแบคทีเรีย P. Acne อาจทำให้เกิดเป็นสิวหัวขาว สิวหัวดำ หรือสิวอักเสบ ซึ่งสิวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในวัยรุ่น หรือวัยกลางคนที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมาก
อาการ
อาการสิว
อาการของสิวอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของสิว ดังนี้
- สิวหัวดำ ลักษณะรูขุมขนเปิด ตุ่มเป็นสีดำ สามารถกดออกได้ในระยะนี้
- สิวหัวขาว ลักษณะคล้ายสิวหัวดำ รูขุมขนปิด อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นเมื่อบีบออก
- สิวมีเลือดคั่ง เป็นตุ่มหน่องเล็ก ๆ ที่มีเลือดปนที่อาจเจ็บปวด
- สิวตุ่มหนอง มีลักษณะคล้ายสิวมีเลือดคั่ง แต่มีจุดสีขาวอยู่ตรงกลางสิว เกิดจากการสะสมของหนอง
- ซีสต์ เป็นก้อนหนองขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง มีอาการเจ็บปวด เสี่ยงเกิดแผลเป็นถาวร
สาเหตุ
สาเหตุสิว
สิวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การผลิตน้ำมันส่วนเกิน รูขุมขนอุดตันจากเซลล์ผิวที่ตายและหรือน้ำมันบนผิว การติดเชื้อแบคทีเรีย และการอักเสบ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้บนผิวหนังทุกบริเวณ แต่มักพบบริเวณใบหน้า หลัง หน้าอก และไหล่ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีรูขุมขนเชื่อมต่อกับต่อมไขมันมากที่สุดจึงอาจ ส่งผลให้เกิดสิวขึ้นบ่อยครั้ง
สิวหัวขาวจะมีลักษณะผิวหนังนูนขึ้น หัวสิวมีสีขาว หรืออาจเป็นตุ่มนูนสีแดงและมีจุดกึ่งกลางเป็นสีขาวซึ่งเกิดจากรูขุมขนอุดตัน เกิดการอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรียภายในผิวหนังทำให้เกิดก้อน มีลักษณะเป็นถุงน้ำใต้ผิวหนัง ส่วนสิวหัวดำหรือสิวหัวเปิด ที่มีลักษณะเป็นสีดำเหมือนมีสิ่งสกปรกฝังอยู่ในรูขุมขน แต่ที่จริงแล้วเกิดจากน้ำมันและแบคทีเรียที่สัมผัสกับอากาศจนกลายเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ
นอกจากนี้ สิวอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ในช่วงวัยหนุ่มสาว ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) จะเพิ่มขึ้น ทำให้ต่อมไขมันขยายใหญ่ขึ้น และทำให้น้ำมันบนผิวเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ในช่วงวัยกลางคนก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือเป็นกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ความเครียด อาจมีส่วนทำให้สิวมีอาการที่รุนแรงและอาจลุกลามมากขึ้น
- อาหาร การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก เช่น ขนมปัง มันฝรั่งทอด หรือนม อาจทำให้สิวมีอาการแย่ลงในผู้ป่วยบางราย
- การใช้ยาบางชนิด อาจก่อให้เกิดสิวได้ เช่น ยาที่มีคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เทสโทสเตอโรน (Testosterone) หรือลิเธียม (Lithium)
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดสิว แต่มักเกิดขึ้นได้น้อย เช่น อาหารมัน ช็อกโกแลต วิธีทำความสะอาดผิว เครื่องสำอาง ปัจจัยเหล่านี้อาจสร้างความระคายเคืองผิว หรือการอุดตันรูขุมขน ซึ่งอาจทำให้เกิดสิว หรือมีอาการรุนแรงกว่าเดิม
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงสิว
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดสิว มีดังนี้
- อายุ สิวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่ส่วนใหญ่พบในวัยรุ่น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมักเกิดขึ้นในวัยรุ่นและการตั้งครรภ์
- พันธุกรรม บางครอบครัวอาจมีพันธุกรรมที่ทำให้มีโอกาสเป็นสิวมากกว่า
- ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความมันให้กับผิว ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมันอาจเพิ่มการอุดตันได้
- ความระคายเคือง สิ่งของบางอย่างที่ต้องสัมผัสกับผิว เช่น โทรศัพท์มือถือ หมวกนิรภัย และเป้สะพายหลัง อาจทำให้เกิดความระคายเคืองกับผิวได้
- ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ ลิเธียม ยากันชัก ฮอร์โมนแอนโดรเจน สเตียรอยด์
- การสูบบุหรี่ อาจทำให้เกิดสิวในผู้สูงอายุ
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยสิว
การวินิจฉัยสิวคุณหมออาจตรวจสภาพผิวในบริเวณที่เกิดสิวว่ามีลักษณะและอาการรุนแรงมากแค่ไหน เพื่อเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสม ดังนี้
- สิวไม่รุนแรง ส่วนใหญ่เป็นสิวหัวขาวและสิวหัวดำ อาจมีเลือดคั่งและเป็นตุ่มหนองเล็กน้อย
- สิวรุนแรงปานกลาง สิวที่มีลักษณะแพร่กระจายบนผิวหนังมากขึ้น
- สิวรุนแรงมาก มีตุ่มหนอง เลือดคั่งขนาดใหญ่ และทำให้มีอาการปวด อาจเป็นก้อนหรือซีสต์จำนวนมาก และอาจเป็นแผลเป็น
การรักษาสิว
การรักษาสิวอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิว ดังนี้
การรักษาเฉพาะที่ (เจล ครีม และโลชั่น)
การรักษาด้วยยาในรูปแบบเจล ครีม หรือโลชั่น ใช้รักษาสิวตั้งแต่ในระดับไม่รุนแรงจนถึงรุนแรงมาก ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ ได้แก่
- เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) เป็นยาฆ่าเชื้อที่ช่วยลดจำนวนแบคทีเรียบนผิวหนัง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และยังช่วยลดจำนวนสิวหัวขาวและสิวหัวดำได้ ควรใช้หลังจากล้างหน้าหรือทำความสะอาดผิว 20 นาที โดยทาให้ทั่วบริเวณที่มีสิว อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น ผิวแห้งตึง คัน แสบร้อน ผิวลอก รอยแดง ผิวหนังบาง ผลข้างเคียงเหล่านี้มักหายไปเมื่อเสร็จสิ้นการรักษา
- เรตินอยด์เฉพาะที่ ช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และป้องกันการสะสมของสิ่งสกปรกในรูขุมขน และลดรอยดำได้ ใช้วันละครั้งก่อนนอน โดยทาบริเวณที่สิวหลังทำความสะอาดผิว 20 นาที อาจมีผลข้างเคียงทำให้ระเคืองผิวและแสบผิวเล็กน้อย ยาชนิดนี้ไม่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์
- ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง คุณหมออาจแนะนำให้ใช้เพียงประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงแบคทีเรียดื้อยาซึ่งอาจทำให้สิวแย่ลงได้ อาจมีผลข้างเคียงทำให้ระคายเคืองผิว รอยแดง และผิวลอก
- กรดอะเซลาอิก (Azelaic acid) เป็นยาทางเลือกรักษาสิว หากยาชนิดอื่นทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงมาก กรดอะเซลาอิกช่วยกำจัดผิวที่ตายแล้วและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดรอยดำได้ อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวไหม้ แสบ คัน ผิวแห้ง และรอยแดง
ยาปฏิชีวนะสำหรับรับประทาน
ยาปฏิชีวนะแบบเม็ด เป็นยารับประทานมักใช้ร่วมกับการรักษาเฉพาะที่เพื่อรักษาสิวที่รุนแรง ส่วนใหญ่ใช้ยาดอกซีไซคลีนเตตราไซคลีน (Doxycycline) แต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะใช้ยาอม็อกซีซิลินอิโทรมัยซิน (Amoxycillin) ใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผิวด้วย
การรักษาด้วยฮอร์โมน
การรักษาด้วยฮอร์โมนมักเหมาะกับผู้หญิงที่เป็นสิวฮอร์โมน ที่เกิดสิวอาจเกิดขึ้นเฉพาะบางช่วงเวลา เช่น กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ ซึ่งรักษาด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดแบบผสมจะทำให้สิวดีขึ้นตามลำดับ แต่อาจใช้ระยะเวลานานถึง 1 ปี
Co-cyprindiol
Co-cyprindiol เป็นการรักษาด้วยฮอร์โมนมักใช้รักษาสิวที่รุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ช่วยลดการผลิตน้ำมันบนผิว อาจใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 2 – 6 เดือน
ผลข้างเคียงอาจทำให้ปวดหัว เจ็บหน้าออก อารมณ์แปรปรวน อารมณ์ทางเพศลดลง และผู้หญิงอาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคตได้
ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin)
ไอโซเตรติโนอิน เป็นยารับประทานชนิดแคปซูล ใช้รักษาสิวที่มีอาการรุนแรงและมีผลดีหลายประการ ดังนี้
- ลดปริมาณการผลิตน้ำมันบนผิวและปรับสมดุลความมันให้ปกติ
- ช่วยป้องกันการอุดตันในรูขุมขน
- ลดปริมาณแบคทีเรียบนผิวหนัง
- ช่วยลดรอยแดงและบวมบริเวณที่เกิดสิว
การใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ผิวไวต่อแสงแดดมาก ตาแห้ง คอแห้ง จมูกแห้ง มีผลกับค่าตับอักเสบปวดหัว ปวดเมื่อยร่างกาย และมีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการ จึงห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
การรักษาที่ไม่ใช้ยา
- การกดสิว (Comedone extractor) เป็นเครื่องมือรูปทรงปากกาขนาดเล็กใช้กดสิวประเภทสิวหัวดำและสิวหัวขาว
- การลอกผิวด้วยสารเคมี ใช้สารละลายเคมีบนใบหน้าทำให้ผิวลอก และให้ผิวใหม่เกิดขึ้นแทนที่
- การรักษาด้วยแสง (photodynamic therapy) ฉายแสงที่ผิวหนังทำให้อาการของสิวดีขึ้น
วิธีการรักษาแบบไม่ใช้ยาเหล่านี้อาจไม่ทำให้สิวหายขาดได้ และไม่ควรใช้รักษาสิวเป็นประจำ
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการสิว
การดูแลผิวเพื่อป้องกันการเกิดสิวและบรรเทาไม่ให้ปัญหาสิวรุนแรงขึ้น สามารถทำได้ดังนี้
- ทำความสะอาดบริเวณที่เป็นสิวด้วยผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยน โดยทำความสะอาดวันละ 2 ครั้ง และถ้าผมมันมากควรสระผมทุกวันด้วยแชมพูสูตรอ่อนโยน
- ควรอาบน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังทำกิจกรรมที่ใช้กำลังหรือมีเหงื่อออกมาก เพราะเหงื่อบนผิวอาจก่อให้เกิดสิวได้
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์บางชนิดที่อาจเพิ่มความมันหรือความระคายเคืองผิว เช่น เครื่องสำอางที่มีน้ำมัน ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม และไม่ควรขัดผิวมากเกินไปด้วย
- ปกป้องผิวจากแสงแดด ยารักษาสิวบางชนิดอาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น จึงควรใช้ครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวเป็นประจำ
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่มีส่วนประกอบของเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) ซาลิไซลิก (Salicylic acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) หรือกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha hydroxy acids) เพื่อช่วยขจัดน้ำมันส่วนเกิน และกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว
- หลีกเลี่ยงการเสียดสี หรือแรงกดบนผิว เพราะอาจเป็นต้นเหตุของการเกิดสิว เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ หมวก หรือเป้สะพายหลัง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือแกะเกาบริเวณที่เป็นสิว เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเกิดแผลเป็นได้