backup og meta

สิวประจำเดือน สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีรักษาและการป้องกัน

สิวประจำเดือน สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีรักษาและการป้องกัน

สิวประจำเดือน เป็นสิวที่มักเกิดขึ้นในช่วงก่อนเป็นประจำเดือนหรือขณะเป็นประจำเดือน เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเพิ่มขึ้นและกระตุ้นให้ต่อมไขมันขับน้ำมันออกมามากเกินไป เมื่อน้ำมันส่วนเกินรวมตัวกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว สิ่งสกปรก และแบคทีเรีย อาจทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดสิว สิวประจำเดือนโดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาแต้มสิวและการดูแลผิวอย่างถูกวิธี

[embed-health-tool-bmi]

สิวประจำเดือน เกิดจากอะไร

ส่วนใหญ่แล้ว สิวมักมีสาเหตุมาจากการอุดตันของรูขุมขน โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นประจำเดือน ฮอร์โมนในร่างกายจะกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตซีบัม (Sebum) หรือน้ำมันที่มีหน้าที่เคลือบผิวออกมามากเกินไป เมื่อน้ำมันส่วนเกินรวมกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว สิ่งสกปรก และแบคทีเรียบนผิวหนัง อาจทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดสิว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสิวประจำเดือน และทำให้สิวแย่ลง ดังนี้

  • ความเครียด เมื่อเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด เช่น คอร์ติซอล แอนโดรเจน ที่จะไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินไปจนอาจก่อให้เกิดสิวและทำให้สิวที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นได้
  • ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นสิวประจำเดือน อาจทำให้เสี่ยงเกิดสิวประจำเดือนได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
  • ผลิตภัณฑ์ความสะอาดเส้นผมและผิวหนัง เช่น แชมพูสระผม โฟมล้างหน้า มอยส์เจอร์ไรเซอร์ ครีมกันแดด อาจไปอุดตันรูขุมขนและทำให้เกิดสิวในช่วงที่เป็นประจำเดือน โดยเฉพาะหากมีส่วนผสมที่ทำให้ผิวหนังระคายเคืองหรือเกิดสิวได้ง่าย เช่น น้ำหอม พาราเบน ซิลิโคน แอลกอฮอล์
  • ผลข้างเคียงของยา การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาลิเธียม (Lithium) ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ยากันชัก ยาบาร์บิทูเรต (Barbiturates) ที่ใช้รักษาอาการวิตกกังวล อาจกระตุ้นให้สิวประจำเดือนแย่ลงได้
  • ภาวะสุขภาพ เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) โรคเนื้องอกจากแอนโดรเจน (Androgen-secreting tumors) โรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) หรือโรคที่ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ผิดปกติ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ไม่สมส่วน

สิวประจำเดือน ขึ้นตรงไหน

สิวประจำเดือนมักปรากฏที่บริเวณส่วนล่างของใบหน้า เช่น คาง กรอบหน้า ลำคอ ส่วนใหญ่จะเป็นสิวตุ่มแดง อักเสบ เป็นหนอง หรืออาจมีลักษณะเป็นสิวหัวดำ หรือสิวหัวขาวก็ได้ สิวประจำเดือนมักขึ้นในบริเวณเดิมซ้ำ ๆ ในช่วงก่อนประจำเดือนและช่วงที่เป็นประจำเดือน

สิวประจำเดือน รักษา ได้อย่างไร

สิวประจําเดือน อาจรักษาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ยาคุมกำเนิด (Birth control pills) การใช้ยาคุมกำเนิดอาจช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจน จึงอาจช่วยชะลอการผลิตน้ำมันของต่อมไขมัน และมีประสิทธิภาพในการรักษาสิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวอักเสบแดง สิวซีสต์ ทั้งนี้ ยาคุมกำเนิดอาจมีผลข้างเคียงบางประการ เช่น ประจำเดือนมามาก ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก สิวเห่อชั่วคราว จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
  • ยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) สำหรับสิวประจำเดือนที่รักษาด้วยยาคุมกำเนิดแล้วไม่ได้ผล คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาสไปโรโนแลคโตน เพื่อลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและชะลอการหลั่งน้ำมันของต่อมไขมัน ซึ่งอาจช่วยลดการเกิดน้ำมันส่วนเกินที่ทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดสิว ทั้งนี้ การใช้สไปโรโนแลคโตนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น คัดตึงเต้านม ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เกิดลิ่มเลือด หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง จึงควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนใช้ยา
  • ยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ช่วยต้านการอักเสบและต้านแบคทีเรีย จึงอาจช่วยลดอาการบวมและรอยแดงของสิวประจำเดือนได้ โดยเฉพาะสิวอักเสบหรือสิวหนอง ทั้งยังช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและช่วยลดความมันส่วนเกินที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน ทั้งนี้ ยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น ผิวแห้ง ผิวหนังแสบคันหรือลอก ผิวไวต่อแสงแดด ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายจึงควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) มีฤทธิ์ลดการอักเสบและต้านแบคทีเรีย จึงช่วยบรรเทาอาการบวมและรอยแดง และช่วยกระตุ้นผลัดเซลล์ผิว จึงอาจลดการอุดตันของรูขุมขนได้ ทั้งนี้ ยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น อาการคัน ผื่นแดง ผิวลอก จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา
  • ยาสเตียรอยด์แบบฉีด (Steroid injection) หากสิวไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ โดยเฉพาะสิวซีสต์ที่รุนแรง คุณหมออาจรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดอาการบวมแดงและอักเสบ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เป็นแผลเป็น หายช้ากว่าปกติ หรือติดเชื้อได้

วิธีป้องกันสิวประจำเดือน

วิธีป้องกันสิวประจำเดือน อาจทำได้ดังนี้

  • ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เช่น คลีนซิ่ง มอยส์เจอร์ไรเซอร์ เครื่องสำอาง ที่เหมาะกับสภาพผิว โดยเฉพาะหากผิวแพ้ง่าย และเลือกที่ไม่มีส่วนผสมที่อาจทำให้ผิวหนังอุดตันหรือระคายเคืองจนเกิดสิว เช่น น้ำมัน น้ำหอม
  • ควรเช็ดหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอาง เพื่อขจัดคราบครีมกันแดดและเครื่องสำอาง ก่อนล้างหน้าให้สะอาด
  • ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งและอาบน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังออกกำลังกายหรือในวันที่อากาศร้อนจนมีเหงื่อออกมาก และควรซับหน้าให้แห้งด้วยผ้าสะอาด ไม่ควรถูผิวหน้าแรง ๆ เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการแกะเกาผิวบริเวณที่เป็นสิว เนื่องจากอาจทำให้สิวที่เป็นอยู่เดิมแย่ลงและอาจทำให้สิวลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hormonal Acne. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21792-hormonal-acne. Accessed November 7, 2022

How Your Period Affects Acne. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/features/period. Accessed November 7, 2022

Acne. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/acne. Accessed November 7, 2022

ADULT ACNE. https://www.aad.org/public/diseases/acne/really-acne/adult-acne. Accessed November 7, 2022

STUBBORN ACNE? HORMONAL THERAPY MAY HELP. https://www.aad.org/public/diseases/acne/derm-treat/hormonal-therapy. Accessed November 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

สิวเห่อ เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไรบ้าง

สิวฮอร์โมน รักษา ได้อย่างไรบ้าง และมีสาเหตุมาจากอะไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา