backup og meta

สิวเกิดจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

    สิวเกิดจากอะไร

    สิวเป็นหนึ่งในปัญหาทางด้านผิวหนัง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ที่เป็นสิวบ่อย ๆ หรือเป็น ๆ หาย ๆ อาจสงสัยว่า สิวเกิดจากอะไร การรู้สาเหตุของการเกิดสิว และประเภทของสิว อาจช่วยให้ดูแลรักษาได้อย่างถูกวิธี

    สิวเกิดจากอะไร

    ยังไม่ทราบถึงปัจจัยที่แน่ชัดว่า สิวเกิดจากอะไร แต่อาจเกิดจากการอุดตันของระบบต่อมไขมันในรูขุมขน ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศชาย หากร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายจากต่อมหมวกไตมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายหลั่งไขมันมากผิดปกติ และไปกระตุ้นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังจนก่อให้เกิดสิวได้ โดยบริเวณที่มักพบสิว ได้แก่ ใบหน้า ลำคอ หน้าอก ไหล่ หลัง

    สาเหตุของการเกิดสิว 

    การเกิดสิวอาจเกิดจากหลายสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้ 

    • กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีพ่อ แม่ หรือญาติเป็นสิว อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นสิวได้มากกว่าปกติ  
    • ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น วัยเจริญพันธ์ุ มีประจำเดือนตั้งครรภ์ วัยหมดประจำเดือน อาจทำให้ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน เทสโทสเทอโรน เอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามาก ซึ่งอาจทำให้เกิดสิว
    • รับประทานอาหารที่มีแป้ง ไขมัน และน้ำตาลสูงเป็นประจำ รวมถึงของทอด ของมัน ผลิตภัณฑ์จากนม ช็อกโกแลต ซึ่งอาหารเหล่านี้อาจไปกระตุ้นการเกิดสิวในบางคน
    • มลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น ควันรถ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิว ส่งผลให้เกิดสิว และอาจเพิ่มความเสี่ยงผิวแพ้ง่าย 
    • ไม่ล้างเครื่องสำอางออกก่อนนอน สิ่งสกปรก แบคทีเรีย รวมถึงการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน หรือมีความมันมาก อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน และเป็นสิวได้ 
    • ความเครียด เนื่องจากฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดอาจไปกระตุ้นการผลิตไขมันให้เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้เกิดสิว
    • ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ลิเทียม
    • การเสียดสี เช่น การสวมหมวกกันน็อคที่หลวมหรือแน่นเกินไป อาจทำให้เกิดการเสียดสีที่ผิวหนังแล้วเกิดการอักเสบก่อให้เกิดการเป็นสิวได้ 

    ประเภทของสิว 

    สิวอาจแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น 

    • สิวหัวขาว 
    • สิวหัวดำ 
    • สิวตุ่มนูนแดง 
    • สิวหัวหนอง 
    • สิวหัวช้าง 

    ระดับความรุนแรงของสิว 

    ระดับความรุนแรงของสิวอาจแบ่งออกได้ ดังนี้

  • ระดับที่ 1 สิวไม่รุนแรง ส่วนใหญ่เป็นสิวหัวขาวและสิวหัวดำ
  • ระดับที่ 2 สิวปานกลาง อาจเป็นสิวอักเสบ มีตุ่มหนองเล็กน้อยบริเวณใบหน้าไม่มากนัก  
  • ระดับที่ 3 สิวรุนแรง อาจเป็นสิวอักเสบ มีตุ่มหนองจำนวนมาก เมื่อหายก็อาจกลับมาเป็นซ้ำอย่างต่อเนื่อง
  • การรักษาสิว 

    การรักษาสิวนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรง อายุและประเภทของสิวที่เป็น โดยวิธีการรักษาอาจมีดังนี้ 

    ยารับประทาน 

    • ยาคุมกำเนิด เนื่องจากสิวอาจเกิดจากประจำเดือน ทำให้ฮอร์โมนแปรปรวน การรับประทานยาคุมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจนเตอโรนเป็นส่วนประกอบอาจช่วยลดสิวได้ ในผู้ป่วยที่เป็นสิวจากฮอร์โมนผิดปกติ  
    • ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ เช่น ด็อกซีไซคลีน (Doxycycline) มักใช้ในกรณีสิวปานกลางถึงรุนแรง 

    ยาทาอาจเป็นครีมหรือเจลสำหรับแต้มสิว 

    • กรดซาลิไซลิก อาจช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และป้องกันไม่ให้รูขุมขนอุดตัน
    • เรตินอยด์ อาจช่วยหยุดการเกิดสิวใหม่ กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ลดรอยดำ แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ระคายเคือง 
    • คลินดาไมซิน (Clindamycin) อาจช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ใช้สำหรับสิวอักเสบ ควรทาอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง 

    รวมถึงอาจรักษาด้วยเลเซอร์ โดยใช้รังสีพลังงานสูงที่อาจช่วยลดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวที่อาศัยอยู่ที่ต่อมไขมัน การฉีดสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ การผลัดเซลล์ผิวหนัง ทั้งนี้ ควรอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญหรือคุณหมอ 

    การป้องกันการเกิดสิว

    เคล็ดลับที่อาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดสิว เช่น 

    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า เพราะมืออาจมีสิ่งสกปรก เชื้อโรค เชื้อแบคมีเรียที่อาจก่อให้เกิดสิวได้
    • ล้างหน้า อาบน้ำ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งด้วยสบู่อ่อน ๆ รวมถึงควรสระผมเป็นประจำ เพื่อลดความมันบนหนังศีรษะ 
    • อาบน้ำหลังจากออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเหงื่อทันที เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย 
    • ล้างเครื่องสำอางออกทุกครั้งหากแต่งหน้า เพื่อป้องกันการอุดตันของรูขุมขน 
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมัน 
    • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดรูป เพื่อลดการอักเสบและระคายเคืองของผิวหนัง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา