เป็นสิวที่หน้าผาก ไม่หายสักที อาจเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกันที่ส่งผลให้สิวขึ้นซ้ำ ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมการดูแลผิวหน้าไม่ดี อีกทั้งอาจขึ้นได้หลายประเภท เช่น สิวอุดตัน สิวไม่มีหัว สิวหัวหนอง สิวหัวช้าง สิวหัวดำ ดังนั้น เมื่อมีอาการเจ็บปวดจากสิว ผิวไม่เรียบเนียน และสิวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควรรับการตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดและปรับพฤติกรรมการดูแลผิวใหม่ตามคำแนะนำของคุณหมอ
[embed-health-tool-bmi]
เป็นสิวที่หน้าผาก ไม่หายสักที เกิดจากอะไร
เป็นสิวที่หน้าผาก ไม่หายสักที อาจเกิดจากเซลล์ผิวเก่า สิ่งสกปรก และน้ำมันส่วนเกินอุดตันในรูขุมขนบริเวณหน้าผากอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้แบคทีเรียตามธรรมชาติที่อาศัยอยู่บนผิวให้เจริญเติบโตมากเกินไป จนส่งผลให้รูขุมขนอักเสบ การอุดตัน และสิว โดยมีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวบริเวณหน้าผาก ดังนี้
- พฤติกรรมการดูแลผิวไม่ดี เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ไม่เหมาะกับสภาพผิวและมีส่วนผสมของน้ำมัน การแต่งหน้าทิ้งไว้ข้ามคืน การขัดผิวรุนแรง การล้างหน้าไม่สะอาดโดยเฉพาะหลังแต่งหน้าหรือหลังจากทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้เหงื่อออกมากเกินไป จึงอาจส่งผลให้รูขุมขนอุดตันและก่อให้เกิดสิวขึ้นหน้าผากซ้ำ ๆ
- ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด และกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป จนเกิดการอุดตันในรูขุมขน ดังนั้น เมื่อมีความเครียดบ่อยครั้ง ก็อาจส่งผลให้สิวขึ้นหน้ผากและไม่หายสักที
- รับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง รวมถึงของเผ็ดร้อน เช่น ยำ ส้มตำ ขนมหวาน ช็อกโกแลต ของทอด เพราะอาหารเหล่านี้อาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเหงื่อและเพิ่มความมันบนใบหน้ามากขึ้น นำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิวบริเวณหน้าผากซ้ำ ๆ หรืออาจทำให้สิวที่เป็นอยู่มีอาการอักเสบยิ่งขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันออกมามาก จนนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิวบริเวณหน้าผากและไม่หายสักที พบได้บ่อยในช่วงวัยเจริญพันธุ์หรือวัยรุ่น
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ลิเทียม (Lithium) ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เพราะอาจส่งให้ไปกระตุ้นต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากจนอุดตันในรูขุมขน ที่นำไปสู่การเกิดสิวบริเวณหน้าผากซ้ำ ๆ และไม่หายสักที
วิธีรักษาเมื่อเป็นสิวที่หน้าผาก ไม่หายสักที
วิธีรักษาเมื่อเป็นสิวที่หน้าผาก ไม่หายสักที อาจทำได้ด้วยการใช้ยาหรือเข้ารับการรักษาด้วยเทคนิคทางการแพทย์ตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องจนกว่าจะวินิจฉัยว่าสิวจะขึ้นน้อยลงหรือนาน ๆ ครั้งจะกลับมาขึ้นอีก โดยอาจทำได้ดังนี้
ยา
- ยาเรตินอยด์ (Retinoid) เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) ทาซาโรทีน (Tazarotene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) ที่มีในรูปแบบครีม เจล เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวบริเวณหน้าผากในระดับปานกลาง เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน และลดการเกิดสิวขึ้นซ้ำ ๆ โดยในช่วงแรกควรทายาเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จนกว่าผิวจะชินกับยา แล้วจึงปรับเป็นทาทุกวัน ก่อนนอนเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจทำให้ผิวไวต่อแสงและผิวแห้ง
- ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในรูขุมขนที่อาจก่อให้เกิดสิวขึ้นบริเวณหน้าผากซ้ำ ๆ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวในระดับปานกลาง ยาปฏิชีวนะจะมี 2 รูปแบบ คือ 1.ยาทาเฉพาะที่ เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ที่คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเรตินอยด์ โดย 2-3 เดือนแรก ควรใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงเช้า และทายากลุ่มเรตินอยด์ช่วงเวลาก่อนนอน เพื่อช่วยให้รักษาสิวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน เช่น ยาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) ยาแมคโครไลด์ (Macrolide) อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ใช้ยาเตตราไซคลีนในสตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี แต่สามารถเลือกใช้ยาแมคโครไลด์แทนได้
- ยาคุมกำเนิด ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินและเอสโตรเจน ที่อาจช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมน เพื่อลดการผลิตน้ำมันส่วนเกิน โดย 2-3 เดือนแรก ควรใช้ร่วมกับวิธีรักษาสิวอื่น ๆ เช่น การทายาเฉพาะที่ การกดสิว เพื่อช่วยให้ลดสิวบริเวณหน้าผากได้ดียิ่งขึ้น ยาคุมกำเนิดอาจส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมได้ ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน
- ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองจากการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ควรรับประทานวันละ 1-2 ครั้ง ในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อช่วยชะลอการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจน ที่ทำให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันมากขึ้น จนนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิวบริเวณหน้าผากซ้ำ ๆ ผลข้างเคียงของยานี้อาจส่งผลให้มีอาการเจ็บเต้านมและปวดท้องระหว่างเป็นประจำเดือน
- ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตันในระดับปานกลางถึงรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษารูปแบบอื่น ๆ โดยคุณหมออาจแนะนำให้รับประทานวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6-8 เดือน ในระยะแรกสิวอาจมีอาการแย่ลงแต่อาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน ใช้เพื่อช่วยลดสิวอุดตันและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่อาจส่งผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น โรคลำไส้อักเสบ ภาวะซึมเศร้า และทารพในครรภ์พิการแต่กำเนิด ดังนั้น ในระหว่างที่ใช้ยารักษานี้ควรเข้าพบคุณหมอตามกำหนดเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ
รักษาสิวด้วยเทคนิคทางการแพทย์
- การกดสิว อาจเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวหัวเปิดและสิวหัวหนอง เพื่อช่วยระบายสิ่งอุดตันในรูขุมขนและหนองออก โดยควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้กดสิวเท่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการอักเสบที่ทำให้สิวมีอาการแย่ลงรวมถึงอาจเกิดรอยแผลเป็น หลุมสิว รอยดำและรอยแดง
- การฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid) คุณหมออาจฉีดยาเข้าสู่สิวโดยตรง เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดจากสิว แต่อาจส่งผลข้างเคียงที่ทำให้ผิวหนังบางและสีผิวเปลี่ยนสีในบริเวณที่ทำการรักษา
- การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี คุณหมออาจใช้กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) และกรดเรติโนอิก (Retinoic acid) เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าออก ทำให้กดสิวที่อุดตันได้ง่ายขึ้น
- การบำบัดด้วยแสง คุณหมอจะพิจารณาจากอาการและประเภทของสิวว่าควรใช้ลำแสงบำบัดชนิดใด เพื่อให้เหมาะสมกับสิวที่เป็น อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษานี้อาจจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดต่อเนื่องและหลายครั้ง
วิธีป้องกันสิวขึ้นที่หน้าผาก
วิธีป้องกันสิวขึ้นที่หน้าผากซ้ำ ๆ อาจทำได้ดังนี้
- ทำความสะอาดผิวหน้าด้วยสบู่ที่เหมาะกับสภาพผิวและสูตรอ่อนโยน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่า สิ่งสกปรกและน้ำมันส่วนเกิน อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการขัดผิวหน้าอย่างรุนแรงเพื่อป้องกันการระคายเคืองผิวจนนำไปสู่การเกิดสิวที่หน้าผากซ้ำ ๆ หรืออาจส่งผลให้สิวอักเสบยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าและบริเวณหน้าผาก หากยังไม่ได้ล้างมือ เนื่องจากมืออาจมีสิ่งสกปรกและเชื้อโรคตกค้างจนนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนและทำให้เป็นสิวที่หน้าผากไม่หายสักที
- ควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ระบุว่า “Non-comedogenic” เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้รูขุมขนอุดตันและช่วยลดการเกิดสิวซ้ำ ๆ
- ทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป อย่างน้อย 20 นาที ก่อนออกจากบ้าน เพื่อป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดทำร้ายผิว ทำให้ผิวระคายเคืองจนนะไปสู่การเกิดสิวบริเวณหน้าผาก นอกจากนี้ควรเลือกเครื่องสำอาง รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ปราศจากน้ำมัน และควรล้างเครื่องสำอางออกจนหมดก่อนเข้านอน เพื่อลดการอุดตันในรูขมขนที่ทำให้สิวขึ้นบริเวณหน้าผากอย่างต่อเนื่องและไม่หายสักที
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง วาดรูป เพื่อลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่อาจกระตุ้นการผลิตน้ำมันบนใบหน้าจนส่งผลให้เกิดสิวที่หน้าผากเพิ่มขึ้น
- ทำความสะอาดของใช้ที่สัมผัสกับผิวบริเวณหน้าผากบ่อยครั้ง เช่น ปลอกหมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า เพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรกที่อาจทำให้รูขุมขนบริเวณหน้าผากอุดตันจนก่อให้เกิดสิว
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต และไขมันสูง เพราะอาจทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้นนำไปสู่การเกิดสิวขึ้นหน้าผาก รวมถึงลดปริมาณการรับประทานอาหารรสชาติจัด โดยควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืช และไขมันดี
- ไม่ควรบีบสิวด้วยตัวเองเพราะอาจทำให้สิวอักเสบและรู้สึกเจ็บปวดยิ่งขึ้น อีกทั้งยังอาจทำให้แบคทีเรียกระจายตัวเสี่ยงต่อการเกิดสิวบริเวณหน้าผากเพิ่มขึ้น