อิลาสติน (Elastin) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ในการให้ความยืดหยุ่นกับเนื้อเยื่อในร่างกาย ซึ่งช่วยให้ผิวหนังมีสุขภาพดี แข็งแรง ยืดหยุ่น และเต่งตึง แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นหรือผิวหนังไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อิลาสตินในผิวหนังก็อาจเสื่อมสภาพก่อนวัย ส่งผลให้ผิวหนังเหี่ยวย่น หย่อนคล้อย และขาดความยืดหยุ่น ดังนั้น การดูแลสุขภาพผิวที่เหมาะสม อาจช่วยให้ผิวมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง
[embed-health-tool-bmr]
อิลาสติน คืออะไร
อิลาสติน คือ โปรตีนที่มีลักษณะยึดโยงกันและมีความยืดหยุ่นสูง สามารถยืดออกและหดตัวกลับได้ โดยอิลาสตินเกิดจากการรวมตัวกันของโมเลกุลขนาดเล็กในร่างกาย ที่เรียกว่า โทรโพอิลาสติน (Tropoelastin) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิหนึ่งที่มีมากที่สุดในร่างกาย และเป็นส่วนประกอบหลักของเนื้อเยื่อที่ต้องการความยืดหยุ่นสูง เช่น ผิวหนัง ปอด กระเพาะปัสสาวะ หลอดเลือดใหญ่ เส้นเอ็น กระดูกอ่อนหู
อิลาสติน มีหน้าที่อะไร
อาจมีความสับสนระหว่างอิลาสตินกับคอลลาเจน ซึ่งคอลลาเจนอาจมีหน้าที่เป็นโครงสร้างของเนื้อเยื่อและให้ความแข็งแรงกับผิวหนัง ส่วนอิลาสตินจะมีหน้าที่หลัก คือ ให้ความยืดหยุ่นกับเนื้อเยื่อในร่างกาย ซึ่งจะให้ความยืดหยุ่นมากกว่าคอลลาเจนประมาณ 1,000 เท่า
โดยอิลาสตินจะทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อที่ต้องการความยืดขยายและหดตัวกลับได้สูง เช่น
- หลอดเลือดแดง ที่มีหน้าที่ลำเลียงเลือดจากหัวใจไปทั่วร่างกาย ซึ่งอิลาสตินจะช่วยให้หลอดเลือดแดงขยายออก ช่วยให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดได้ง่ายขึ้น
- ปอด อิลาสตินจะช่วยให้ปอดหดและขยายตัวได้ดี เมื่อหายใจเข้าและออก
- ผิวหนัง อิลาสตินจะช่วยให้ผิวหนังสามารถยืดและหดกลับได้ดี แต่เมื่ออายุมากขึ้นอิลาสตินอาจค่อย ๆ ลดลง ส่งผลให้ผิวหนังที่ยืดออกหดตัวกลับได้ช้าลง และอาจทำให้เกิดความเหี่ยวย่นขึ้นบนผิวหนัง
ภาวะผิดปกติของอิลาสติน เกิดจากอะไรได้บ้าง
ปัญหาสุขภาพบางประการอาจส่งผลกระทบต่ออิลาสติน ดังนี้
- หลอดเลือดตีบตัน ที่เกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของอิลาสตินลดลง เนื่องจากเลือดที่มีสารอาหารและออกซิเจนไม่สามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงได้อย่างเหมาะสม และอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน หัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองได้
- โรคหน้าแก่ (Cutis Laxa) เป็นโรคที่ทำให้ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น จึงอาจส่งผลให้ผิวหย่อนคล้อยและมีรอยย่นก่อนวัย
- ถุงลมโป่งพอง (Emphysema) มักเกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ ส่งผลให้อิลาสตินเสื่อมสภาพ และอาจทำให้มีอาการหายใจลำบาก ไอ หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยล้า
- โรคลิ้นหัวใจตีบ เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่เกี่ยวข้องกับยีนอิลาสติน ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่แคบลง
- กลุ่มอาการวิลเลียม (William’s Syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากความผิดปกติของยีนอิลาสตินและยีนจำนวน 26 ยีน บนโครโมโซมคู่ที่ 7 อาจทำให้มีอาการตาชี้ จมูกแบน ปากกว้าง รูปร่างเตี้ย ริมฝีปากอิ่ม
การดูแลสุขภาพผิว
การดูแลสุขภาพผิวเป็นประจำทุกวันอาจช่วยปกป้องสุขภาพอิลาสตินให้แข็งแรง ซึ่งอาจทำได้ ดังนี้
- ทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 เพื่อช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดด ที่อาจทำให้อิลาสตินในชั้นผิวหนังเสื่อมสภาพ รวมถึงยังอาจช่วยป้องกันจุดด่างดำ และริ้วรอยก่อนวัยได้อีกด้วย
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผักใบเขียว ผลไม้รสเปรี้ยว ผลเบอร์รี่ ปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 พืชตระกูลถั่ว ซึ่งอาจช่วยบำรุงผิว รวมถึงอาจช่วยเพิ่มอิลาสตินและคอลลาเจนในผิว
- ดูแลสุขอนามัยของผิว ควรทำความสะอาดและให้ความชุ่มชื้นกับผิวอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการใช้ครีมบำรุงผิวและมอยเจอร์ไรเซอร์ที่มีกรดเฟรูลิก (Ferulic Acid) วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี ที่มีคุณสมบัติช่วยลดเลือนริ้วรอย และฟื้นฟูเซลล์ผิวที่ถูกทำลาย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายอาจช่วยเพิ่มการเผาผลาญในเซลล์ผิวและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ซึ่งอาจช่วยทำให้ผิวแข็งแรงขึ้น
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตินและสารเคมีอื่น ๆ ในบุหรี่ เป็นสารอนุมูลอิสระที่อาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ส่งผลให้ผิวหนังอักเสบและทำให้อิลาสตินเสื่อมสภาพไวขึ้น