เกลื้อนแดด หรือกลากน้ำนม เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง อาจทำให้เกิดรอยด่างสีขาวจาง ๆ เหมือนน้ำนม ลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรีที่มีขอบเขตไม่ชัดเจนบนผิวหนังบริเวณใบหน้า แขน ขา และลำตัว อาจพบขุยละเอียดได้เล็กน้อย เกลื้อนแดดมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่บางครั้งอาจทำให้คัน รอยด่างขาวกลายเป็นรอยแดงหรือตกสะเก็ดได้ โดยทั่วไปสามารถรักษาให้หายได้แต่อาจยังมีรอยด่างสีขาวอยู่นานถึง 1 ปี ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายและโดนแดดบ่อยเสี่ยงเป็นเกลื้อนแดดได้มากกว่าปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดดและทาครีมกันแดดเป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดเกลื้อนแดด
[embed-health-tool-heart-rate]
เกลื้อนแดด คืออะไร
เกลื้อนแดดหรือกลากน้ำนม (Pityriasis alba) เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดไม่รุนแรงที่พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่นอายุประมาณ 3-16 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในคนทุกวัย สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้ยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากภาวะภูมิแพ้กรรมพันธุ์ (Atopy) ส่งผลให้จำนวนเมลานินหรือเม็ดสีในชั้นผิวหนังลดลงจนผิวหนังบริเวณนั้นกลายเป็นวงด่างสีขาวคล้ายสีน้ำนม ขนาดประมาณ 1-4 เซนติเมตร ที่มีขอบเขตไม่ชัดเจนนัก มักพบบริเวณแก้ม แต่ก็สามารถพบได้ที่ส่วนอื่นของใบหน้า ลำคอ หัวไหล่ แขน ขา ลำตัวได้เช่นกัน บางกรณี เกลื้อนแดดอาจกลายเป็นรอยแดง เป็นขุย หรือตกสะเก็ด แต่มักไม่ทำให้เกิดอาการคันหรือคันน้อยมาก และอาจสังเกตเห็นได้ชัดเจนขึ้นในช่วงอากาศร้อน และอาจแห้งและตกสะเก็ดในช่วงอากาศหนาวเย็น
อาการของ เกลื้อนแดด
อาการเกลื้อนแดด อาจมีดังนี้
- ในระยะแรกผิวหนังบริเวณที่เกิดโรคจะเป็นแผ่นสีชมพูอ่อนที่มีสะเก็ดเล็กน้อย
- รอยสีชมพูอ่อนกลายเป็นรอยด่างที่มีสะเก็ดหรือเป็นขุยละเอียด
- ผิวหนังบริเวณนั้นอีกเสบ จนรอยด่างกลายเป็นวงด่างขาว ไม่มีสะเก็ดและขุย
วิธีรักษาเกลื้อนแดด
วิธีรักษาเกลื้อนแดด อาจทำได้ดังนี้
- ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ให้ผิวชุ่มชื้น อาจช่วยบรรเทาอาการผิวแห้งและเป็นขุยได้
- ทายาสเตียรอยด์ที่มีส่วนประกอบของไฮโดรคอร์ติโซน 0.5-1% (Hydrocortisone) อาจช่วยลดผื่นและรอยแดง รวมไปถึงบรรเทาอาการคันได้
- ทายากลุ่มยับยั้งแคลซินูริน (Calcineurin inhibitors) เช่น พิเมโครลิมัส 1% (Pimecrolimus cream) ทาโครลิมัส 0.1% (Tacrolimus ointment) อาจช่วยปรับสีผิวให้กลับมาเป็นปกติ
- สำหรับผู้ที่รอยด่างขาวจางช้า อาจรักษาด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลต และเลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ที่มีความยาวคลื่นแสง 308 นาโนเมตร
วิธีป้องกันเกลื้อนแดด
- สวมเสื้อผ้าแขนยาวและสวมหมวกป้องกันแสงแดดเมื่อออกไปข้างนอก และหลบเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังสัมผัสแสงแดดโดยตรง
- ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อต้องออกแดด และควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไปเพื่อป้องกันรังสียูวีบี (UVB) ที่อาจทำให้ผิวไหม้ โดยอาจเลือกครีมกันแดดสูตรบรอดสเปกตรัม (Broad Spectrum) ที่มาพร้อมค่า PA ซึ่งอาจช่วยป้องกันรังสียูวีเอ (UVA) ที่เป็นรังสีคลื่นความถี่กว้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดริ้วรอยและจุดด่างดำด้วย ปริมาณครีมกันแดดที่แนะนำสำหรับทาผิวหน้าอยู่ที่ 1-2 กรัม/ครั้ง หรือประมาณ 2 ข้อนิ้ว สำหรับการทาทั้งตัวอยู่ที่ประมาณ 30 กรัม/ครั้ง เมื่อจะออกไปข้างนอก ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างน้อย 15 นาที และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หรือทาบ่อยกว่านั้นหากเหงื่อออกมากหรือผิวหนังเปียกน้ำ