backup og meta

เม็ดขาว เปลือกตาด้านใน เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

เม็ดขาว เปลือกตาด้านใน เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

เม็ดขาว เปลือกตาด้านใน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Gland) เกิดการอุดตัน จนน้ำมันที่ผลิตจากต่อมเปลือกตาสะสมอยู่มาก ทำให้มองเห็นเป็นเม็ดขาวบริเวณเปลือกตาด้านใน อาจทำให้มีอาการแสบตา คัน ระคายเคืองตา ตาพร่าชั่วขณะ หากปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคตาแห้งได้

[embed-health-tool-bmi]

เม็ดขาว เปลือกตาด้านใน เกิดขึ้นจากอะไร

เม็ดขาว เปลือกตาด้านในอาจมีสาเหตุมาจากต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ ทำให้น้ำมันที่อยู่ภายในเปลือกตามีความข้นและเหนียว จนไม่สามารถไหลออกมาจนเกิดการอุดตัน ซึ่งต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตันอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ไขมันในเลือดสูง
  • เยื่อบุตาอักเสบจากโรคภูมิแพ้ หรือโรคตาอื่น ๆ เช่น ตากุ้งยิง จอประสาทตาเสื่อมตามวัย เบาหวานขึ้นตา
  • เปลือกตาหรือกระจกตาอักเสบ
  • การติดเชื้อแบคทีเรียในตา
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea) โรคลูปัส (Lupus) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren’s Syndrome)
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น การรักษาด้วยยาฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาลดฮอร์โมนแอนโดรเจน เรตินอยด์

อาการเม็ดขาว เปลือกตาด้านใน

ในระยะแรก ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตันอาจยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเวลาผ่านไป น้ำมันที่ผลิตจากต่อมไขมันเปลือกตาจะไม่สามารถไหลออกมาหล่อเลี้ยงดวงตาได้มากพอ จึงอาจทำให้มีอาการแสบตา คัน ตาแห้ง หรือระคายเคืองตาได้ ในบางคนอาจรู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายหรือฝุ่นอยู่ในตาและระคายเคืองตามากจนตาแดง รวมถึงขอบชั้นในของเปลือกตาจะมีลักษณะไม่เรียบ มีลักษณะเป็นเม็ดขาวบริเวณเปลือกตาด้านใน ซึ่งอาจทำให้บางคนมองไม่ชัดชั่วคราว แต่จะกลับมามองเห็นชัดอีกครั้งเมื่อกระพริบตา

อาการเหล่านี้อาจแย่ลงได้หากใช้สายตาจ้องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน หรือเมื่ออยู่ในที่ที่อากาศแห้งมาก

ภาวะแทรกซ้อนของเม็ดขาว เปลือกตาด้านใน

เม็ดขาว เปลือกตาด้านใน หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย คือ โรคตาแห้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การอักเสบของเปลือกตา (Blepharitis) ที่มีลักษณะเป็นเม็ดขาวบริเวณเปลือกตาด้านใน โดยเฉพาะบริเวณขอบตา เนื่องจากการอุดตันของไขมันเป็นเวลานาน หรืออาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อและการอักเสบของดวงตาหากเข้ารับการทำศัลยกรรมตาในอนาคต และยิ่งไปกว่านั้น หากปล่อยไว้จนอยู่ในระยะลุกลามอาจเสี่ยงที่จะทำให้ตาดำอักเสบ เป็นแผล และอาจทำให้ตาบอดได้

การดูแลรักษาเม็ดขาว เปลือกตาด้านใน

สำหรับผู้ที่มีอาการเม็ดขาว เปลือกตาด้านในไม่รุนแรง อาจดูแลตัวเองได้ ดังนี้

  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือใช้ถุงสำหรับประคบร้อน นำมาประคบที่เปลือกตาประมาณ 5 นาที วันละ 2 ครั้ง ตามด้วยการนวดเบา ๆ บริเวณเปลือกตา หากเป็นเปลือกตาบน ให้มองลงแล้วใช้นิ้วนวดกดบนเปลือกตาจากบนลงล่าง หากเป็นเปลือกตาล่างให้มองบนแล้วนวดกดจากล่างขึ้นบน จะสามารถช่วยเปิดต่อมเปลือกตาและระบายน้ำมันออกมาได้
  • ทำความสะอาดตามแนวขนตาให้สะอาด ด้วยการใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นค่อย ๆ เกลี่ยเช็ดคราบน้ำมันออกจนหมด
  • หากใส่คอนแทคเลนส์ควรเลือกใส่แบบรายวัน และเลือกแบบที่มีค่าอมน้ำสูง ๆ จะช่วยให้ตาชุ่มชื้นและสบายตามากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางรอบดวงตา เพราะอาจเสี่ยงให้เกิดการอุดตันซ้ำ
  • เลือกรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ถั่วต่าง ๆ ซึ่งอาจช่วยลดการอักเสบและช่วยบำรุงสุขภาพดวงตาได้

สำหรับการรักษาที่โรงพยาบาลอาจขึ้นอยู่กับระยะของอาการและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ของผู้ป่วย โดยคุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษาด้วยการใช้ยาหยอดตาหรือยารับประทาน เช่น สารให้ความชุ่มชื้น (Lubricants) ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) เพื่อช่วยกดภูมิคุ้มกัน และยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Meibomian Gland Dysfunction?. https://www.webmd.com/eye-health/meibomian-gland-dysfunction. Accessed September 23, 2022

Meibomian gland dysfunction. https://www.aop.org.uk/advice-and-support/for-patients/eye-conditions/meibomian-gland-dysfunction. Accessed September 23, 2022

Emerging treatment options for meibomian gland dysfunction. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3772773/. Accessed September 23, 2022

Meibomian Gland Dysfunction and Treatment. https://aapos.org/glossary/meibomian-gland-dysfunction-and-treatment. Accessed September 23, 2022

What Is Blepharitis?. https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-blepharitis. Accessed September 23, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ก้อนไขมันใต้ผิวหนัง สาเหตุ อาการ วิธีการรักษา

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา