โรคตุ่มน้ำพอง (Bullous pemphigoid) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำลายเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นนอก ส่งผลให้เกิดแผลพุพอง สามารถพบได้ทุกช่วงวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ หากสังเกตว่ามีอาการคันที่ผิวหนังนานและมีแผลพุพอง ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคตุ่มน้ำพอง
[embed-health-tool-bmr]
คำจำกัดความ
โรคตุ่มน้ำพอง คืออะไร
โรคตุ่มน้ำพอง คือ โรคที่ทำให้เกิดแผลพุพองหรือตุ่มน้ำขึ้นบริเวณผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น แขน ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ต้นขาส่วนบน หน้าท้องล่าง ปาก และรักแร้ โดยอาจมีสาเหตุมาจากการระบบภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนัง อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่สามารถแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นได้ แต่ควรรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันการติดเชื้อ
อาการ
อาการของโรคตุ่มน้ำพอง
อาการของโรคตุ่มน้ำพอง มีดังนี้
- อาการคันผิวหนังเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
- ผิวหนังสีน้ำตาล ชมพูหรือแดงเข้มก่อนจะปรากฏเป็นตุ่มพอง
- แผลพุพองขนาดใหญ่
- ผิวหนังรอบ ๆ แผลพุพองหรือตุ่มน้ำจะมีลักษณะเป็นสีแดงเข้ม
- กลากและผื่นลมพิษ
- แผลพุพองขนาดเล็กภายในปาก
ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว หากมีอาการคันผิวหนังเป็นเวลานาน แผลพุพอง และรู้สึกแสบร้อนผิวหนัง
สาเหตุ
สาเหตุของโรคตุ่มน้ำพอง
สาเหตุของโรคตุ่มน้ำพองเกิดจาการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายเส้นใยและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังของที่เชื่อมโยงระหว่างผิวหนังชั้นนอกและผิวหนังชั้นลึก จนกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและปรากฏเป็นแผลพุพอง รวมถึงอาการคันผิว
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคตุ่มน้ำพอง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคตุ่มน้ำพอง มีดังนี้
- ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ (Penicillamine) ยาขับปัสสาวะ (Furosemide) และยาความดัน (captopril)
- รังสียูวีจากแสงแดดและการฉายรังสี รังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีจากแสงแดด และการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง อาจส่งผลกระทบต่อผิวหนังที่กระตุ้นก่อให้เกิดตุ่มน้ำพอง
- ภาวะทางสุขภาพ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคสะเก็ดเงิน โรคเบาหวาน โรคไขข้ออักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคตุ่มน้ำพอง
คุณหมออาจวินิจฉัยโรคตุ่มน้ำพองด้วยการสอบถามประวัติสุขภาพ การใช้ยา และอาการว่าเริ่มเป็นเมื่อไหร่ รวมถึงอาจตรวจเลือดและเก็บตัวอย่างผิวหนังไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม
การรักษาโรคตุ่มน้ำพอง
การรักษาโรคตุ่มน้ำพองคุณหมอจะมุ่งเน้นในการช่วยบรรเทาอาการคันและลดตุ่มพุพองด้วยยาดังต่อไปนี้
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ที่มีในรูปแบบครีมหรือยาสำหรับรับประทาน เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน ป้องกันแผลพุพองขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม ยานี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกระดูก ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง ปัญหาด้านการมองเห็น จึงไม่ควรใช้เป็นเวลานาน และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนด
- ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น อะซาไธโอพรีน (Azathioprine) เอ็มเอ็มเอฟ (Mycophenolate Mofetil) เมโธเทรกเซท (Methotrexate) ไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide) เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าโจมตีเนื้อเยื่อผิวหนังจนนำไปสู่การเกิดตุ่มน้ำพอง
- ยาปฏิชีวนะ เช่น ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) แดปโซน (Dapsone) มิโนไซคลีน (Minocycline) และสามารถใช้ร่วมกับครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ได้ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อและเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาที่ช่วยบรรเทาอาการของโรคตุ่มน้ำพอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคตุ่มน้ำพอง
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคตุ่มน้ำพอง เพื่อช่วยบรรเทาอาการเมื่อเกิดอาการคัน ป้องกันการอักเสบ การติดเชื้อที่ผิวหนัง อาจทำได้ดังนี้
- ล้างแผลหรือบริเวณที่เป็นตุ่มน้ำพองให้สะอาดด้วยสบู่สูตรอ่อนโยนหรือสูตรที่คุณหมอแนะนำ เพื่อช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ซับน้ำให้แห้งและทายา จากนั้นควรพันแผลด้วยผ้าพันแผล
- บำรุงผิวด้วยน้ำมนมะพร้าวหรือเชียร์บัตเตอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว
- หลีกเลี่ยงการเดิมหรือหยิบจับสิ่งของหากมีตุ่มน้ำพองบริเวณต้นขา ฝ่าเท้า และฝ่ามือ เพื่อลดการเสียดสีที่อาจส่งผลให้เจ็บปวด และมีอาการคันยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการตากแดดและควรทาครีมกันแดดเป็นประจำ
- ไม่สวมเสื้อผ้ารัดรูปและควรเลือกเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายเพื่อการระบายอากาศได้ดีและลดการเสียดสีของตุ่มน้ำพองกับเสื้อผ้า ที่ส่งผลให้ระคายเคืองผิว
- หากมีตุ่มน้ำพองในช่องปากควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น ซุป พุดดิ้ง หรืออาหารที่บดละเอียดง่ายต่อการเคี้ยว และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร้อน อาหารกรุบกรอบ อาการรสเผ็ด และครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนกว่าตุ่มน้ำพองจะหายดี