Cellulitis คือ เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ซึ่งเป็นปัญหาผิวหนังจากการติดเชื้อรูปแบบหนึ่ง เมื่อเป็นแล้วผิวหนังจะมีอาการบวม แดง และเจ็บ ทั้งนี้ ควรดูแลตัวเองด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ เพราะหากปล่อยไว้ อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
[embed-health-tool-bmi]
Cellulitis คือ อะไร
Cellulitis หรือเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เป็นปัญหาผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะแบคทีเรียสเตรปโทคอกโคสิส (Streptococcosis) และสแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) ซึ่งพบได้บนผิวหนังและในร่างกายของมนุษย์
ทั้งนี้ เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบมักพบได้ทั่วไป โดยผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ ได้แก่
- เด็ก
- ผู้ที่ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ สัก เจาะ หรือถูกแมลงหรือสัตว์กัดต่อย
- ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังชนิดเรื้อรัง เช่น สะเก็ดเงิน น้ำกัดเท้า ผื่นผิวหนังอักเสบ
- ผู้ที่เคยเป็นเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบมาก่อน
- ผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์
อาการของ Cellulitis คือ อะไรบ้าง
ปกติแล้ว เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบจะเกิดบริเวณขาส่วนล่าง แต่บางครั้งอาจพบตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอย่างใบหน้าหรือแขนด้วย โดยอาการของโรค ได้แก่
- ผิวหนังบวม อักเสบ และเป็นสีแดง หากการติดเชื้อแพร่กระจายไปยังบริเวณโดยรอบ ผิวหนังส่วนที่เป็นสีแดงอาจขยายใหญ่ขึ้น
- มักรู้สึกเจ็บผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ และอาจสัมผัสได้ว่ามีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณอื่น ๆ
- แผลพุพองหรือผื่นที่เกิดขึ้นในทันที
- ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อฝืดตึง ในกรณีเนื้อเยื่อบริเวณข้อต่อมีอาการบวม
- ไข้ขึ้น เหงื่อออก
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
เมื่อเป็นเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ควรดูแลตัวเองอย่างไร
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบสามารถหายได้ หากดูแลตัวเองด้วยวิธีการต่อไปนี้
- รับประทานยาฆ่าเชื้อ เป็นเวลา 7-14 วัน
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แอสไพริน (Aspirin) นาพรอกเซน (Naproxen)
- ประคบอุ่นหรือเย็นบริเวณที่ติดเชื้อ เพื่อบรรเทาอาการบวมและอาการอื่น ๆ ของเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ
- พยายามเคลื่อนไหวร่างกาย และอาจยกแขนหรือขาหากติดเชื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อลดความดันและทำให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
Cellulitis หายเองได้หรือไม่
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบหากเป็นเล็กน้อย สามารถหายเองได้ แต่จะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจนกว่าจะหาย
อย่างไรก็ตาม หากปล่อยเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบไว้โดยไม่รีบรักษา อาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น
- ภาวะติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ
- ภาวะกระดูกอักเสบ
- ภาวะเลือดมีแบคทีเรีย
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
ควรไปพบคุณหมอ หากพบอาการดังนี้
- บริเวณที่ติดเชื้อ มีอาการบวม เจ็บ หรือซีดมากกว่าเดิม
- บริเวณที่ติดเชื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น
- อาการป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะ
Cellulitis ป้องกันได้อย่างไร
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบสามารถป้องกันได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ล้างมือสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อออกนอกบ้าน
- อาบน้ำให้สะอาดและเช็ดตัวให้แห้ง
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด
- เมื่อเป็นแผล ให้ล้างแผลทุกวันด้วยน้ำสะอาดและสบู่ และเปลี่ยนผ้าพันแผลอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- หากเป็นแผลเปิด ให้หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในสระ รวมถึงการแช่น้ำในอ่างน้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นเวลานาน
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง การป้องกันเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบควรปฏิบัติดังนี้
- ปกป้องเท้าและมือ ด้วยการสวมรองเท้าและถุงเท้า
- ตัดเล็บเท้าและเล็บมืออย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันผิวหนังรอบ ๆ บาดเจ็บหรือเป็นแผล
- ทามอยส์เจอไรเซอร์ เพื่อป้องกันผิวแห้ง แตก จนเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย