backup og meta

กล้ามเนื้ออักเสบ สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 11/01/2023

    กล้ามเนื้ออักเสบ สาเหตุ อาการ การรักษา

    กล้ามเนื้ออักเสบ เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การออกกำลังกายหักโหม การติดเชื้อ โดยเมื่อเป็นแล้ว มักมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เจ็บกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อบวม และในบางรายอาจกลืนอาหารลำบาก

    คำจำกัดความ

    กล้ามเนื้ออักเสบ คืออะไร

    กล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis) หมายถึง กล้ามเนื้อมีอาการปวดบวมจนทำให้รู้สึกเจ็บ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นภาวะภูมิแพ้ตัวเองรูปแบบหนึ่ง เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง การติดเชื้อ หรือการออกกำลังกายหักโหม

    ทั้งนี้ กล้ามเนื้ออักเสบแบ่งย่อยได้หลายชนิด แต่ที่พบบ่อยและรู้จักกันดี ได้แก่

    • Polymyositis เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหลายมัดในเวลาเดียวกัน โดยมักเกิดกับกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ สะโพก หรือต้นขา ปกติแล้ว กล้ามเนื้ออักเสบชนิดนี้จะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-60 ปี
    • Dermatomyositis เป็นกล้ามเนื้ออักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับมีผดผื่นตามร่างกาย พบมากในผู้หญิงรวมทั้งเด็ก และผู้ที่เป็นกล้ามเนื้ออักเสบชนิดนี้มักเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากกว่าคนทั่วไปถึง 6 เท่า
    • Inclusion Body Myositis หมายถึง กล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณแขน ต้นขา และกล้ามเนื้อตั้งแต่หัวเข่าลงไป มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และบางครั้ง กล้ามเนื้ออักเสบชนิดนี้จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อลำคอ ทำให้กลืนอาหารลำบาก

    อาการ

    อาการของกล้ามเนื้ออักเสบ

    เมื่อป่วยเป็นกล้ามเนื้ออักเสบมักส่งผลให้ไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้คล่องแคล่วเหมือนเดิม เช่น ลุกยืน ยกของ หรือหวีผม โดยส่วนใหญ่จะมีอาการดังต่อไปนี้

    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • กล้ามเนื้อบวม
    • เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
    • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

    สาเหตุ

    สาเหตุของ กล้ามเนื้ออักเสบ

    ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของกล้ามเนื้ออักเสบ แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • โรคภูมิแพ้ตัวเอง เช่น โรคลูปัส โรคผิวหนังแข็ง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
    • การติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น สแตติน (Statin) โคลซิซิน (Colchicine) ไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) โดยกล้ามเนื้ออักเสบอาจเกิดหลังจากใช้ยาทันทีหรือเมื่อใช้ยาไปสักพักแล้วก็ได้
    • การออกกำลังกายหักโหม ซึ่งหากเกิดจากสาเหตุนี้ อาการมักหายเองได้เมื่อพักผ่อนเต็มที่

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออักเสบควรไปพบคุณหมอ หากมีอาการดังต่อไปนี้

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเจ็บกล้ามเนื้อ โดยอาการไม่ดีขึ้นแม้จะผ่านไปแล้ว 2-3 วัน
  • เคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนไม่ได้ เช่น แขน ขา มือ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
  • กลืนอาหารลำบาก
  • การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยกล้ามเนื้ออักเสบ

    ปกติแล้ว คุณหมอจะตรวจด้วยวิธีการต่อไปนี้ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้ออักเสบหรือไม่

    • ตรวจเลือด เพื่อดูว่าเอนไซม์ครีเอทีน ไคเนส (Creatine Kinase) ในเลือดอยู่ในระดับสูงหรือไม่ หากอยู่ในระดับสูง จะหมายความว่ากล้ามเนื้อกำลังอักเสบ นอกจากนี้ การตรวจเลือดยังบอกได้ว่าเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเองหรือไม่
    • เอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) เป็นการตรวจหาบริเวณที่กล้ามเนื้ออักเสบโดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง
    • การตรวจคลื่นกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า เป็นการเสียบขั้วไฟฟ้าเข้าไปในกล้ามเนื้อ เพื่อตรวจหากล้ามเนื้อที่อ่อนแอหรือเสียหาย
    • ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ เป็นวิธีตรวจกล้ามเนื้ออักเสบที่แม่นยำที่สุด โดยคุณหมอจะตัดกล้ามเนื้อส่วนที่อ่อนแอไปตรวจในห้องปฏิบัติการ

    การรักษา กล้ามเนื้ออักเสบ

    เมื่อคุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ คุณหมอจะเลือกรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ให้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) ในรูปแบบยาสำหรับรับประทานหรือยาฉีด เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและอาการบวมเมื่อกล้ามเนื้ออักเสบ บางครั้ง คุณหมออาจเลือกให้ยาสเตียรอยด์ในปริมาณมาก ก่อนจะค่อย ๆ ลดลงในภายหลัง
  • ให้ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือยากลุ่ม DMARDs อย่างเอซาไธโอพริน (Azathioprine) หรือเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ซึ่งมีฤทธิ์กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และบรรเทาอาการบวมของกล้ามเนื้อในเวลาเดียวกัน
  • รักษาตามอาการ เช่น หากกล้ามเนื้ออักเสบเกิดการติดเชื้อ คุณหมอจะจ่ายยาฆ่าเชื้อให้รับประทาน หรือให้คนไข้งดใช้ยาบางชนิด หากยาดังกล่าวทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ โดยทั่วไป กล้ามเนื้ออักเสบจากการใช้ยาจะหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังจากงดใช้ยา
  • ให้ออกกำลังกายหรือทำกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการบวมและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ควรมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล ทั้งนี้ การออกกำลังกายและทำกายภาพบำบัดเป็นวิธีเดียวในการรักษากล้ามเนื้ออักเสบชนิด Inclusion Body Myositis
  • การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของกล้ามเนื้ออักเสบ การป้องกันโรคดังกล่าวจึงอาจเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม ควรปฏิบัติตนดังต่อไปนี้ เพื่อดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและลดโอกาสเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบ

    • ไม่ออกกำลังกายหักโหม
    • ใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งเท่านั้น หากใช้ยาแล้วมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาคุณหมอโดยด่วน
    • พักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอในแต่ละวัน
    • ดื่มน้ำให้มาก ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 11/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา