ผื่นเชื้อรา คือ ผื่นที่เกิดจากเชื้อราชนิดต่าง ๆ เช่น เชื้อราแคนดิดา (Candida) เดอร์มาโตฟัยท์ (Dermatophytes) และมาลาสซีเซีย (Malassezia) ที่ส่งผลให้เกิดโรคผิวหนัง โดยสังเกตได้จากผื่นขึ้นบนผิวหนัง สีผิวเปลี่ยนแปลง มีอาการคัน และอาจมีแผลพุพองที่ทำให้รู้สึกเจ็บแสบ หากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรพบคุณหมอทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะเชื้อราบางชนิดสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นผ่านการสัมผัสรวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกันได้
[embed-health-tool-bmr]
สาเหตุของผื่นเชื้อรา
ผื่นเชื้อราเกิดจากการติดเชื้อราชนิดต่าง ๆ เช่น เชื้อราแคนดิดา เดอร์มาโตฟัยท์และมาลาสซีเซีย จนนำไปสู่การเกิดโรคผิวหนัง ได้แก่
- โรคกลาก เกิดจากการติดเชื้อราเดอร์มาโตฟัยท์ ซึ่งเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ในเซลล์ผิวหนังชั้นนอกและสามารถแพร่กระจายได้จากสัตว์สู่คน และคนสู่คน โดยอาจติดเชื้อได้ต่อเมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรืออยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้น เนื่องจากเชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ การสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อราและการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ติดเชื้อ เช่น ผ้าขนหนู ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ก็อาจส่งผลให้ติดเชื้อราจนมีผื่นเชื้อราขึ้นได้เช่นกัน
- โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการติดเชื้อราเดอร์มาโตฟัยท์ที่เจริญเติบโตมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อมีเหงื่อออกที่เท้ามาก หรือหากใช้ถุงเท้าหรือรองเท้าร่วมกับผู้อื่น รวมถึงเดินเท้าเปล่าในพื้นที่เปียกชื้น เช่น ห้องอาบน้ำสาธารณะ โรงยิม ห้องซาวน่าและสระว่ายน้ำ
- โรคเกลื้อน เกิดจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย โดยอาจมีปัจจัยเสี่ยงคือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สภาพอากาศร้อนชื้น ผิวมัน และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ที่ทำให้เชื้อรามีการเจริญเติบโตมากเกินไป จนนำไปสู่การติดเชื้อและก่อให้เกิดผื่นเชื้อรา
- โรคติดเชื้อยีสต์ คือการติดเชื้อราแคนดิดาที่เกิดขึ้นเมื่อเชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตมากเกินไป โดยอาจมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่นสภาพอากาศร้อนชื้น การสวมเสื้อผ้ารัดรูป การไม่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารกหลังขับถ่าย นอกจากนี้ ยาปฏิชีวนะ ยาสเตียรอยด์ และการทำเคมีบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ก็อาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อราแคนดิดาที่นำไปสู่การเกิดผื่นเชื้อราได้เช่นกัน
อาการของผื่นเชื้อรา
อาการของผื่นเชื้อรา อาจสังเกตได้ดังนี้
- ผื่นขึ้นทั่วทั้งร่างกาย หรือเฉพาะที่ เช่น ลำคอ แขน ขา หลัง หน้าอก ข้อพับ ก้น เท้า
- ผื่นอาจมีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ สีขาว เป็นวงแหวนสีแดงขนาดใหญ่ เป็นสะเก็ดนูน หรือเป็นขุย
- มีอาการคันบริเวณที่ผื่นขึ้น
- ผิวหนังอักเสบ ที่อาจสังเกตได้จากอาการสีผิวเป็นสีม่วง สีแดง หรือสีเทา
- รู้สึกแสบผิว
- เป็นแผลพุพอง
หากสังเกตว่ามีผื่นขึ้น อาการคันรุนแรง ไข้สูง และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังจากการรักษา ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา
การรักษาผื่นเชื้อรา
การรักษาผื่นเชื้อรา อาจทำได้ดังนี้
- ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) เป็นยาต้านเชื้อราที่ใช้รักษาผิวหนังและเล็บที่ติดเชื้อรา และช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยทาบริเวณผิวหนังที่มีผื่นเชื้อรา วันละ 1 ครั้ง หรืออาจใช้ทาก่อนนอน อาจจำเป็นต้องใช้อย่างต่อเนื่องนาน 6 เดือน หรือตามที่คุณหมอกำหนด ก่อนทายานี้ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่มีอาการและเช็ดให้แห้งสนิทก่อนทา
- โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ใช้รักษาผิวหนังที่ติดเชื้อรา เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทายาวันละ 1-2 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 2-4 สัปดาห์ ก่อนทายานี้ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่มีอาการและเช็ดให้แห้งสนิทก่อนทา
- คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) คือยาต้านเชื้อราที่มีในรูปแบบยาสำหรับรับประทานและยาทาแบบครีมหรือเจล ใช้รักษากลาก เกลื้อน และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา สำหรับยารูปแบบทา ควรทาวันละ 1-2 ครั้ง ก่อนทายานี้ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่มีอาการและเช็ดให้แห้งสนิทก่อนทา สำหรับยารูปแบบรับประทาน ควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหาร
- อีโคนาโซล (Econazole) ใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ควรทาผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ วันละ 1-2 ครั้ง ก่อนทายานี้ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่มีอาการผื่นเชื้อราและเช็ดให้แห้งก่อนทา
- ไมโคนาโซล (Miconazole) มีในรูปแบบครีม แป้ง และสเปรย์ ใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา โดยจะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา ควรทาวันละ 1-2 ครั้ง สำหรับแบบสเปรย์ควรเขย่าก่อนใช้
- ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เป็นยาในรูปแบบรับประทาน มีทั้งแบบยาเม็ดและยาน้ำ ใช้เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง สำหรับรูปแบบยาน้ำ ควรเขย่าขวดก่อนรับประทาน