เป็นฝีที่ก้น อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในก้น หรืออาจเกิดจากแผลบริเวณเยื่อบุขอบทวารหนักติดเชื้อจนพัฒนากลายเป็นฝี ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุทวารหนักหรือบริเวณรอบข้างก้น ส่งผลทำให้มีอาการเจ็บปวด มีหนอง เลือดออกขณะขับถ่าย หรือไม่สามารถอั้นอุจจาระได้ สำหรับการรักษาฝีที่ก้นอาจทำได้หลายวิธี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ
เป็นฝีที่ก้น เกิดจากอะไร
เป็นฝีที่ก้น อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในก้นที่ทำให้ฝีพัฒนาขึ้นเองในก้นหรือบริเวณรอบข้างก้น หรืออาจมีสาเหตุมาจากแผลบริเวณเยื่อบุขอบทวารหนักติดเชื้อ จนอาจทำให้มีอาการเจ็บปวดหรือมีเลือดออกขณะขับถ่าย นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือต่อมทวารหนักอุดตัน จนทำให้เกิดการติดเชื้อและพัฒนาไปเป็นฝีที่ก้นได้
อาการเมื่อเป็นฝีที่ก้น
เป็นฝีที่ก้นอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้
- เกิดโพรงที่ผิวหนังบริเวณก้น ผิวหนังบริเวณก้นเกิดการอักเสบ แดง และระคายเคือง
- มีหนอง เลือด หรืออุจจาระไหลออกจากช่องทวารหนัก
- มีกลิ่นเหม็นออกมาจากก้น
- ปวดตุบ ๆ บริเวณรอบ ๆ ก้นและด้านในก้น โดยเฉพาะเวลาขยับตัว นั่ง ไอ หรือขณะถ่ายอุจจาระ
- มีไข้ หนาวสั่น
- มีปัญหาในการควบคุมการเคลื่อนไหวลำไส้ จนไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นฝีที่ก้น
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นฝีที่ก้น มีดังนี้
- ผู้ที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงสูงในการเป็นฝีที่ก้น เนื่องจากความอ่อนแอของสุขภาพร่างกาย หรืออาจมีปัญหาบริเวณก้น
- ผู้ที่เป็นโรคโครห์น (Crohn’s Disease) หรือโรคลำไส้อักเสบ
- เคยเป็นฝีที่ก้นมาก่อนหน้านี้
- เกิดการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อที่บริเวณก้น
- เคยเข้ารับการผ่าตัดหรือการฉายรังสีรักษามะเร็งทวารหนัก
ภาวะแทรกซ้อนเมื่อเป็นฝีที่ก้น
เป็นฝีที่ก้นอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนี้
- การกลับมาเป็นฝีที่ก้นซ้ำอีก
- การผ่าตัดฝีที่ก้นอาจทำให้เกิดปัญหาการควบคุมหูรูดทวารหนัก อาจทำให้มีอุจจาระไหลออกมาทางทวารหนักโดยไม่สามารถควบคุมได้
- ติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น
- มีรูหรือช่องทางเชื่อมต่อจากลำใส้ใหญ่บริเวณผิวหนังใกล้ ๆ ช่องทวารหนัก (Fistula Formation) โดยอาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาของโรคหรือเกิดหลังจากผ่าตัด
การรักษาเมื่อเป็นฝีที่ก้น
การรักษาฝีที่ก้นอาจขึ้นอยู่กับตำแหน่งของทวารหนักที่เกิดฝี ซึ่งเป้าหมายการรักษา คือ การซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ โดยแนวทางการรักษาที่คุณหมออาจแนะนำ มีดังนี้
การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
- การรักษาด้วยเชือก (Seton Placement) เป็นวิธีการใช้เชือกคล้องส่วนที่เป็นฝีเพื่อระบายหนองในฝีออก วิธีนี้อาจใช้รักษาร่วมกับการผ่าตัด
- การรักษาด้วยไฟบริน (Fibrin) และคอลลาเจน เป็นวิธีการล้างทำความสะอาดหัวฝีและเย็บปิดรอยฝีด้วยการใช้เส้นใยโปรตีนไฟบริน โดยจะฉีดผ่านช่องว่างของฝี จากนั้นจะปิดช่องว่างของฝีด้วยโปรตีนคอลลาเจน
การรักษาโดยการผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาโดยการผ่าเปิดหัวฝีเพื่อระบายหนอง ขูด และล้างเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออก โดยอาจจำเป็นต้องตัดเอากล้ามเนื้อหูรูดออกบางส่วน ซึ่งคุณหมออาจแนะนำวิธีการผ่าตัดให้กับผู้ที่เป็นฝีบริเวณอวัยวะภายใน หรือฝีที่ไม่สามารถระบายหนองด้วยวิธีการอื่น
[embed-health-tool-heart-rate]