แบคทีเรียกินเนื้อ หรือ โรคเนื้อเน่า เป็นปัญหาสุขภาพผิวที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในผิวหนังชั้นลึกไปถึงระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ทำให้เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังตายและอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกาย โดยอาจสังเกตได้จากอาการผิวหนังบวมแดง ตุ่มน้ำ เป็นไข้ ผิวเปลี่ยนสี หากพบอาการดังกล่าว ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจและทำการรักษาทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
[embed-health-tool-bmr]
แบคทีเรียกินเนื้อ คืออะไร
แบคทีเรียกินเนื้อ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียแอโรโมแนส (Aeromonas) และเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสกลุ่มเอ (Group A streptococcus) มักพบหลังจากการผ่าตัดหรือหลังประสบอุบัติเหตุ รวมถึงการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อแบคทีเรียอาศัยอยู่ เช่น น้ำขัง น้ำกร่อย อีกทั้งยังอาจแพร่กระจายผ่านทางบาดแผลเล็ก ๆ รอยถลอก และแมลงกัดต่อย
ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ
ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ มีดังนี้
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง โรคไต โรคปอด โรคหลอดเลือดตีบ โรคมะเร็ง และโรคหัวใจที่ส่งผลกระทบต่อลิ้นหัวใจ
- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์
- ผู้ที่ใช้สารเสพติด
อาการของการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ
อาการของการติดเชื้อแบคทีเรียเนื้อ มักปรากฏภายใน 24 ชั่วโมง แรกของการติดเชื้อ โดยระยะแรกจะแสดงอาการเหมือนกับไข้หวัด เช่น มีไข้ คลื่นไส้ และเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้นภายใน 3-5 วัน ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
- อ่อนแรง
- วิงเวียนศีรษะ
- กระหายน้ำมาก ร่างกายขาดน้ำ
- ท้องร่วง
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลหรือรอยถลอก
- ผิวหนังบวม
- ผื่นสีม่วง ซึ่งอาจมีขนาดใหญ่จนกลายเป็นแผลพุพอง มีหนอง และมีกลิ่นเหม็น
- ผิวหนังลอกออกเป็นแผ่น
หากปล่อยไว้เป็นเวลานานและไม่รีบรักษาอาจส่งผลให้ความดันลดลงอย่างรวดเร็ว ช็อค การทำงานของอวัยวะของร่างกายล้มเหลว และหมดสติ บางคนอาจจำเป็นต้องตัดแขนหรือขาทิ้งเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออก
การรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียกกินเนื้อ
การรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ อาจแตกต่างกันออกไปตามอาการที่ผู้ป่วยเป็น ซึ่งอาจทำได้ดังนี้
- ผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่เสียหายหรือตายแล้วออก เพื่อยับยั้งการลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ หรืออาจถึงขั้นตัดแขนขาหากแบคทีเรียกินเนื้อลุกลามอย่างรุนแรง
- ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อหรือให้อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ที่เป็นแอนติบอดี ซึ่งอาจช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น
- ให้ยาเพิ่มความดันโลหิตสำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำ
- ใช้เครื่องช่วยหายใจ
- การบำบัดด้วยออกซิเจน (Hyperbaric oxygen therapy) ที่อาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับเนื้อเยื่อ
- การถ่ายเลือด
การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ
การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ มีดังนี้
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ หลังจากสัมผัสวัตถุรอบตัว
- ทำความสะอาดบาดแผลให้สะอาดและปิดแผลด้วยผ้าพันแผล เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- ควรพบคุณหมอทันทีหากมีบาดแผลขนาดใหญ่และลึก
- หลีกเลี่ยงแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำ สระว่ายน้ำ อ่างน้ำร้อน โดยเฉพาะผู้ที่มีแผลเปิด