ตุ่มใสที่นิ้ว หรือผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic Eczema) เป็นภาวะผื่นผิวหนังเรื้อรังที่มักจะเป็น ๆ หาย ๆ ส่งผลให้ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณนิ้วมือ มือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และนิ้วเท้า มีตุ่มน้ำใส ขนาดเล็ก แผลพุพอง เจ็บปวด และผิวหนังแห้งลอก การรักษาความสะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลสุขภาพเพื่อเสริมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย อาจช่วยป้องกันผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำได้
[embed-health-tool-bmi]
ตุ่มใสที่นิ้ว เกิดจากอะไร
ตุ่มใสที่นิ้ว หรือผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ อาจไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากสาเหตุที่คล้ายคลึงกันกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) ดังนี้
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอาจตอบสนองต่อความระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้เพียงเล็กน้อยได้ไวกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ผิวหนังเกิดความอักเสบมากขึ้น
- การแพ้ การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้บางชนิด เช่น นิเกิล (Nickel) โคบอลต์ (Cobalt) โครเมียม (Chomium) เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ปลา ถั่ว กุ้ง อาจทำให้เกิดอาการตุ่มใสที่นิ้วกำเริบได้
- ความชื้น หากมือและเท้าเปียกชื้นจากเหงื่อหรือน้ำเป็นเวลานานและบ่อยครั้ง อาจทำให้อาการตุ่มใสที่นิ้วกำเริบได้
- ความเครียด อาจทำให้อาการของโรคกำเริบได้ง่ายขึ้น
- ความเจ็บป่วยในร่างกายอาจจะส่งผลกระตุ้นให้เกิดผื่นตุ่มน้ำใสได้
อาการตุ่มใสที่นิ้ว
อาการตุ่มใสที่นิ้วมักเกิดขึ้นบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า โดยอาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้
- ตุ่มใส ตุ่มแข็งเล็ก ๆ ที่ด้านข้างฝ่ามือ นิ้วมือ และฝ่าเท้า
- แผลพุพองขนาดเล็ก
- คันมาก
- ความเจ็บปวดที่แผลถ้าตุ่มน้ำใสแตก
- ผิวหนังแห้งแตก ผิวหนาขึ้น และลอก
การรักษาตุ่มใสที่นิ้ว
การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งคุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษา ดังนี้
- ประคบเย็น อาจช่วยลดอาการคันผิวหนังได้
- ยาแก้แพ้ เช่น เซ็ททริซีน (Cetrizine) ลอราทาดีน (Loratadine) เพื่อช่วยลดอากาคัน
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เป็นยาชนิดใช้ภายนอกเพื่อช่วยให้ตุ่มใส่ที่นิ้วหายเร็วขึ้น
- การฉายแสง เป็นการฉายรังสียูวีบนผิวหนัง ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวและช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น คุณหมออาจใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย
- ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ทาโครลิมัส (Tacrolimus) พิเมลิโครมัส (Pimecrolimus) มักใช้สำหรับผู้ที่หลีกเลี่ยงการใช้สเตียรอยด์ และผื่นไม่หนามาก ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบของผิวหนัง
- การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum Toxin) มักใช้รักษาในผู้ที่มีอาการรุนแรง ช่วยลดปริมาณเหงื่อและช่วยให้ผื่นแห้งเร็วขึ้น
- หลีกเลี่ยงการล้างมือบ่อย เพราะจะทำให้ผื่นที่มือแย่ลง
การป้องกันตุ่มใสที่นิ้ว
เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำใสที่นิ้ว จึงอาจไม่มีวิธีป้องกันได้อย่างแน่นอน แต่การดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้อาจช่วยได้
- การรักษาความสะอาดด้วยการล้างมือและเท้าด้วยสบู่ละน้ำสะอาดทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน เพื่อขจัดเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนอยู่บนผิวหนัง และควรเช็ดมือให้แห้งทุกครั้งเพื่อป้องกันความอับชื้น
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่อาจกระตุ้นให้อาการกำเริบ
- ทามอยเจอร์ไรเซอร์บริเวณมือและเท้า โดยเฉพาะหลังล้างทำความสะอาด เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง
- สวมถุงมือและรองเท้าทุกครั้งเมื่อต้องสัมผัสกับสิ่งสกปรกหรือสารเคมีที่รุนแรง
- นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง สามารถลดโอกาสกำเริบของโรคได้