กรวยไตอักเสบ เป็นอาการติดเชื้อที่ไต ซึ่งอาจเริ่มต้นขึ้นที่กระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ แล้วเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดการติดเชื้อที่ไต นำไปสู่อาการกรวยไตอักเสบ
คำจำกัดความ
กรวยไตอักเสบ คืออะไร
กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) หรือที่รู้จักกันว่า อาการติดเชื้อที่ไต คือการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะแบบเฉพาะ ที่อาจเริ่มต้นขึ้นที่กระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ โดยกรวยไตอักเสบมักจะเกิดขึ้นจากการที่เชื้อแบคทีเรียเข้าไปในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยปกติแล้วปัสสาวะของคุณจะเก็บสะสมไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ ก่อนปล่อยออกจากร่างกาย เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ผ่านทางท่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างกระเพาะปัสสาวะและภายนอกร่างกาย และทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ และระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ไต และนำไปสู่กรวยไตอักเสบ
การติดเชื้อที่ไตพบได้น้อยกว่าการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะอื่นๆ แต่ก็มีความรุนแรงมากกว่า หากการติดเชื้อกำเริบอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่ไต และทำให้ไตเสียหายได้ เรียกว่ากรวยไตอักเสบเรื้อรังซึ่งอาจนำไปสู่อาการไตวาย
กรวยไตอักเสบ พบได้บ่อยแค่ไหน
การติดเชื้อที่ไตนั้นมักจะเกิดในผู้หญิงและผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้ท่อสายสวน (catheter) ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่ระบบทางเดินปัสสาวะอุดตัน เนื่องจากนิ่วหรือต่อมลูกหมากบวม ก็สามารถติดเชื้อที่ไตได้เช่นกัน
อาการ
อาการกรวยไตอักเสบเป็นอย่างไร
กรวยไตอักเสบในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใดๆ อาการทั่วไปคือเป็นไข้และปวดหลัง
อาการอื่นๆ มีดังนี้คือ หนาวสั่น ปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ ปัสสาวะแล้วปวด ปวดที่ซี่โครงหรือสีข้าง รู้สึกอยากปัสสาวะและอาเจียนฉับพลัน
สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจจะมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณมีอาการใดๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีอาการผิดปกติที่บริเวณหน้าท้องส่วนล่าง ปวดท้องอย่างรุนแรง และปัสสาวะเป็นเลือด หรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับคุณหมอ เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของ กรวยไตอักเสบ
กรวยไตอักเสบมักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินปัสสาวะ และขึ้นไปถึงไตผ่านทางท่อไต หรือกระแสเลือด ซึ่งเป็นส่วนที่เชื้อแบคทีเรียจะแบ่งตัว และไปติดเชื้อที่ไต โดยกรวยไตอักเสบสามารถเกิดจากเชื้อเชื้อแบคทีเรียมากมาย ที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ เชื้ออีโคไล (E. coli)
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกรวยไตอักเสบ
ปัจจัยเสี่ยงของโรคกรวยไตอักเสบมีดังนี้คือ
- เพศ ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ไตมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีท่อปัสสาวะสั้นกว่า เชื้อแบคทีเรียจึงเดินทางจากภายนอกร่างกายไปสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า
- การอุดตันที่ระบบทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น
- นิ่วในไต โครงสร้างที่ผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือภาวะต่อมลูกหมากโตสำหรับผู้ชาย ทำให้การไหลของปัสสาวะชะลอตัว หรือกระเพาะปัสสาวะระบายของเสียได้น้อยลง จึงเสี่ยงติดเชื้อที่ไตเพิ่มขึ้น
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สภาวะทางการแพทย์ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเบาหวาน โรคเอชไอวี สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ไตได้ รวมถึงยาบางชนิด เช่น ยาป้องกันการต่อต้านอวัยวะใหม่ ก็อาจจะมีผลที่คล้ายกัน
- การใช้สายสวนท่อปัสสาวะนานเกินไป
- ภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (Vesicoureteral reflux)
อย่างไรก็ตาม แม้คุณจะไม่มีปัจจัยเสี่ยงก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่เป็นโรคกรวยไตอักเสบ ปัจจัยเหล่านี้มีไว้เพื่ออ้างอิงเท่านั้น โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยกรวยไตอักเสบ
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ด้วยการซักประวัติและตรวจดูอาการ เช่นอาการไข้ ปวดหลัง
หากแพทย์สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อที่ไต แพทย์จะสั่งให้ทำการตรวจปัสสาวะและตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังอาจมีการการตรวจอัลตราซาวด์ หรือตรวจซีทีแสกน (CT) ที่ไต เพื่อหาการติดเชื้อ
การรักษากรวยไตอักเสบ
คนส่วนใหญ่จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และทำการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะผ่นทางหลอดเลือดดำ หลังจากที่อาการดีขึ้น อาจจำเป็นต้องให้รับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 2 ถึง 4 สัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีการให้ยาแก้ปวดและน้ำเกลือผ่านทางหลอดเลือดดำ ถ้ามีภาวะขาดน้ำ สำหรับการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่เกิดขึ้นซ้ำ อาจต้องให้ยาปฏิชีวนะในขนาดที่ต่ำกว่าทุกๆ วันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
หากนิ่วในไตทำให้เกิดการติดเชื้อ แพทย์อาจสั่งให้ทำการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (shock wave lithotripsy) ใช้แสงเลเซอร์ หรือผ่าตัดเพื่อนำนิ่วออก
สำหรับผู้ใหญ่ ควรมีการเพาะเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะซ้ำ หลังจากการรักษาเสร็จสิ้น เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีกำเริบของการติดเชื้อนั้น หากมีการติดเชื้อกำเริบอีกครั้ง อาจให้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องอีก 14 วัน หากการติดเชื้อยังกำเริบอีก อาจต้องมีการสั่งให้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 6 สัปดาห์
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองที่จะช่วยจัดการกรวยไตอักเสบ
ลักษณะไลฟ์สไตล์และการเยียวยาด้วยตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยรับมืออาการกรวยไตอักเสบได้
- หากเกิดภาวะขาดน้ำให้ดื่มน้ำให้มาก แต่ห้ามดื่มสุรา
- น้ำเปล่าและน้ำแครนเบอร์รี่ สามารถทำให้แบคทีเรียบางชนิดไม่สามารถเกาะติดกับด้านในของกระเพาะปัสสาวะได้ ช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงการกลับมาติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง
- อย่ากลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน คุณควรจะปัสสาวะก่อนและหลังจากการมีเพศสัมพันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อแบคทีเรียขณะมีเพศสัมพันธ์
- หากคุณมีนิ่วในไต ควรกำจัดซะ นอกจากนี้ยังควรทำการตรวจต่อมลูกหมากเป็นระยะๆ และทำการรักษาหากมีอาการบวม
- อย่าหยุดใช้ยา หรือเปลี่ยนขนาดยา หลังจากที่คุณรู้สึกดีขึ้นแล้ว นอกเสียจากแพทย์จะสั่ง
- อย่ารับประทานสมุนไพรใดๆ ที่คุณหาซื้อเอง เนื่องจากสมุนไพรบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคไตได้
หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นถึงทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด