โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อย และหากอาการรุนแรงหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันก็อาจต้องรักษาด้วยการ ผ่าตัดริดสีดวง เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคริดสีดวงทวาร สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือการศึกษาและทำความเข้าใจถึงวิธีการ ดูแลแผลผ่าตัดริดสีดวงทวาร อย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้ดูแลตัวเองที่บ้านได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ แผลหายช้า
[embed-health-tool-bmi]
โรคริดสีดวงทวาร คืออะไร
โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) คือ ภาวะที่เกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักนูนหรือโป่งพอง ส่งผลให้เยื่อบุผนังทวารหนักที่ได้รับผลกระทบนูนบวม ส่งผลให้มีอาการปวดบวมอย่างรุนแรง และอาจเกิดก้อนแข็งภายในหรือภายนอกทวารหนัก ร่วมกับมีอาการเจ็บแสบหรือเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ บางครั้งอาจมีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นลม ซึ่งในบางกรณี อาจต้องรักษาด้วยการ ผ่าตัดริดสีดวง
โรคริดสีดวงทวาร มักเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- ออกแรงเบ่งอุจจาระมากเกินไป
- ท้องร่วง หรือท้องผูกเรื้อรัง
- อยู่ในช่วงตั้งครรภ์
- มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ต่ำ
- มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วน
- นั่งโถส้วมนาน ๆ เป็นประจำ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคริดสีดวงทวาร
หากเป็นโรคริดสีดวงทวาร แล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน ดังต่อไปนี้
- โรคโลหิตจาง เนื่องจากสูญเสียเลือดมากจนส่งผลให้มีเลือดลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารหล่อเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายไม่เพียงพอ
- ลิ่มเลือด แม้ลิ่มเลือดจะไม่ได้อันตรายมากนัก แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการบวมและรู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก
หลัง ผ่าตัดริดสีดวง ควรดูแลแผลอย่างไร
หากโรคริดสีดวงทวารหนักอยู่ในระยะรุนแรง มีติ่งเนื้อหรือก้อนริดสีดวงยื่นออกมาจากรูทวารและไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก คุณหมออาจแนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งอาจเป็นการผ่าตัดแบบตัดก้อนริดสีดวงทิ้ง การผ่าตัดแบบเย็บผูกหลอดเลือด การผ่าตัดแบบใช้เครื่องเย็บอัตโนมัติ การผ่าตัดแบบเลเซอร์
หลังจากผ่าตัด คุณหมออาจให้นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน ขึ้นอยู่กับวิธีผ่าตัดที่ใช้ หลังจากนั้นจะให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน พร้อมแนะนำวิธี ดูแลแผลผ่าตัดริดสีดวงทวารด้วยตนเองง่าย ๆ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการนั่งกดทับแผล
- งดยกของหนัก
- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง และอาหารรสจืด ย่อยง่าย
- ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
- หมั่นทายา หรือรับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง
- รับประทานยาแก้ปวด หากมีอาการปวดจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
- ล้างแผลด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ ในตอนเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน โดยเฉพาะหลังถ่ายอุจจาระ
- หลังล้างทำความสะอาดแผล ควรใช้กระดาษทิชชู่หรือผ้าขนหนูเนื้อนิ่มซับแผลเบา ๆ ให้แห้ง ไม่ควรเช็ดหรือถูแผลแรง ๆ เพราะอาจทำให้แผลฉีกขาด อักเสบ หรือมีเลือดออก
- สามารถนอนตะแคง นอนหงาย หรือนอนคว่ำได้
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมผาดโผน การนั่งนาน ๆ หรือเดินเยอะ ๆ
- งดออกกำลังกายอย่างน้อย 2 สัปดาห์
หากดูแลอย่างถูกวิธี แผลผ่าตัดริดสีดวงจะดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของแต่ละคนด้วย ทั้งนี้ หากดูแลแผลผ่าตัดตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว แผลไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง เช่น มีหนองไหล มีเลือดออกไม่หยุด ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม