โรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดหนึ่งที่เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก และเสี่ยงต่อการมีภาวะหัวใจวาย ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ เพื่อป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลิกสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณจำกัด
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
โรคหัวใจขาดเลือดคืออะไร
โรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease) หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นภาวะที่หัวใจขาดออกซิเจน เนื่องจากมีเลือดไหลไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ส่งผลให้เสี่ยงที่จะหัวใจวายหรือเสียชีวิตได้
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา รายงานว่า โรคหัวใจขาดเลือดเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดที่พบได้บ่อยที่สุด และในปี พ.ศ. 2563 ชาวอเมริกันเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดจำนวน 382,820 ราย
อาการ
อาการของ โรคหัวใจขาดเลือด
เมื่อเป็นโรคหัวใจขาดเลือด จะรู้สึกแน่นหน้าอก บริเวณด้านซ้ายของหน้าอก โดยอาการมักเกิดขึ้นตอนกลางคืนหรือหลังจากออกกำลังกายหรือมีอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธ เครียด
โดยทั่วไป อาการแน่นหน้าอกจะหายเองได้ภายในไม่กี่นาที แต่บางรายโดยเฉพาะผู้หญิง อาจมีอาการเจ็บบริเวณคอ แขน หรือหลัง ร่วมด้วย
ทั้งนี้ อาการอื่น ๆ ของโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่
- หายใจไม่ออก
- ใจสั่น
- อ่อนเพลีย
- เหงื่อออก
นอกจากนี้ โรคหัวใจขาดเลือดยังอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้
- หัวใจวาย หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อบางส่วนของหัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก อ่อนแรง วิงเวียน หน้ามืด และเจ็บตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ขากรรไกร คอ หลัง มือ หัวไหล่ ทั้งนี้ หัวใจวายอาจทำให้เสียชีวิตได้
- หัวใจล้มเหลว เป็นภาวะที่หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เลือดคั่งในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย จนทำให้มีของเหลวสะสมในปอด ผู้ที่หัวใจล้มเหลวจะไอ หายใจไม่ออก ขาและเท้าบวม หัวใจเต้นเร็ว และคลื่นไส้
สาเหตุ
สาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด
โรคหัวใจขาดเลือดมีสาเหตุมาจากภาวะหลอดเลือดแข็ง หรือเนื่องจากไขมัน คอเลสเตอรอล หรือสสารต่าง ๆ เข้าไปสะสมในเลือด แล้วทำให้หลอดเลือดแคบลงหรืออุดตัน จนระบบหมุนเวียนเลือดมีปัญหาและไม่สามารถส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้
โดยทั่วไป โรคหัวใจขาดเลือด รวมถึงภาวะหลอดเลือดแข็ง มักเกิดกับกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน ไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกาย
- ผู้ที่รับประทานอาหารซึ่งอุดมไปด้วยไขมัน เกลือ น้ำตาล
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง
- ผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพอ
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- ผู้ที่มีสารโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) ในร่างกายสูง
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
หากมีสัญญาณหรือภาวะที่บ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัย โรคหัวใจขาดเลือด
โรคหัวใจขาดเลือดรักษาได้หลายวิธี เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) เป็นการตรวจการทำงานของหัวใจ รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อพิจารณาว่ามีภาวะหัวใจวายหรือไม่
- การบันทึกภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสร้างภาพของหัวใจที่กำลังเต้น เพื่อดูว่าเลือดไหลผ่านหัวใจหรือลิ้นหัวใจอย่างไร
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะที่เดินบนสายพานหรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ ทั้งนี้ หากออกกำลังกายไม่ได้ คุณหมอจะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหลังให้รับประทานยากระตุ้นหัวใจแทน
- ซีที สแกน (Computerized Tomography หรือ CT Scan) เพื่อมองหาภาวะอุดตันของหลอดเลือด รวมถึงภาวะแคลเซียมสะสมในหลอดเลือดซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดแคบลง และนำไปสู่ภาวะโรคหัวใจขาดเลือดได้
การรักษา โรคหัวใจขาดเลือด
ปกติแล้ว คุณหมอจะรักษาโรคหัวใจขาดเลือด ด้วยการจ่ายยาดังต่อไปนี้
- ยาลดคอเลสเตอรอล เช่น ยากลุ่มสแตติน (Statin) อย่างอะโทวาสแตติน (Atorvastatin) หรือโรสุวาสแตติน (Rosuvastatin)
- ยาลดความดันโลหิต เช่น ยากลุ่มเบตา บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) ซึ่งออกฤทธิ์ลดยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเอดริแนฟรีน (Adrenaline) ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตลดลง ทั้งนี้ หากยากลุ่มเบตา บล็อกเกอร์ใช้ไม่ได้ผล คุณหมอจะจ่ายยาแคลเซียม แชนแนล บล็อกเกอร์ (Calcium Channel Blocker) ให้รับประทานแทน
- ยาบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก เช่น ยาไนเตรต (Nitrate) ซึ่งมีฤทธิ์ผ่อนคลายหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตลดลงและอาการเจ็บหน้าอกดีขึ้นในเวลาเดียวกัน
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) โคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ไรวาร็อกซาแบน (Rivaroxaban)
นอกจากนี้ บางกรณีคุณหมออาจเลือกรักษาโรคหัวใจขาดเลือดด้วยการผ่าตัด ดังนี้
- ผ่าตัดสอดสายสวนเข้าหลอดเลือดหัวใจ เป็นการสอดสายสวนขนาดเล็กเข้าไปยังหลอดเลือดที่แคบลงหรืออุดตัน แล้วสอดบอลลูนตามเข้าไป เพื่อทำให้หลอดเลือดขยายกว้างขึ้น บางครั้ง คุณหมอจะสอดขดลวดถ่างขยาย (Stent) เข้าไปหลังจากนั้นด้วย เพื่อป้องกันหลอดเลือดแคบลงหรืออุดตัน
- ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เป็นการผ่าตัดนำหลอดเลือดที่สุขภาพดีจากส่วนอื่นของร่างกาย ไปเชื่อมต่อกับหลอดเลือดที่อุดตันและหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังหัวใจผ่านทางเส้นเลือดนี้ โดยทั่วไป การผ่าตัดวิธีนี้นิยมใช้ในผู้ที่มีหลอดเลือดแคบลงหรืออุดตันจำนวนมาก
- การปลูกถ่ายหัวใจ เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ โดยนำหัวใจของผู้บริจาคมาปลูกถ่ายแทนหัวใจเดิมของผู้ป่วย คุณหมอจะเลือกการผ่าตัดวิธีนี้ก็ต่อเมื่อหัวใจเสียหายอย่างหนัก ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
เพื่อป้องกัน โรคหัวใจขาดเลือด ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว เช่น ไส้กรอก เนื้อติดมัน เนย น้ำมันหมู ครีม ขนมอบ น้ำมันปาล์ม เพราะทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อรักษาสุขภาพของหลอดเลือดและหัวใจให้แข็งแรง และลดความเสี่ยงมีภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หรือค่าดัชนีมวลกายไม่เกิน 25
- งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของภาวะหลอดเลือดแข็ง
- จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยกว่า 14 แก้ว/สัปดาห์
- ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป หรือไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ อาหารไขมันต่ำ อาหารรสจืดหรือปราศจากโซเดียม
- รับประทานยาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด