ภาวะปลายเท้าตก (Foot Drop) เป็นภาวะที่ กระดกปลายเท้าไม่ขึ้น ส่งผลต่อการเดิน ภาวะปลายเท้าตกนั้นเป็นอาการทั่วไปของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis หรือ MS) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึกต่าง ๆ วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ภาวะปลายเท้าตกมาให้อ่านกันค่ะ
[embed-health-tool-heart-rate]
ภาวะปลายเท้าตก คืออะไร
ภาวะปลายเท้าตกเป็นภาวะที่ผู้ป่วย กระดกปลายเท้าไม่ขึ้น จึงทำให้เวลาเดินหัวแม่เท้าจะลากพื้น สำหรับผู้ที่มีภาวะปลายเท้าตกเมื่อเดินจะยกเข่าสูงกว่าปกติ บางครั้งอาจจะเดินแกว่งเท้าไปด้านหน้ามากกว่าปกติ ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นในเท้าเพียงข้างเดียวหรืออาจเกิดขึ้นกับเท้าทั้ง 2 ข้าง ภาวะปลายเท้าตกนั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ระบบประสาทหรือระบบกล้ามเนื้อนั้นมีปัญหา บางครั้งอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หรืออาจเป็นถาวรเลยก็ได้
พฤติกรรมที่ส่งผลทำให้ กระดกปลายเท้าไม่ขึ้น
ภาวะปลายเท้าตกนั้นเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณเท้าที่ใช้ยก เกิดอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต จนทำให้ กระดกปลายเท้าไม่ขึ้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
เส้นประสาทได้รับบาดเจ็บ
เส้นประสาทได้รับการบาดเจ็บ ซึ่งสาเหตุนี้เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ กระดกปลายเท้าไม่ขึ้น โดยเส้นประสาทบริเวณขาที่ทำหน้าที่ควบคุมการยกเท้าถูกกดทับ หรือเส้นประสาทนี้เกิดอาการบาดเจ็บจากการผ่าตัดสะโพกหรือเข่า นอกจากนี้ การที่เส้นประสาทบริเวณสันหลังถูกกดทับก็ทำให้เกิดภาวะปลายเท้าตกได้เช่นกัน สำหรับผู้ป่วยเบาหวานจะเกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทได้ง่าย จึงอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปลายเท้าตก
กล้ามเนื้อและเส้นประสาทผิดปกติ
โรคกล้ามเนื้อเสื่อม เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ สำหรับผู้ที่มีอาการโรคกล้ามเนื้อเสื่อมจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และส่งผลทำให้เกิดภาวะปลายเท้าตกได้ นอกจากนี้ยังมีโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะปลายเท้าตกได้อีก เช่น โรคโปลิโอ
วิธีรักษาภาวะปลายเท้าตก
การรักษาภาวะปลายเท้าตกนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าเกิดจากอะไร หากรักษาสาเหตุที่เป็นตัวการทำให้เกิดอาการ กระดกปลายเท้าไม่ขึ้น ได้ อาจทำให้ภาวะปลายเท้าตกดีขึ้นหรือหายเลยก็ได้ แต่หากไม่สามารถรักษาสาเหตุได้ ก็อาจจะต้องมีอาการ กระดกปลายเท้าไม่ขึ้น ไปอย่างถาวร ซึ่งวิธีการรักษาภาวะปลายเท้าตก มีดังนี้
- อุปกรณ์ช่วยพยุง การใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงจะช่วยให้เท้าอยู่ในตำแหน่งที่ปกติ
- กายภาพบำบัด การทำกายภาพบำบัดช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อขาและข้อต่อบริเวณเท้าช่วยให้เคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น นอกจากนี้การยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำยังช่วยป้องกันไม่ให้ส้นเท้าตึงอีกด้วย
- กระตุ้นด้วยไฟฟ้า การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าขณะเดินสามารถช่วยลดอาการเท้าตกได้
- ศัลยกรรม หากใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหรือทำกายภาพบำบัดแล้ว แต่ไม่ทำให้อาการดีขึ้น วิธีการผ่าตัดอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้ เช่น การผ่าตัดย้ายเส้นเอ็น