backup og meta

Hypokalemia อาการ สาเหตุ และการป้องกัน

Hypokalemia อาการ สาเหตุ และการป้องกัน

Hypokalemia คือ อาการโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การใช้ยาขับปัสสาวะ ท้องร่วง อาเจียน โรคไตเรื้อรัง หรืออาจเกิดจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยปกติแล้วโพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีส่วนช่วยควบคุมการทำงานของระบบประสาทและเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย หากร่างกายมีระดับโพแทสเซียมต่ำเกินไปอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ที่สังเกตได้จาก อาการเหนื่อยล้าง่าย หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน รวมถึงเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษา

[embed-health-tool-bmr]

Hypokalemia คืออาการอะไร

Hypokalemia คือ อาการโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ที่เกิดขึ้นเมื่อระดับโพแทสเซียมในเลือดน้อยกว่า 2.5 มิลลิโมล/ลิตร จากระดับปกติที่ควรอยู่ที่ประมาณ 3.6-5.2 มิลลิโมล/ลิตร ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ท้องเสีย หายใจลำบาก ค่าความเป็นกรด-ด่างในเลือดไม่สมดุล หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาตชั่วคราว ไตวาย และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เนื่องจากโพแทสเซียมมีบทบาทสำคัญต่อร่างกายเพื่อช่วยควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ อัตราการการเต้นของหัวใจ ระบบประสาท ความดันโลหิต และความสมดุลของความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย

สาเหตุของ Hypokalemia

ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • โรคไตเรื้อรัง
  • การทำงานของต่อมหมวกไตบกพร่อง
  • มีอาการอาเจียนและท้องร่วงผิดปกติ
  • เหงื่อออกมากเกินไป
  • ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic ketoacidosis) โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน
  • สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • ร่างกายขาดกรดโฟลิก (Folic Acid) แมกนีเซียม เนื่องจากสารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยในการดูดซึมโพแทสเซียมเข้าสู่เซลล์ หากร่างกายมีระดับโฟลิกและแมกนีเซียมต่ำ อาจทำให้เสี่ยงภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำได้
  • การดูดซึมสารอาหารผิดปกติ
  • การใช้ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคหอบหืด และยาปฏิชีวนะ เช่น ยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) แอมโฟเทอริซิน บี  (Amphotericin B) ยากลุ่มไธอะไซด์ไดยูเรติก (Thiazide Diuretics) และฟูโรซีไมด์ (Furosemide)
  • ภาวะอัลโดสเตอโรนสูง (Primary Aldosteronism) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการที่ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนแอลโดรสเตอโรนมากเกินไป ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและโพแทสเซียมต่ำลง

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome) กลุ่มอาการจิเทลแมน (Gitelman Syndrome) กลุ่มอาการลิดเดิล (Liddle Syndrome) กลุ่มอาการบาร์ตเตอร์ (Bartter Syndrome) กลุ่มอาการแฟนโคนี (Fanconi Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของไต ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโพแทสเซียมต่ำได้เช่นกัน

Hypokalemia มีอาการอย่างไร

อาการของ Hypokalemia มีดังนี้

  • เหนื่อยล้าง่ายและอ่อนเพลีย
  • อาเจียน
  • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด
  • ปัสสาวะบ่อย
  • กระหายน้ำมาก
  • เบื่ออาหาร
  • จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ใจสั่น
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง บางคนอาจมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกและเป็นตะคริว
  • ท้องผูก หรือท้องเสีย

หากสังเกตว่ามีอาการหายใจลำบาก แขนขาชา อัมพาต ลำไส้แปรปรวน หัวใจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ควรเข้าพบคุณหมอทันที

การรักษา อาการ Hypokalemia

การรักษา อาการ Hypokalemia มีดังนี้

  • หยุดหรือลดปริมาณยาที่อาจทำให้โพแทสเซียมต่ำ โดยควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอ ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะอาจทำให้โรคที่เป็นอยู่มีอาการรุนแรงขึ้น
  • รับประทานอาหารเสริมโพแทสเซียม ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำถึงปานกลาง
  • ฉีดโพแทสเซียมเข้าสู่หลอดเลือดดำ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเต้นผิดปกติและร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรับประทานอาหารเสริมโพแทสเซียม

การป้องกัน อาการ Hypokalemia

โดยปกติแล้ว ผู้หญิงควรได้รับโพแทสเซียมประมาณ 2,600 มิลลิกรัม/วัน และผู้ชายควรได้รับโพแทสเซียมประมาณ 3,400 มิลลิกรัม/วัน เพื่อป้องกัน อาการ Hypokalemia ดังนั้น จึงควรรับเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ดังนี้

  • อะโวคาโด
  • กล้วย
  • กีวี่
  • ส้ม
  • แคนตาลูป
  • ผักโขม
  • มะเขือเทศ
  • ฟักทอง
  • มันฝรั่ง
  • แตงกวา
  • บร็อคโคลี่
  • บวบ
  • เห็ด
  • ถั่วเหลือง
  • ปลาทูน่า
  • ปลาเทราท์
  • ข้าวกล้อง
  • ลูกพรุนแห้ง
  • น้ำมะพร้าว
  • น้ำส้ม
  • เนื้อสัตว์ปีกหรือเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน

จากการศึกษาในวารสาร Advances in Nutrition  เมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโพแทสเซียมและสุขภาพ พบว่า การบริโภคอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด อาการ Hypokalemiaหรือภาวะโพแทสเซียมต่ำ และช่วยลดความดันโลหิต ช่วยรักษามวลกระดูก ช่วยควบคุมการทำงานของหัวใจ และอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

นอกจากนี้ ยังควรหยุดหรือลดปริมาณยารักษาโรคที่อาจทำให้โพแทสเซียมในเลือดลดลง โดยควรขอคำปรึกษาคุณหมอ ไม่ควรหยุดยาเอง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Potassium. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/potassium/.Accessed July 14, 2022.

Potassium Rich Foods. https://www.webmd.com/diet/foods-rich-in-potassium.Accessed July 14, 2022.

ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ มีอาการอย่างไรบ้าง และเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/QA_full.php?id=2610.Accessed July 14, 2022.

What is Hypokalemia?. https://www.webmd.com/digestive-disorders/hypokalemia.Accessed July 14, 2022.

Low potassium (hypokalemia). https://www.mayoclinic.org/symptoms/low-potassium/basics/definition/sym-20050632.Accessed July 14, 2022.

Potassium and health. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23674806/.Accessed July 14, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/01/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารบำรุงมดลูก สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง

5 อาหารที่ช่วยดีท็อกลำไส้ มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 18/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา