backup og meta

ท้องเสียห้ามกินอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 03/10/2023

    ท้องเสียห้ามกินอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    ท้องเสียห้ามกินอะไร อาจเป็นคำถามที่มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีอาการท้องเสียบ่อยครั้ง โดยปกติแล้ว อาการท้องเสียอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียและปรสิต การใช้ยาบางชนิด การแพ้แลคโตส แพ้น้ำตาลฟรุกโตส หรืออาจเกิดจากโรคทางเดินอาหาร เช่น โรคโครห์น (Crohn’s Disease) โรคลำไส้แปรปรวน โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียได้ง่ายขึ้นเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น นม ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสเผ็ด

    ผู้ที่มีอาการท้องเสียจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารหรือกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ดังนั้น การสังเกตอาการของตนเองจึงอาจเป็นวิธีที่จะบอกได้ว่าตนเองมีอาการท้องเสียเกิดขึ้นเมื่อรับประทานอาหารชนิดใด

    ท้องเสียห้ามกินอะไร

    อาหารที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้บ่อย อาจมีดังนี้

    • นม

    นมมีน้ำตาลแลคโตสที่อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียในผู้ที่มีปัญหาแพ้แลคโตส เนื่องจาก เอนไซม์ที่ผลิตในลำไส้เล็กมีปริมาณน้อยเกินไปจนไม่สามารถย่อยสลายน้ำตาลแลคโตสได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง แก๊สในกระเพาะอาหาร และท้องอืดหลังดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมในขณะที่มีอาการท้องเสีย เพื่อป้องกันสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น

    • อาหารที่มีไขมันสูง

    อาหารที่มีไขมันสูงและเต็มไปด้วยไขมันอิ่มตัว หรือไขมันทรานส์  เช่น มันฝรั่งทอด ขนมกรุบกรอบ อาหารแปรรูป เค้ก คุกกี้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือทำให้อาการท้องเสียที่เป็นอยู่แย่ลง เนื่องจากปัญหาการย่อยและการดูดซึมอาจกระตุ้นให้เกิดอาการท้องเสียได้

    • น้ำตาล

    การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลบางชนิดมากเกินไปจนร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการท้องเสียได้ โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสที่สามารถกระตุ้นอาการท้องเสียได้เนื่องจากไปทำให้ลำไส้ขับน้ำออกมามากขึ้นร่วง ตัวอย่างอาหาร เช่น ลูกพีช ลูกแพร์ เชอร์รี่ แอปเปิ้ล น้ำอัดลม น้ำผลไม้เติมน้ำตาล นอกจากนี้ สารให้ความหวานเทียม เช่น ซอร์บิทอล (Sorbitol) แมนนิทอล (Mannitol) ไซลิทอล (Xylitol) ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้จากกลไกเดียวกัน

    • คาเฟอีน

    อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน  เช่น กาแฟ น้ำอัดลม ชา ช็อกโกแลต อาจเป็นสิ่งกระตุ้นที่เพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ หรืออาจเพิ่มการหดตัวของกล้ามเนื้อที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของทางเดินอาหาร ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ที่รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเกิดอาการท้องเสียและถ่ายเหลวได้ นอกจากนี้ คาเฟอีนยังอาจมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะอ่อน ๆ ที่อาจเพิ่มปริมาณการขับปัสสาวะมากขึ้นและทำให้ร่างกายขาดน้ำได้

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักหรือดื่มมานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาทางเดินอาหารได้มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้ผนังเยื่อบุลำไส้บาดเจ็บ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการย่อยและการดูดซึมอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเสียตามมาได้ อีกทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ยังเพิ่มการขับปัสสาวะ ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดน้ำด้วย

    • อาหารรสเผ็ด

    อาหารรสเผ็ดอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เนื่องจากมีสารแคปไซซิน (Capsaicin) ที่อยู่ในแกนกลางของเมล็ดพริก สารชนิดนี้ส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนไหวมากกว่าปกติ จนเกิดเป็นอาการท้องเสียในที่สุด

    การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการท้องเสีย

    การรักษาอาการท้องเสียขึ้นกับสาเหตุเป็นหลัก แต่เพื่อบรรเทาอาการและช่วยทำให้อาการท้องเสียดีขึ้น อาจใช้วิธีการต่อไปนี้

    • ดื่มน้ำเกลือแร่ โดยจิบบ่อย ๆ ทีละน้อย ส่วนปริมาณสามารถดื่มได้บ่อยตามต้องการโดยดูจากปริมาณอุจจาระที่ถ่ายออกมา เพื่อให้ร่างกายได้รับสารน้ำและเกลือแร่อย่างเพียงพอตลอดทั้งวัน สามารถเพิ่มการดื่มน้ำได้จากการรับประทานอาหาร เช่น ซุป ข้าวต้ม ได้เช่นกัน
    • หลีกเลี่ยงคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาหารที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจเพิ่มการขับน้ำออกจากร่างกายมากขึ้น จนอาจเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้
    • ปรับการรับประทานอาหาร ในช่วงท้องเสียอาจจำเป็นต้องรับประทานอาหารอ่อน อาหารเหลวหรือมีกากใยน้อย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ซุป เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้อย่างเต็มที่ และเมื่อร่างกายเริ่มปรับตัวหรือรู้สึกว่าอาการท้องเสียเริ่มดีขึ้น ให้ค่อย ๆ ปรับการรับประทานอาหารโดยเริ่มจากอาหารกึ่งแข็งและกากใยต่ำเพื่อให้ร่างกายปรับการย่อยให้เป็นปกติ เช่น แครกเกอร์ ขนมปังปิ้ง ไข่ ข้าว ไก่ ปลา
    • หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีเส้นใยสูง อาหารรสจัด
    • หากอาการท้องเสียรุนแรงควรปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 03/10/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา