backup og meta

อาหารแอตกินส์ (Atkins diet) ช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ

อาหารแอตกินส์ (Atkins diet) ช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ

อาหารแอตกินส์ หรือ การรับประทานอาหารแบบแอตกินส์ (Atkins diet) เป็นรูปแบบหนึ่งของการรับประทานอาหารที่จำกัดแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต แต่เน้นโปรตีนและไขมันให้มากขึ้นแทน ได้รับความนิยมในกลุ่มคนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน และต้องการลดน้ำหนัก 

[embed-health-tool-bmi]

อาหารแอตกินส์ คืออะไร

อาหารแอตกินส์ เป็นวิธีการรับประทานอาหารแบบหนึ่งที่ดร.โรเบิร์ต ซี แอตกินส์ (Robert C. Atkins) เป็นผู้คิดค้นขึ้นในปี พ.ศ. 2515 โดยจะมุ่งเน้นไปที่การรับประทานคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง แต่จะไปเพิ่มโปรตีนและไขมันให้มากขึ้นแทน โดยเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมเพื่อประโยชน์ในการลดน้ำหนัก เนื่องจากโดยปกติแล้วพลังงานจากโปรตีนและไขมันมักทำให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้น จึงทำให้ลดความอยากอาหารในมื้อต่อ ๆ ไป รวมถึงลดปริมาณแคลอรีในมื้ออาหารต่อไป การรับประทานอาหารแบแอตกินส์จึงอาจมีผลดีต่อการลดน้ำหนักมากกว่าการเน้นแป้งและคาร์โบไฮเดรต

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวมีการถกเถียงกันอยู่เสมอว่า วิถีการบริโภคอาหารเช่นนี้ดีต่อสุขภาพจริง ๆ หรือไม่ เพราะการเน้นไขมันอาจทำให้เกิดการสะสมไขมันชนิดที่ไม่ดีในร่างกาย และอาจมีผลทำให้น้ำหนักขึ้นมากกว่าที่จะช่วยลดน้ำหนัก

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับข้อโต้แย้งต่อการบริโภคอาหารแบบแอตกินส์ เผยแพร่ในวารสาร Annals of Saudi Medicine พ.ศ.2549 ระบุว่า การบริโภคอาหารที่ได้ประโยชน์สูงสุดควรเป็นการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำและอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูง และกากใยอาหารเพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินเพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

รูปแบบของอาหารแบบแอตกินส์ เป็นอย่างไร

อาหารแบบแอตกินส์ มีรูปแบบการบริโภคอาหารแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

  • ระดับที่ 1 Induction

เริ่มต้นด้วยการตัดคาร์โบไฮเดรตออกจากมื้ออาหารทั้งหมด เหลือไว้เพียง 20 กรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยเน้นรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงและไขมันสูง ส่วนคาร์โบไฮเดรตควรเลือกรับประทานจากอาหารจำพวกผักใบเขียว

  • ระดับที่ 2 Balancing

ระยะนี้น้ำหนักจะเริ่มลดลง แต่ยังคงต้องจำกัดการรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ เน้นโปรตีนและไขมันอยู่เช่นเดิม แต่สามารถเพิ่มอาหารจำพวกถั่ว ธัญพืช และผลไม้ได้

  • ระยะที่ 3 Pre-maintenance

ในระยะนี้น้ำหนักจะลดลงมาอีก อาจเพิ่มปริมาณอาหารที่รับประทานอยู่ให้มากขึ้นได้ และอาจเพิ่มคาร์โบไฮเดรตได้อีก 10 กรัม 

  • ระยะที่ 4 Lifetime maintenance

เมื่อถึงระยะนี้น้ำหนักมักลดลงได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ อาจกลับมารับประทานคาร์โบไฮเดรตได้ตามปกติ หรืออาจเลือกรับประทานอาหารแอตกินส์ไปได้ตลอดตามที่ต้องการ

อาหารแอตกินส์ ควรรับประทานอะไรบ้าง

การรับประทานอาหารแบบแอตกินส์ จะมุ่งเน้นการรับประทานอาหารที่ให้โปรตีนและไขมัน โดยจะจำกัดคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งให้น้อยที่สุด ตัวอย่างอาหารแอตกินส์ มีดังนี้

  • เนื้อสัตว์ต่าง ๆ
  • ปลาทะเลและปลาที่มีไขมัน เช่น แซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาเทราต์
  • ไข่
  • ผักที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่น ผักเคล บร็อคโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง
  • ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต เนย ครีมต่าง ๆ
  • ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก อะโวคาโด น้ำมันอะโวคาโด
  • น้ำเปล่า ควรดื่มอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรให้ร่างกายกระหายหรือขาดน้ำ
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ได้แก่ กาแฟ ชาเขียว หรือชาต่าง ๆ

อาหารแอตกินส์ ควรหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง

รูปแบบ การรับประทานอาหารแบบแอตกินส์ ควรงดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้ปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่สูง ซึ่งขัดต่อวิถีการกินแบบแอตกินส์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • อาหารที่มีน้ำตาล เช่น เค้ก น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ลูกอม 
  • ข้าวธัญพืช เช่น วีท บาร์เลย์ ข้าวไรย์
  • น้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดฝ้าย น้ำมันคาโนลา
  • อาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น ครีมเทียม นมข้นหวาน ไก่ทอด ป๊อปคอร์น
  • ผักที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ผักตระกูลหัวอย่างแครอท มัน เผือก บีท หัวไชเท้า (เว้นเฉพาะระยะที่ 1)
  • ผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น กล้วย แอปเปิ้ล ส้ม องุ่น (เว้นเฉพาะระยะที่ 1)
  • อาหารจำพวกแป้ง (เว้นเฉพาะระยะที่ 1)
  • ธัญพืชตระกูลถั่ว (เว้นเฉพาะระยะที่ 1)

ข้อควรระวังในการรับประทานอาหารแบบแอตกินส์

การรับประทานอาหารแบบแอตกินส์ มีจุดประสงค์หลักเพื่อการลดน้ำหนัก ซึ่งแน่นอนว่าหากปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มักเห็นผลได้จริง อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังเกี่ยวกับการกินอาหารแบบแอตกินส์ นั่นคือ ร่างกายอาจได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะสารอาหารจำพวกไฟเบอร์ เนื่องจากไฟเบอร์มักพบได้ในอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรต เมื่อจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรต อาจทำให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์น้อยลงหรือไม่เพียงพอ จนนำไปสู่อาการท้องผูก หรืออาหารไม่ย่อย ทั้งยังอาจก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หรือคลื่นไส้ได้อีกด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Low Carb Diets.https://www.atkins.com/low-carb-diet. Accessed on September 26, 2022.

Atkins Diet: What’s behind the claims?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/weight-loss/in-depth/atkins-diet/art-20048485. Accessed on September 26, 2022.

Atkins diet: What is it, and should I try it?. https://www.medicalnewstoday.com/articles/7379. Accessed on September 26, 2022.

Atkins Diet: The Ultimate Guide. https://www.everydayhealth.com/diet-nutrition/atkins-diet.aspx. Accessed on September 29, 2022.

The Atkin’s diet controversy. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6074441/. Accessed on September 29, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/04/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

low carb คืออะไร ช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ

พาเลโอไดเอท หรือ Paleo diet ประโยชน์ และข้อควรรู้ก่อนบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา