backup og meta

ประโยชน์ของน้ำมันอะโวคาโด ต่อสุขภาพ ที่คุณควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 02/10/2020

    ประโยชน์ของน้ำมันอะโวคาโด ต่อสุขภาพ ที่คุณควรรู้

    อะโวคาโด (Avocado) จัดเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งวิตามินอี ไขมันดี สำหรับคนที่รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเป็นประจำ อาจจะคุ้นชิ้นกับเจ้าผลไม้เนื้อสีเขียวนวลนี้เป็นอย่างดี เพราะอะโวคาโดมักถูกนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อสุขภาพหลากหลายชนิด แต่สำหรับ น้ำมันอะโวคาโด อาจจะยังไม่คุ้นหูนัก เพราะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่รับรองว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพแน่นอน ใครที่อยากรู้ว่า ประโยชน์ของน้ำมันอะโวคาโด ต่อสุขภาพ มีอะไรบ้าง ตาม Hello คุณหมอ ไปอ่านกันเลยค่ะ

    คุณค่าทางโภชนาการใน น้ำมันอะโวคาโด

    กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ได้ให้ข้อมูลทางโภชนาการของน้ำมันอะโวคาโด 1 ช้อนโต๊ะ ดังนี้

    • พลังงาน 124 กิโลแคลอรี่
    • ไขมัน 14 กรัม
    • โซเดียม 1 มิลลิกรัม
    • คาร์โบไฮเดรต 0 กรัม
    • ไฟเบอร์ 0 กรัม
    • น้ำตาล 0 กรัม
    • โปรตีน 0 กรัม

    ไขมันในน้ำมันอะโวคาโด

    ในน้ำมันอะโวคาโดมีไขมันอยู่ 3 ประเภท คือ

    ไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไขมันอิ่มตัวเป็นไขมันอาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้ สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) จึงแนะนำว่าควรเลือกใช้น้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 4 กรัมต่อช้อนโต๊ะ ซึ่งน้ำมันอะโวคาโดมีไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 2 กรัมต่อหนึ่งช้อนโต๊ะ

    ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน น้ำมันอะโวคาโดหนึ่งช้อนโต๊ะจะให้ไขมันอิ่มตัวเชิงซ้อน 2 กรัม ไขมันอิ่มตัวเชิงซ้อนเป็นไขมันที่ดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด จึงถือว่าเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ

    ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ส่วนใหญ่แล้วไขมันอิ่มตัวเชิงเดี่ยวมีแหล่งที่มา มาจากพืชเป้นส่วนใหญ่ น้ำมันอะโวคาโดจึงมีไขมันประเภทนี้มาก ไขมันอิ่มตัวเชิงเดียวนั้นมีส่วนช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอล HDL ในร่างกายได้ ซึ่งถือว่าเป็นไขมันดี

    ประโยชน์ของน้ำมันอะโวคาโด ต่อสุขภาพ

    อะโวคาโดเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยไขมันที่ดีต่อร่างกาย แม้ว่าน้ำมันอะโวคาโดจะยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าน้ำมันมะกอก แต่ก็อร่อยและดีต่อสุขภาพไม่แพ้กันเลย น้ำมันอะโวคาโดเป็นน้ำมันที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและมีไขมันที่ดีต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อสุขภอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนี้

    อุดมไปด้วยกรดโอเลอิก (Oleic Acid) ซึ่งเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ

    น้ำมันอะโวคาโดเป็นน้ำมันที่สกัดมากจากเนื้อของอะโวคาโด เกือบ 70% ของน้ำมันอะโวคาโดนั้นประกอบไปด้วยกรดโอเลอิก ซึ่งมีผลดีต่อระบบหัวใจ แถมยังมีส่วนช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้อีกด้วย

    มีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอล

    จากการศึกษาเชิงเปรียบเทียบในกระต่ายที่ได้รับน้ำมันอะโวคาโด น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก และน้ำมันข้าวโพด พบว่ากระต่ายที่ได้รับน้ำมันอะโวคาโดมีระดับคอเลสเตอรอลที่ดี นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำมันมะกอกและน้ำมันอะโวคาโดยังช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอล HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ดีอีกด้วย

    มากไปกว่านั้น จากการทดลองในหนูที่ได้รับน้ำมันอะโวคาโดพบว่าอาจมีส่วนช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี แถมยังช่วยลดความดันโลหิตอีกด้วย

    มีลูทีน (Lutein) สูง

    น้ำมันอะโวคาโดอุดมไปด้วยลูทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพดวงตา การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยลูทีนในปริมาณมาก อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งเป็นโรคโรคตาที่เกิดขึ้นจากอายุที่มากขึ้น

    ลดอาการของโรคข้ออักเสบ

    โรคข้ออักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังบริเวณข้อต่อ จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากอะโวคาโดและถั่วเหลือง มีส่วนช่วยลดความปวดและความตึงที่เกิดจากโรคข้ออักเสบ

    ช่วยป้องกันโรคเหงือก

    สารสกัดจากน้ำมันอะโวคาโดนอกจากจะช่วยลดการตึงตัวและอาการปวดของโรคข้ออักเสบแล้ว ยังมีส่วนช่วยป้องกันโรคที่มีการอักเสบ รวมถึง โรคเหงือก เช่น เลือดออกตามไรฟัน กลิ่นปาก เหงือกร่น

    บำรุงเล็บ

    น้ำมันอะโวคาโด สามารถใช้เพื่อรักษาเล็บที่แห้งและเปราะบางได้ แต่ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงเล็กน้อย เพื่อยืนยันถึงประโยชน์นี้ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันธรรมชาติในการบำรุงเล็บและผิวหนังโดยรอบให้นุ่ม อาจมีส่วนช่วยลดการแตกหักของเล็บได้

    กล่าวได้ว่า น้ำมันอะโวคาโดถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของ น้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ ส่วนผลข้างเคียงของการใช้น้ำมันอะโวคาโดนั้นเป็นกรณีที่พบได้ยาก แต่สำหรับผู้พบว่าตนเองมีอาการแพ้อะโวคาโด ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันอะโวคาโด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 02/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา