กินข้าววันละมื้อ อาจเป็นวิธีที่ช่วยลดน้ำหนักได้ แต่อาจไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะร่างกายอาจได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และยังเสี่ยงต่อเกิดภาวะทุพโภชนาการที่อาจกลายไปเป็นโรคขาดสารอาหารได้
[embed-health-tool-bmi]
กินข้าววันละมื้อ ปลอดภัยหรือไม่
การกินข้าววันละมื้อเป็นวิธีการอดอาหารรูปแบบหนึ่งที่หลายคนมักใช้วิธีนี้เพื่อลดหรือควบคุมน้ำหนัก ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจาทำให้ร่างกายได้รับโภชนาการที่ไม่ดีและอาจไม่ปลอดภัยต่ออสุขภาพในระยะยาว นอกจากนี้ ยังอาจทำให้น้ำหนักไม่ลดลง และอาจเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เช่น
- น้ำหนักลดลงมากอย่างรวดเร็ว และน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์
- มีนิสัยการกินอาหารที่ไม่ปกติ
- รู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้า และอ่อนแรงตลอดเวลา
- ผิวแห้ง ไม่ยืดหยุ่น ผมเปราะบางและหลุดร่วง
- ป่วยง่าย และใช้เวลานานในการพักฟื้น
- อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตต่ำ
กินข้าววันละมื้อ ช่วยลดน้ำหนักได้หรือไม่
ตามกระบวนการของร่างกาย เมื่อกินคาร์โบไฮเดรตร่างกายจะย่อยแป้งให้กลายเป็นน้ำตาล จากนั้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจะผลิตอินซูลินออกมามากขึ้นเพื่อนำน้ำตาลส่วนเกินไปยังเซลล์สำหรับใช้เป็นพลังงาน แต่การกินข้าวเพียงแค่มื้อเดียวต่อวัน จะทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินน้อยลง เพราะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่งผลให้ร่างกายจำเป็นต้องดึงเอาไขมันส่วนเกินที่เก็บไว้ตามส่วนต่าง ๆ ออกมาใช้เป็นพลังงาน จึงอาจช่วยให้น้ำหนักลดลงได้
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจช่วยลดน้ำหนักได้แต่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพในระยะยาว และยังอาจทำให้ล้มเลิกกลางคันเนื่องจากความหิวที่มากเกินไป จนอาจกลับมากินอาหารมากขึ้นและกลับมาอ้วนมากกว่าเดิม
นอกจากนี้ บางคนที่กินข้าวมื้อเดียว แต่ใน 1 มื้อเต็มไปด้วยอาหารที่มีน้ำตาล ไขมันไม่ดี ไขมันทรานส์ โซเดียมสูง และกินในปริมาณมาก ก็สามารถทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
ดังนั้น การลดและควบคุมน้ำหนักที่ยั่งยืนและดีต่อสุขภาพในระยะยาว อาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการอดอาหาร แต่หันมากินอาหารให้ครบ 3 มื้อ ที่อุดมไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ไขมันดี ผักและผลไม้ ในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกายอยู่เสมอ ก็อาจช่วยให้สุขภาพดีไม่อ้วนได้
ข้อควรระวังในการกินข้าววันละมื้อ
การกินข้าววันละมื้ออาจมีผลข้างเคียงและส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ดังนี้
- อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ อารมณ์แปรปรวน อ่อนแรง ท้องผูก
- ทำให้หิวมากขึ้น เมื่อกินอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) มากขึ้น ซึ่งจะทำให้รู้สึกหิวมากขึ้นตามไปด้วย
- ภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจนอาจทำให้เป็นโรคขาดสารอาหารได้
- ล้มเลิกกลางคัน สำหรับผู้ที่ต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนักด้วยการกินข้าววันละมื้อ อาจทำให้รู้สึกหิวมากเกินไปจนล้มเลิกการลดน้ำหนักกลางคันได้ และยังอาจทำให้กลับมากินอาหารมากกว่าเดิมจนอ้วนขึ้น หรือเรียกภาวะนี้ว่า โยโย่เอฟเฟกต์ (Yo Yo Effect)
- อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ การกินข้าววันละมื้ออาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง และเสี่ยงทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่งผลให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด อาการสั่น ตัวเย็น ตัวซีด และหมดสติ