backup og meta

กรีนคอฟฟี่บีน หรือ เมล็ดกาแฟดิบ มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร

กรีนคอฟฟี่บีน หรือ เมล็ดกาแฟดิบ มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร

กรีนคอฟฟี่บีน เป็นเมล็ดกาแฟสีเขียว หรือ เมล็ดกาแฟดิบ ที่ยังไม่ผ่านการคั่ว ซึ่งสารอาหารในเมล็ดกาแฟดิบอาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก นอกจากนั้น สารสกัดจากเมล็ดกาแฟดิบนั้นอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยปรับปรุงความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอล มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าสารอาหารของกรีนคอฟฟี่บีน 

กรีนคอฟฟี่บีน (Green coffee bean) เป็นเมล็ดกาแฟสีเขียวที่ยังไม่ผ่านการคั่ว เมล็ดกาแฟที่ผ่านการคั่วแล้วจะมีสีน้ำตาล โดยกรีนคอฟฟี่บีนประมาณ 1 ช้อนโต๊ะหรือ 17 กรัมมีสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม
  • ไฟเบอร์ 3 กรัม
  • ไขมัน 0 กรัม
  • แคลเซียม 50 มิลลิกรัม
  • โปแทสเซียม 71 มิลลิกรัม
  • คาเฟอีน 20 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ กรีนคอฟฟี่บีนมีสารอาหารและสารประกอบหลายชนิดที่ให้ผลดีต่อสุขภาพ ได้แก่ กรดคลอโรเจนิก (Chlorogenic Acid) สารต้านอนุมูลอิสระ

ประโยชน์ของ กรีนคอฟฟี่บีน ต่อสุขภาพ

กรีนคอฟฟี่บีนมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ดังนี้

อาจช่วยลดน้ำหนัก

เนื่องจากเมล็ดกาแฟดิบไม่มีไขมัน และยังมีสารประกอบที่ช่วยในการกระตุ้นการเผาผลาญไขมันในร่างกาย การบริโภคเมล็ดกาแฟดิบจึงอาจมีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนัก

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของสารสกัดจากเมล็ดกาแฟดิบในรูปแบบอาหารเสริมต่อการลดน้ำหนัก เผยแพร่ในวารสาร Gastroenterology Research and Practice พ.ศ.2554 ได้ใช้ข้อมูลจากการทดลองในมนุษย์จำนวนหลายชิ้น พบว่า การบริโภคสารสกัดจากเมล็ดกาแฟดิบอาจมีประโยชน์ต่อการลดน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม การทดลองต่าง ๆ ในงานวิจัยเป็นการทดลองขนาดเล็ก ควรมีการทดลองเพิ่มเติมในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่ขึ้นและนานขึ้น เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการบริโภคสารสกัดจากเมล็ดกาแฟดิบเพื่อการลดน้ำหนัก

อาจช่วยบรรเทาอาการโรคเบาหวาน

กรดคลอโรเจนิกเป็นโพลีฟีนอล (Polyphenols) ชนิดหนึ่ง ที่พบอยู่ในเมล็ดกาแฟดิบและมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยต่อสู้กับอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์ แต่ยังมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย การบริโภคเมล็ดกาแฟดิบจึงอาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน

อาจช่วยลดความดันโลหิตสูง

กรีนคอฟฟี่บีนอุดมไปด้วยกรดคลอโรเจนิกซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยลดความดันเลือดทั้ง การบริโภคกรีนคอฟฟี่บีนจึงอาจมีส่วนช่วยในการลดความดันโลหิตได้ อย่างไรก็ตาม กรีนคอฟฟี่บีนอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงทุกคน ควรบริโภคด้วยความระมัดระวัง เพราะยังคงมีปริมาณคาเฟอีนเช่นเดียวกับกาแฟคั่วแต่ในปริมาณที่น้อยกว่า

อาจช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์

กรีนคอฟฟี่บีนอาจมีส่วนช่วย ในการป้องกันหรือลดอาการทางความคิดและระบบประสาทบางอย่างของโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) ได้ เพราะกรดคลอโรเจนิก ที่มีอยู่ในเมล็ดกาแฟดิบมีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทที่อ่อนแอ ช่วยบำรุงสมองและอาจมีส่วนช่วยในการปรับปรุงอารมณ์ให้ดีขึ้น

มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ

กรีนคอฟฟี่บีนสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ ป้องกันอาการอักเสบเรื้อรังที่อาจทำลายเซลล์และเป็นตัวการสำคัญในภาวะทางสุขภาพหลายได้ เช่น มะเร็ง โรคข้ออักเสบ(Arthritis) เบาหวานและโรคแพ้ภูมิตัวเอง การบริโภคกรีนคอฟฟี่บีนจึงอาจช่วยป้องกันการอักเสบในร่างกายได้

ข้อควรระวังในการบริโภคเมล็ดกาแฟดิบ

เนื่องจากปัจจุบันยังมีการวิจัยเรื่องกรีนคอฟฟี่บีนอย่างจำกัด ทำให้ยังไม่ทราบผลระยะยาวของการใช้สารสกัดจากกรีนคอฟฟี่บีน แต่จากการวิจัยที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากกรีนคอฟฟี่บีนนั้นมีความปลอดภัยที่ดี ซึ่งผลกระทบที่พบได้ในผู้ที่บริโภคในปริมาณมาก ได้แก่ เกิดความวิตกกังวล ความกระวนกระวายใจและหัวใจเต้นเร็ว

นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์จากกาแฟดิบนั้นมีปริมาณคาเฟอีนในปริมาณที่แตกต่างกัน ผู้ที่ต้องการซื้อควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างถี่ถ้วนก่อนนำมาบริโภค

ที่สำคัญ นักวิจัยยังไม่ทราบปริมาณการบริโภคกรีนคอฟฟี่บีนที่ปลอดภัยสำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เด็กหรือผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคไต ดังนั้น บุคคลในกลุ่มเหล่านี้จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์จากเมล็ดกาแฟดิบ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Source

Health Benefits of Green Coffee

https://www.verywellfit.com/can-green-coffee-promote-weight-loss-90051. Accessed September 27, 2022.

Green Coffee – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1264/green-coffee. Accessed September 27, 2022.

The effects of green coffee extract supplementation on glycemic indices and lipid profile in adults: a systematic review and dose-response meta-analysis of clinical trials. https://nutritionj.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12937-020-00587-z. Accessed September 27, 2022.

The Use of Green Coffee Extract as a Weight Loss Supplement: A Systematic Review and Meta-Analysis of Randomised Clinical Trials

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2943088/. Accessed September 27, 2022.

The effects of green coffee extract supplementation on glycemic indices and lipid profile in adults: a systematic review and dose-response meta-analysis of clinical trials. https://nutritionj.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12937-020-00587-z. Accessed September 27, 2022.

How does green coffee bean extract work?

https://www.medicalnewstoday.com/articles/318611. Accessed September 27, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/09/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ดื่มกาแฟ ช่วยเพิ่มความจำ ชะลอสมองเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น

กากกาแฟ กับประโยชน์ที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา