backup og meta

กล้วยหอม ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

กล้วยหอม ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

กล้วยหอม เป็นกล้วยชนิดหนึ่ง มีผลขนาดใหญ่ เปลือกค่อนข้างหนาเมื่อเทียบกับกล้วยชนิดอื่น ๆ นิยมรับประทานกล้วยหอมสดและใช้ทำขนมหรือของหวาน เช่น เค้กกล้วยหอม ไอศกรีมรสกล้วย กล้วยหอมอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ สารพฤกษเคมี และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยอาจช่วยควบคุมความดันโลหิต อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น

[embed-health-tool-bmr]

คุณค่าทางโภชนาการของกล้วยหอม

กล้วยหอมสด 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 98 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 21.2 กรัม
  • โปรตีน 0.74 กรัม
  • ไขมัน 0.29 กรัม
  • โพแทสเซียม 326 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 28 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 12.3 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 5 มิลลิกรัม
  • โฟเลต (Folate) 14 ไมโครกรัม

นอกจากนี้ กล้วยหอม ยังมีสารอาหารอื่น ๆ เช่น โซเดียม ซีลีเนียม (Selenium) ไอโอดีน รวมถึงวิตามิน อย่าง วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินดี วิตามินอี

ประโยชน์ของกล้วยหอมต่อสุขภาพ

กล้วยหอม มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณประโยชน์ของกล้วยหอม ดังนี้

  1. อาจช่วยควบคุมความดันโลหิต

กล้วยหอมอุดมไปด้วยโพแทสเซียมซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยในการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ และช่วยควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับความดันโลหิต เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

งานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับความสำคัญของโพแทสเซียมในการบรรเทาภาวะความดันโลหิตสูง ตีพิมพ์ในวารสาร Current Hypertension Reports ปี พ.ศ. 2554 ได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยชิ้นอื่น ๆ พบว่า การบริโภคโพแทสเซียมได้รับการพิสูจน์แล้วว่าอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติ

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังระบุเพิ่มเติมว่า การบริโภคโพแทสเซียม 4.7 กรัมต่อวัน อาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular Accident) ได้ราว 8-15 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดความเสี่ยงเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตาย ได้ราว 6-11 เปอร์เซ็นต์

  1. อาจช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร

กล้วยหอม อุดมไปด้วยสารอาหารกลุ่มไฟเบอร์ เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายไฟเบอร์จะถูกหมักกับแบคทีเรียในลำไส้ เพื่อสร้างบิวเทรต (Butyrate) หรือกรดไขมันสายสั้นที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพและการทำงานของลำไส้ การบริโภคกล้วยหอมจึงอาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย

ผลการศึกษาหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของบิวเทรตที่มีต่อการทำงานของระบบย่อยอาหารที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Opinion in Clinical Nutrition and Metabolic Care ปี พ.ศ. 2555 โดยนักวิจัยทำการศึกษาและวิเคราะห์งานวิจัยจำนวนหลายชิ้นที่ได้รับการตีพิมพ์ในช่วงระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา สรุปได้ว่า บิวเทรตอาจมีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลของลำไส้

นอกจากนั้น ยังพบว่า บิวเทรตมีคุณสมบัติเด่นอีกข้อหนึ่ง คือ มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ฮิสโทนดีแอเซทิลเลส (Histone Deacetylases) จึงอาจช่วยลดแนวโน้มการเป็นมะเร็ง ลดภาวะเครียดออกซิเดชั่น และควบคุมอาการท้องร่วงได้

  1. อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก

กล้วยหอมมีไฟเบอร์หรือกากใยสูง เมื่อรับประทานอาหารชนิดอื่น ๆ เข้าไปกากใยจะดูดซึมน้ำเอาไว้ ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มเร็วและอิ่มนานขึ้น รับประทานอาหารได้น้อยลง จึงอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งของผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือลดความอ้วน

ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคไฟเบอร์และน้ำหนักที่ลดลงซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Nutrition ปี พ.ศ. 2562 ได้ทำการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 345 ราย โดยนักวิจัยให้รับประทานไฟเบอร์ ร่วมกับอาหารที่มีสัดส่วนของสารอาหารต่าง ๆ แตกต่างกัน เป็นเวลา 6 เดือน พบว่า การบริโภคไฟเบอร์ อาจมีส่วนช่วยลดน้ำหนัก โดยไม่เกี่ยวข้องกับสารอาหารหลักที่รับประทาน หรือพลังงานที่ได้รับในแต่ละมื้ออาหาร

  1. อาจช่วยลดความเครียด

การรับประทานกล้วยหอมส่งผลต่อระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) และสารโดพามีน (Dopamine) ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ ทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) การบริโภคกล้วยหอม จึงอาจช่วยบรรเทาความเครียดได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเนื้อกล้วยและเปลือกกล้วยกับการช่วยระงับความวิตกกังวลและต้านเศร้าและช่วยกระตุ้นความทรงจำในหนูทดลอง ตีพิมพ์ในวารสาร Pakistan Journal of Pharmaceutical Sciences พ.ศ. 2560 ระบุว่า สารพฤกษเคมีที่อยู่ในเนื้อกล้วยและเปลือกกล้วยมีคุณสมบัติในการต่อต้านความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า รวมทั้งอาจช่วยฟื้นฟูความทรงจำได้

ข้อควรระวังในการบริโภคกล้วยหอม

กล้วยหอมมีข้อควรระวังในการบริโภค ดังนี้

  • ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องไม่ควรรับประทานกล้วยหอม
  • กล้วยหอม อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานบางราย เนื่องจากมีแป้งและน้ำตาลสูง ทำให้เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดอาจสูงขึ้นได้
  • การรับประทานกล้วยหอมในปริมาณมาก อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องอืดหรือท้องเสียได้ เนื่องจากกล้วยหอมมีไฟเบอร์สูง
  • หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคกล้วยหอมได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมาก และควรบริโภคผักและผลไม้ให้หลากหลายเพื่อบำรุงร่างกายและได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bananas, ripe and slightly ripe, raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/1105314/nutrients. Accessed September 27, 2022.

The importance of potassium in managing hypertension. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21403995. Accessed September 27, 2022.

Butyrate: implications for intestinal function. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22797568/. Accessed September 27, 2022.

Effect of magnesium and vitamin B6 supplementation on mental health and quality of life in stressed healthy adults: Post-hoc analysis of a randomised controlled trial. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33864354/. Accessed September 27, 2022.

Fiber Intake Predicts Weight Loss and Dietary Adherence in Adults Consuming Calorie-Restricted Diets: The POUNDS Lost (Preventing Overweight Using Novel Dietary Strategies) Study. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6768815/. Accessed September 27, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/11/2024

เขียนโดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคขาดสารอาหาร สาเหตุ อาการ และการรักษา

กระเจี๊ยบเขียว สารอาหาร และข้อควรระวังในการบริโภค


เขียนโดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา