กินสับปะรด มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ เพราะสับปะรดนับเป็นผลไม้แคลอรี่ต่ำและอุดมไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามินซี โฟเลต ไฟเบอร์ โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรองว่าการกินสับประรดนั้นดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง อาจช่วยย่อยอาหาร และสามารถเลือกบริโภคได้ในหลายรูปแบบ ทั้งแบบสด แบบกระป๋อง หรือน้ำสับปะรด
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าทางโภชนาการของสับปะรด
สับปะรดสดที่หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ 1 ถ้วย หรือประมาณ 165 กรัม ให้พลังงาน 82.5 แคลอรี่ โดยมีสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- วิตามินซี 131% ของปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- แมงกานีส 76% ของปริมาณแมงกานีสที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- วิตามินบี 6 9% ของปริมาณวิตามินบี 6 ที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- คอปเปอร์ 9% ของปริมาณคอปเปอร์ที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- ไทแอมิน (Thiamine) หรือวิตามินบี1 9% ของปริมาณไทแอมีนที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- โฟเลต 7% ของปริมาณโฟเลตที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- โพแทสเซียม 5% ของปริมาณโพแทสเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- แมกนีเซียม 5% ของปริมาณแมกนีเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- ไนอะซิน (Niacin) หรือวิตามินบี3 4% ของปริมาณไนอะซินที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- กรดแพนโทเทนิก (Pantothenic acid) หรือวิตามินบี5 4% ของปริมาณกรดแพนโทเทนิกที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- ไรโบเฟลวิน (Riboflavin) หรือวิตามินบี2 3% ของปริมาณไรโบเฟลวินที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- ธาตุเหล็ก 3% ของปริมาณธาตุเหล็กที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- ไขมัน 1.7 กรัม
- โปรตีน 1 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 21.6 กรัม
- ไฟเบอร์ 2.3 กรัม
อย่างไรก็ตาม สับปะรดแบบกระป๋องจะแตกต่างจากสับปะรดสด โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Agriculture หรือ USDA) ได้ให้ข้อมูลว่า สับปะรดกระป๋อง ที่เป็นสับปะรดในน้ำเชื่อมจะให้พลังงาน 131 แคลอรี่ต่อ 1 ถ้วย และมีน้ำตาล 31.88 กรัม นอกจากนี้ ยังมีวิตามินและเกลือแร่น้อย ดังนั้น หากต้องการบริโภคสับปะรดกระป๋องให้ระวังปริมาณน้ำตาล และเลือกสับปะรดกระป๋องแบบที่เป็นเนื้อสับปะรดในน้ำผลไม้ แทนแบบแช่ในน้ำเชื่อม
กินสับปะรด แล้วได้ประโยชน์อย่างไร
การกินสับปะรดให้ประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง
สับปะรดไม่เพียงแต่อุดมไปด้วยสารอาหาร แต่ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และกรดฟีนอลิก (Phenolic Acids) ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับภาวะความไม่สมดุลของการเกิดอนุมูลอิสระ (Oxidative Stress) ซึ่งเป็นภาวะที่มีอนุมูลอิสระมากเกินไปในร่างกาย และอนุมูลอิสระเหล่านี้จะทำปฏิกิริยากับเซลล์ ส่งผลให้เกิดความเสียหายที่อาจนำไปสู่ การอักเสบเรื้อรัง ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การบริโภคสับปะรดจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งบางชนิด
2. อาจช่วยในการย่อยอาหาร
สับปะรดมีกลุ่มของเอนไซม์ย่อยอาหารที่มีชื่อว่าโบรมิเลน (Bromelain) ซึ่งทำหน้าที่เป็นโปรตีเอส (Proteases) หรือเอนไซม์ย่อยโมเลกุลโปรตีน เช่น กรดอะมิโนและเปปไทด์ขนาดเล็ก โดยเมื่อโปรตีนได้รับการย่อยแล้ว จะทำให้ง่ายต่อการดูดซึมในลำไส้เล็ก
โบรมิเลนในสับปะรด มีประโยชน์ต่อร่างกายโดยเฉพาะกับผู้ที่ตับอ่อนทำงานบกพร่อง ซึ่งเป็นภาวะที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตเอนไซม์ย่อยอาหารได้อย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ ยังอาจนำสับปะรดไปหมักเนื้อ เพื่อให้เนื้อมีความนุ่มก่อนนำมาปรุงอาหาร เนื่องจากโบมิเลนในสับปะรดสามารถย่อยโปรตีนในเนื้อได้ทำให้เนื้อนุ่มขึ้น
3. อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
สับปะรดและสารประกอบในสับปะรดอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยลดภาวะความไม่สมดุลของการเกิดอนุมูลอิสระ และช่วยลดการอักเสบ นอกจากนี้ โบมิเลนในสับปะรดอาจช่วยต่อสู้กับมะเร็ง และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม
4. อาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และลดการอักเสบ
สับปะรดอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย รวมถึงเอนไซม์อย่างโบมิเลนที่อาจช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายและลดการอักเสบ
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์และประสิทธิภาพของโบมิเลนในสับปะรดที่มีต่อเด็กในประเทศเยอรมนีที่ป่วยเป็นไซนัสเฉียบพลัน เผยแพร่ในวารสาร IN VIVO พ.ศ. 2548 ได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็ก ๆ ที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน 116 ราย พบว่า ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อบริโภคอาหารเสริมโบรมิเลน ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สับปะรดจึงอาจมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและอาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และบรรเทาอาการไซนัส
5. อาจช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบ
โบมิเลนมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ จึงอาจช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบในระยะสั้นสำหรับผู้ที่มีอาการของโรคข้ออักเสบ ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพพอ ๆ กับยารักษาโรคข้ออักเสบอย่างไดโครฟีแนก (Diclofenac) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรักษาอาการของโรคข้ออักเสบด้วยโบรมิเลนในระยะยาว
6.อาจช่วยทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้นหลังการผ่าตัด หรือหลังออกกำลังกายอย่างหนัก
โบรมิเลนในสับปะรดอาจช่วยลดการอักเสบ อาการบวมช้ำ และความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นหลังจากผ่าตัด รวมทั้งอาจช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังจากออกกำลังกายอย่างหนัก ด้วยการลดการอักเสบ
ข้อควรระวังในการ กินสับปะรด
แม้ว่าสับปะรดจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่ควรบริโภคด้วยความระมัดระวัง ดังนี้
- อาการแพ้สับปะรด หากกินสับปะรดแล้วมีอาการผื่นขึ้น ลมพิษ หรือหายใจลำบาก ควรหาคุณหมอทันที
- ควรบริโภคแต่พอดี เนื่องจากสับปะรดมีวิตามินซีสูง การกินสับปะรดมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ปวดท้อง หรืออาการกรดไหลย้อน
- การได้รับโบรมิเลนมากเกินไป อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการผื่นขึ้น อาเจียน ท้องเสีย และมีเลือดประจำเดือนมากผิดปกติ
- การกินสับปะรดดิบ หรือการดื่มน้ำสับปะรดดิบ ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาเจียน
- โบรมิเลนในสับปะรดอาจมีปฏิกิริยากับยาบางประเภท ในผู้ที่รับประทานยาบางชนิดควรบริโภคสับปะรดด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานยาเหล่านี้ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) ยาเจือจางเลือด (Blood thinners) ยากันชัก (Anticonvulsants) ยาบาร์บิทูเรต (Barbiturates) ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ยารักษาโรคนอนไม่หลับ และยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants-TCA)