ขัณฑสกร (Saccharin) เป็นสารให้ความหวานชนิดหนึ่งที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 300-700 เท่า มักถูกนำมาใช้ในการปรุงแต่งรสชาติอาหารหลายชนิด เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม ลูกอม แยม เยลลี่ คุกกี้ โดยผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคอ้วน รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถบริโภคน้ำตาลได้ มักใช้ขัณฑสกรเพื่อทดแทนความหวานจากน้ำตาล เพราะมีรสชาติหวานติดลิ้น อย่างไรก็ตาม การรับประทานขันฑสกรมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้
[embed-health-tool-bmi]
ขัณฑสกร คืออะไร
ขัณฑสกร คือ สารให้ความหวานสังเคราะห์ที่มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ละลายน้ำได้ดี ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 300-700 เท่า มักถูกนำมาใช้ในการปรุงแต่งรสชาติและใช้เป็นสารให้ความหวานในอาหารหลายชนิด เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม ลูกอม แยม เยลลี่ คุกกี้ โดยปริมาณที่แนะนำในการรับประทานขันฑสกร คือ ประมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือไม่ควรเกิน 80-100 มิลลิกรัม/ลิตร/วัน เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพ
ประโยชน์ของขัณฑสกร
ขัณฑสกรเป็นสารให้ความหวานที่อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุน ดังนี้
-
อาจช่วยลดน้ำหนัก
ขัณฑสกรเป็นสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการและแคลอรี่ต่ำ จึงอาจใช้ทดแทนความหวานของน้ำตาลได้ และอาจส่งผลดีต่อผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Nutrition เมื่อเดือน พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับสารให้ความหวานเทียมที่ส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนัก พบว่า ขัณฑสกรมีความสามารถในการละลายน้ำได้ดี และไม่ถูกเผาผลาญเพื่อใช้เป็นพลังงาน ทั้งยังมีความปลอดภัยในการบริโภค โดยร่างกายจะดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ เข้าสู่กระแสเลือดเพื่อใช้เป็นพลังงาน สำหรับขัณฑสกรบางส่วนจะยังคงอยู่ในลำไส้ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของจุลินทรีย์ในลำไส้ และขัณฑสกรส่วนที่เหลือประมาณ 5-10% จะถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ จะเห็นได้ว่า ขัณฑสกรไม่ถูกดูดซึมเพื่อใช้เป็นพลังงาน จึงอาจใช้รับประทานเพื่อทดแทนความหวานจากน้ำตาลและอาจช่วยลดน้ำหนักได้
-
อาจดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล ซึ่งการทดแทนความหวานด้วยน้ำตาลเทียม เช่น ขัณฑสกร อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และยังอาจช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานอาหารรสหวานได้
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Microbiome เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคสารขัณฑสกรและการเกิดโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี พบว่า ขัณฑสกรเป็นสารให้ความหวานเทียมที่ไม่มีแคลอรี่และมักถูกใช้ปรุงแต่งรสชาติในอาหารแทนน้ำตาล ซึ่งการรับประทานขัณฑสกรเพิ่มขึ้นไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น จึงอาจดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน และอาจไม่ทำให้เกิดโรคเบาหวานในผู้ที่มีสุขภาพดี
-
อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ
น้ำตาลเป็นหนึ่งปัญหาที่ก่อให้เกิดฟันผุได้ เนื่องจากน้ำตาลจากการรับประทานอาหารอาจสะสมอยู่ในช่องปาก อาจเป็นแหล่งอาหารของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของคราบพลัค (Plaque) ที่ทำลายเคลือบฟันและทำให้เกิดปัญหาฟันผุ ในทางกลับกัน การเปลี่ยนมารับประทานขัณฑสกรแทน อาจทำให้ไม่มีน้ำตาลสะสมในช่องปาก จึงอาจช่วยปกป้องสุขภาพฟันได้
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ใน Open Access Macedonian Journal of Medical Sciences เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับสารทดแทนน้ำตาล พบว่า สารทดแทนน้ำตาลอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฟันผุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ในหมากฝรั่งที่ปราศจากน้ำตาล เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการป้องกันกระบวนการที่ก่อให้เกิดฟันผุเพื่อรักษาสุขภาพฟัน และอาจแนะนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาเชิงป้องกันสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคฟันผุ
-
อาจช่วยลดความเสี่ยงอันตรายที่เกิดจากการรับประทานน้ำตาล
การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เพิ่มการอักเสบเรื้อรังของเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกาย เพิ่มการสะสมของไขมันและคอเลสเตอรอลที่อาจส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไขมันพอกตับ ภาวะหัวใจวาย โรคหัวใจและหลอดเลือด
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ใน Nutrients เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง พบว่า การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และภาวะตับคั่งไขมันที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic Fatty Liver Disease หรือ NAFLD) รวมถึงโรคมะเร็ง
ดังนั้น การเปลี่ยนมารับประทานขัณฑสกรซึ่งเป็นสารให้ความหวานและร่างกายไม่ดูดซึมเพื่อใช้เป็นพลังงานแทนการรับประทานน้ำตาล อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการน้ำตาลได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Nutrition เมื่อเดือน พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับสารให้ความหวานเทียมที่ส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนัก พบว่า ขัณฑสกรเป็นสารให้ความหวานที่มีความปลอดภัยในการบริโภค ละลายน้ำได้ดี ไม่ถูกเผาผลาญเพื่อใช้เป็นพลังงานและร่างกายสามารถขับออกเองได้ทางปัสสาวะ จึงเป็นผลดีที่จะใช้รับประทานแทนน้ำตาลเพื่อปรุงแต่งรสชาติและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพได้
ข้อควรระวังในการบริโภคขัณฑสกร
ขันฑสกรเป็นสารให้ความหวานสังเคราะห์ ซึ่งอาจนำมาใช้ในการปรุงแต่งรสชาติอาหารหลายชนิด เช่น น้ำอัดลมและน้ำผลไม้ ลูกอม คุกกี้ เค้ก ขนมบรรจุหีบห่อ เบเกอรี่ต่าง ๆ หมากฝรั่ง
ปัจจุบันขัณฑสกรยังไม่ได้รับการยืนยันถึงอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจมีข้อควรระวังบางประการสำหรับการรับประทานขัณฑสกรมากเกินไป ดังนี้
- การรับประทานขัณฑสกรในขณะตั้งครรภ์มากเกินไป อาจเสี่ยงที่จะทำให้สารสังเคราะห์ซึมผ่านรกเข้าไปทำอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ในระหว่างตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขัณฑสกรเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ เช่น ทารกเจริญเติบโตช้า คลอดก่อนกำหนด
- อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งผิวหนัง ยังไม่มีการยืนยันอย่างแน่ชัดว่า ขัณฑสกรเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ได้หรือไม่ แต่มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 ศึกษาเกี่ยวกับเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะจากการได้รับโซเดียมไซคลาเมต (Sodium Cyclamate) และขัณฑสกรในปริมาณสูง พบว่า มีเนื้องอกมะเร็งเกิดขึ้นเมื่อสัตว์ทดลองได้รับสารโซเดียมไซคลาเมตและขัณฑสกร ในปริมาณ 2,600 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 105 สัปดาห์ ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ และเป็นงานวิจัยที่ผ่านมานานแล้ว จึงควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันความเสี่ยงของสารก่อมะเร็งจากขัณฑสกร