backup og meta

ประโยชน์ของน้ำมันตับปลา และข้อควรระวังในการบริโภค

ประโยชน์ของน้ำมันตับปลา และข้อควรระวังในการบริโภค

น้ำมันตับปลา คือ น้ำมันที่สกัดมาจากตับของปลาทะเล โดยน้ำมันตับปลาอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินดีและกรดไขมันที่ร่างกายไม่สามารถผลิตได้ อย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งประกอบไปด้วย กรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (Docosahexaenoic Acid หรือ DHA) และกรดไอโคซาเพนตาอีโนอิก (Eicosapentaenoic Acid หรือ EPA) ที่อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคต้อหิน ช่วยบำรุงกระดูก ลดภาวะซึมเศร้า ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และอาจช่วยเสริมการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อควรระวังบางประการในการบริโภค อีกประเด็นที่สำคัญก็คือน้ำมันตับปลากับน้ำมันปลาทะเลไม่เหมือนกัน จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่ใช้ยาบางชนิด

[embed-health-tool-bmr]

ประโยชน์ของน้ำมันตับปลา

น้ำมันตับปลา มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของน้ำมันตับปลาในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อาจช่วยป้องกันโรคต้อหิน

น้ำมันตับอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 และวิตามินเอที่อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคต้อหินได้ เนื่องจาก วิตามินเอมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการอักเสบและส่งเสริมสุขภาพดวงตา ส่วนกรดไขมันโอเมก้า 3 อาจช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและการไหลเวียนเลือดในลูกตาได้

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน International Journal of Ophthalmology เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับอาหารเสริมน้ำมันตับปลาอาจช่วยป้องกันโรคต้อหิน พบว่า น้ำมันตับปลาอุดมไปด้วยสารประกอบอย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 และวิตามินเอ ที่อาจมีประโยชน์ในการป้องกันโรคต้อหินได้ เนื่องจากวิตามินเอเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพดวงตาและการมองเห็น ทั้งยังอาจช่วยรักษาความสมบูรณ์ของผิวตาและกระจกตา นอกจากนี้ กรดไขมันโอเมก้า 3 ยังช่วยลดความดันลูกตา เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในตา และปรับปรุงการทำงานของระบบประสาทแก้วนำแสง ดังนั้น การรับประทานน้ำมันตับปลาจึงอาจมีประโยชน์ในการป้องกันโรคต้อกระจก

  1. อาจช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก

น้ำมันตับปลาอุดมไปด้วยวิตามินดี ซึ่งอาจมีส่วนในการช่วยดูดซึมแคลเซียมที่มีประโยชน์ต่อการสร้างและบำรุงรักษากระดูก จึงอาจมีส่วนช่วยในการเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก และอาจชะลอการเสื่อมสลายของมวลกระดูกในวัยชรา

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน British Journal of Nutrition เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคน้ำมันตับปลาและความหนาแน่นของมวลกระดูกในวัยชรา โดยการทดสอบวัดค่าวิตามินดีในผู้สูงอายุ ที่อายุระหว่าง 66-96 ปี พบว่า ผู้ที่รับประทานน้ำมันตับปลาเป็นประจำทุกวันมีค่าความเข้มข้นของวิตามินดีในเลือดสูง และมีความหนาแน่นของมวลกระดูกสะโพกเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่รับประทานน้ำมันตับปลาเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ 1-6 ครั้ง/สัปดาห์

  1. อาจช่วยลดภาวะซึมเศร้า

การรับประทานน้ำมันตับปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 อาจมีส่วนช่วยในการยับยั้งสารชักนำการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจช่วยลดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้แต่ในผู้ที่มีสุขภาพดี

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Affective Disorders เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการใช้น้ำมันตับปลากับอาการซึมเศร้า โดยการสำรวจสุขภาพผู้ป่วย 21,835 คนที่มีอายุระหว่าง 40-49 ปี และ 70-74 ปี ที่มีอาการของภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล พบว่า มีผู้เข้าร่วมวิจัยประมาณ 8.9% ที่บริโภคน้ำมันตับปลาเป็นประจำ ผลปรากฏว่า กลุ่มนี้เกิดอาการซึมเศร้าน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้บริโภคน้ำมันตับปลา อีกทั้งยังพบว่า เกิดอาการซึมเศร้าในระดับรุนแรงลดลงตามระยะเวลาของการบริโภคน้ำมันตับปลาที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 0-12 เดือนขึ้นไป

  1. อาจช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

น้ำมันตับปลาอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นไขมันชนิดดี อาจมีส่วนช่วยลดการสะสมของไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอไรด์ และลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน The New England Journal of Medicine เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2529 ศึกษาเกี่ยวกับน้ำมันตับปลาในการยับยั้งความผิดปกติของหลอดเลือด พบว่า การบริโภคน้ำมันตับปลาอาจมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของน้ำมันตับปลาในการช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

  1. อาจช่วยป้องกันโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

น้ำมันตับปลาอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่อาจมีส่วนช่วยลดการอักเสบของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และอาจช่วยป้องกันความรุนแรงของอาการ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลดปริมาณการรับประทานยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Rheumatology Advances in Practice เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 ศึกษาเกี่ยวกับการใช้น้ำมันตับปลาเป็นยาลดการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Antiinflammatory Drugs หรือ NSAIDs) ในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ พบว่า การรับประทานอาหารเสริมอย่างน้ำมันตับปลา อาจช่วยลดปริมาณการบริโภคยา NSAIDs ได้มากกว่าร้อยละ 30 โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการกำเริบของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ข้อควรระวังในการบริโภคน้ำมันตับปลา

การรับประทานน้ำมันตับปลาอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ จึงควรพิจารณาข้อควรระวังต่อไปนี้ก่อนรับประทาน หากไม่แน่ใจ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานเสมอ

  • การรับประทานน้ำมันตับปลาอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อาการเรอ เลือดกำเดาไหล อาการเสียดท้อง
  • ไม่ควรรับประทานในขณะตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ เพราะน้ำมันตับปลามีปริมาณวิตามินเอสูง หากได้รับวิตามินเอมากเกินไปในขณะตั้งครรภ์ อาจเกิดภาวะแท้งบุตร ทารกพิการแต่กำเนิด และอาจเสี่ยงเกิดภาวะกระดูกพรุนได้
  • หากรับประทานน้ำมันตับปลาในขณะรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ซึ่งเป็นยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด อาจเสี่ยงทำให้เลือดออกมากจนเป็นอันตรายได้
  • ผู้ที่มีการทำงานของตับหรือไตบกพร่องไม่ควรรับประทาน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ประโยชน์ของน้ำมันตับปลา. https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue011/healthy-eating#:~:text=%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2,%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%94%20%E0%B8%88%E0%B8%B0\. Accessed June 5, 2022

Cod Liver Oil: Are There Health Benefits?. https://www.webmd.com/diet/cod-liver-oil-health-benefits#:~:text=Cod%20liver%20oil%20contains%20vitamin,reduce%20inflammation%20in%20the%20body. Accessed June 5, 2022

Cod liver oil consumption at different periods of life and bone mineral density in old age. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5490077/. Accessed June 5, 2022

Associations between cod liver oil use and symptoms of depression: the Hordaland Health Study. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17184843/. Accessed June 5, 2022

Omega-3 supplementation lowers inflammation and anxiety in medical students: a randomized controlled trial. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21784145/. Accessed June 5, 2022

Cod liver oil: a potential protective supplement for human glaucoma. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3340802/#:~:text=Omega%2D3%20fatty%20acids%20are,for%20the%20treatment%20of%20glaucoma. Accessed June 5, 2022

Inhibition of atherosclerosis by cod-liver oil in a hyperlipidemic swine model. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/3748103/. Accessed June 5, 2022

Cod liver oil (n-3 fatty acids) as an non-steroidal anti-inflammatory drug sparing agent in rheumatoid arthritis. https://academic.oup.com/rheumatology/article/47/5/665/1785806. Accessed June 5, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/07/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

สารอาหารที่ให้พลังงานได้แก่อะไรบ้าง

4 วิตามินผิว ที่ได้จากการรับประทานอาหาร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา